กยท. จับมือ กนอ. ดูดซับปริมาณผลผลิต เล็งจับมือตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพารา
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมลงนามเอ็มโอยู “การวิจัยพัฒนา การบริการวิชาการ และความเป็นไปได้ของการดำเนินธุรกิจยางพาราและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพในนิคมอุตสาหกรรม” ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง เพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืนสอดคล้องกับแนวทางบริหารด้านยางพารา “อยู่ได้ พอใจ ยั่งยืน” ที่มีนโยบายส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา โดยเฉพาะล้อยาง ซึ่งจะช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตยางออกจากตลาดได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 400,000 ตัน พร้อมส่งเสริมงานด้านการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสนับสนุนสถาบันเกษตรกรให้พัฒนาศักยภาพ สามารถต่อยอดสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ
สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ กยท. และ กนอ.ร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับยางพาราในภาคอุตสาหกรรม ควบคู่กับการจัดการและรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยต่อไป สามารถยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยางพาราให้ดียิ่งขึ้น
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทั้ง 2 หน่วยงานมีความตั้งใจในการผสานศักยภาพองค์ความรู้เฉพาะทาง ทั้งความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยางพาราของ กยท. และด้านการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. ซึ่ง กยท. พร้อมร่วมสนับสนุน ส่งเสริมการศึกษา วิจัย พัฒนา การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยาง เน้นการแปรรูปจากผลผลิตยางที่มาจากเกษตรกรชาวสวนยาง และสนับสนุนการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมด้านยางพารา ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ในพื้นที่ของ กยท. และ กนอ. รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมด้านยางพารา เพื่อให้เกิดการดำเนินธุรกิจยางพาราครบวงจรทั้งกระบวนการ ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมยางจะเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนา เพิ่มรายได้ และสร้างความยั่งยืนทางอาชีพให้กับชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร และเพื่อประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้น
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า แนวโน้มของอุตสาหกรรมยางพาราโดยรวมปี 2567-68 คาดว่ายังมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องทั้งด้านผลผลิตและความต้องการใช้ จากภาวะฟื้นตัวของอุตสาหกรรมทั้งตลาดในและต่างประเทศ อาทิ กลุ่มยานยนต์ ถุงมือยาง อุปกรณ์การแพทย์ โครงสร้างพื้นฐานที่มีแนวโน้มในการใช้ยางในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการของภาครัฐในการรักษาเสถียรภาพราคายาง
“การลงนามเอ็มโอยูครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ กนอ. และ กยท. จะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพารา ในระยะต่อไป รวมถึงการดำเนินธุรกิจยางพาราและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพในนิคมอุตสาหกรรม ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนการลงทุนในอุตสาหกรรมยางพารา และในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้ประสบความสำเร็จ และบรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม” นายวีริศ กล่าว