ธุรกิจจีซี’67 ชวนคนไทยเป็น GEN S ใช้ชีวิตแบบ Net Zero
วันที่ 13 พฤษภาคมนี้ “คงกระพัน อินทรแจ้ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี จะเข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนต่อไป ต่อจาก นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.ที่จะครบวาระ 4 ปี วันที่ 12 พฤษภาคม 2567
ก่อนที่จะได้เห็นผลงานในตำแหน่งซีอีโอ ปตท. ในอีก 2 เดือนข้างหน้า เมื่อเร็วๆ นี้ ซีอีโอคงกระพันได้ประกาศทิศทางการดำเนินงานของจีซีในปี 2567 ด้วยกลยุทธ์ที่เข้มข้นส่งต่อผู้บริหารคนต่อไปที่จะได้ทราบในเร็วๆ นี้เช่นกัน
ซีอีโอคงกระพันระบุว่า ปี 2567 ต้องจับตา 2 ปัจจัยเสี่ยงของโลก คือ เศรษฐกิจโลก และจีโอโพลิติก (ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ) เพราะจะมีผลต่อธุรกิจ โดยจีซีได้เตรียมลงทุนปีนี้กว่า 9,000 ล้านบาท
จีซีได้กำหนดทิศทางและทบทวนกลยุทธ์ 3 Steps Plus : Step Change, Step Out, Step Up ที่ดำเนินมาอย่างถูกทางแล้ว ให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น และปรับให้สอดคล้องกับ Industry Landscape ที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบด้วย
Step Change : สร้างรากฐานแข็งแกร่ง ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพ การควบคุมค่าใช้จ่าย และการพัฒนาความร่วมมือในมิติต่างๆ รวมถึงมุ่งเน้นการเติบโตทางธุรกิจที่เน้นตลาด (Market-Focused Business) การเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Products : HVP) มีเป้าหมาย 56% ในปี 2571 และผลิตภัณฑ์นวัตกรรม
Step Out : แสวงหาโอกาสใหม่เพื่อสร้างการเติบโต และดูแลด้านต้นทุนของ allnex พร้อมขยายตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเเละผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน (Bio & Circularity) มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์รีไซเคิล รวมถึง Bio-Refinery โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้สามารถนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องต่างๆ ได้มากมาย ทั้งในอุตสาหกรรมสุขอนามัยส่วนบุคคล อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ฯลฯ
Step Up : สร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ ดำเนินงานด้าน Decarbonization ให้เป็นไปตามเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 รวมถึงมุ่งมั่นรักษาความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ จีซียังวางแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ การหาพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ และ Non-Core Business พร้อมอยู่ระหว่างศึกษาธุรกิจใหม่เกี่ยวกับไฮโดรเจนและคาร์บอน โดยใช้จุดแข็งและความเชี่ยวชาญที่จีซีมีในธุรกิจไฮโดรคาร์บอน สร้างความแตกต่างและผลตอบแทนทางธุรกิจในอนาคต มุ่งสู่เป้าหมายเน็ตซีโร่ที่ได้วางไว้
ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามความร่วมมือศึกษาเทคโนโลยีการพัฒนาโรงงาน ปิโตรเคมีระหว่าง จีซี กับ บริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสทรี เอเชียแปซิฟิก จำกัด หรือ MHI-AP มี 2 เป้าหมายหลัก คือ ศึกษาเพื่อเปรียบเทียบความเป็นไปได้ในการใช้ไฮโดรเจนและแอมโมเนีย เป็นเชื้อเพลิงสำหรับกังหันก๊าซ (Gas Turbine) และเทคโนโลยีการดักจับ จัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ในกระบวนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และศึกษาหาแนวทางการปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพในระบบดักจับ จัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหมาะสมสำหรับกระบวนการผลิตไฮโดรเจน หรือ Steam Methane Reforming (SMR)
ซีอีโอคงกระพันระบุว่า จากการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากลที่ยืนหนึ่งด้านความยั่งยืน ในปี 2567 จีซีจึงต่อยอดแนวคิด “ดีขึ้นเพื่อคุณ ดีขึ้นเพื่อโลก” พร้อมชวนทุกคนมาเป็น “GEN S…Generation Sustainability คนเจนใหม่หัวใจยั่งยืน” สร้างแรงกระเพื่อมการใช้ชีวิตแบบ Net Zero Lifestyles ร่วมกู้โลก
เพราะจากภาวะโลกเดือด ด้วยหลากหลายไอเดียการใช้ชีวิตเพื่อโลกยั่งยืน อาทิ รับประทานอาหารให้หมด ลด Food Waste ปิดน้ำและถอดปลั๊กไฟเมื่อไม่ใช้ การใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ใช้ซ้ำ ใช้อย่างคุ้มค่า หรือช่วยคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพราะความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องของวัย หรือเรื่องของใคร มาร่วมสร้างสรรค์โลกใบนี้ให้ดีกว่าเดิมไปด้วยกันได้
ซีอีโอคงกระพันยังให้ข้อมูลผลการดำเนินงาน ปี 2566 ว่าธุรกิจปิโตรเคมีโดยรวมอยู่ในภาวะอ่อนตัวอย่างต่อเนื่อง จากความกดดันจากปัจจัยทั้งด้านภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ปลายทางของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และการเริ่มดำเนินการของกำลังการผลิตใหม่ในตลาด โดยเฉพาะจากประเทศจีน ส่งให้การดำเนินงานของจีซีในปี 2566 มีรายได้จากการขายรวม 616,635 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 9% จากราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มปิโตรเลียมและปิโตรเคมีปรับลดลงในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ สะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีผลกำไรสุทธิรวม 999 ล้านบาท (0.22 บาท/หุ้น) ด้วยการมุ่งเน้นทำสิ่งที่ควบคุมได้ ดำเนินการมาตรการภายในอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ ผ่านการดำเนินงาน ดังนี้
1.การพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานและลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง จากการดำเนินงานโครงการ MAX, dEX, MTPi, FiT และการลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเพิ่มเติมจากที่ควบคุมในแผนงบประมาณ (OPEX Saving) ซึ่งช่วยเพิ่มผลกำไร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,900 ล้านบาท
2.จับมือกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ยกระดับบริษัท จีซี โลจิสติกส์ โซลูชั่นส์ จำกัด (GCL) บริษัทใน GC Group เป็นบริษัทโลจิสติกส์ครบวงจร เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ โดยการขายหุ้น GCL สัดส่วน 50% ให้กับ WHA คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,640 ล้านบาท มีกำไรพิเศษที่เกี่ยวข้องจากรายการนี้ รวมกำไรจากการตีมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนที่เหลือใน GCL เป็นจำนวน 4,017 ล้านบาท
3.ลดภาระหนี้สินทางการเงิน ด้วยการซื้อหุ้นกู้สกุลเหรียญสหรัฐ โดยมีกำไรจากการซื้อคืนหุ้นกู้ดังกล่าวจำนวน 1,422 ล้านบาท