‘สุริยะ’ กางภารกิจดันลงทุน’67 แก้ทุกข์ชาวบ้าน-แลนด์บริดจ์ต้องผงาด!!

ไม่ว่าใครนั่งคุมกระทรวงหูกวาง หรือกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีท่านนั้นต้องแข็งแกร่งอย่างมากๆ

ปัจจุบันได้รัฐมนตรีมือเก๋า “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” มาคุม หลังเคยนั่งบริหารช่วงปี 2545-2548

เพราะกระทรวงนี้ภารกิจหนักล้นบ่า ทั้งการวางโครงสร้างคมนาคมไทยแต่ละปีหลายแสนล้าน ยังมีภารกิจร้อนแทบจะรายวัน เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้คนไทย ทั้งทางถนน เครื่องบิน เรือ ตลอดจนรถไฟ

โดยเฉพาะ ปมก่อสร้างถนนสะพาน 2 ที่ใช้เวลายาวนานจนชีวิตและการเดินทางของประชาชน จนบางฝ่ายระบุกระทบต่อเดินทางท่องเที่ยว จนรัฐมนตรีสุริยะ ต้องเรียกผู้รับเหมาก่อสร้างหารือ พร้อมให้คำมั่นทุกโครงการต้องจบกลางปี 2568

Advertisement

อีกประเด็นคือ ตั๋วเครื่องบินแพงหูฉี่ รัฐมนตรีสุริยะไม่รอช้า สั่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หารือด่วนกับ 6 สายการบิน จนมีการเพิ่มเที่ยวบิน ช่วงสงกรานต์ 104 เที่ยวบินจำนวนที่นั่งขายเพิ่มขึ้น 17,874 ที่นั่ง และราคาตั๋วบางส่วนลดลงถึง 20%

นอกจากนี้ ยังมีภารกิจพัฒนาชาติ ผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ หรือ โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) มูลค่า 1 ล้านล้านบาท ที่นอกจากต้องเดินหน้าชักชวนต่างชาติรายใหญ่ๆ ของโลกเข้าลงทุน ยังต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนด้วย

ล่าสุด ทริปเยือนประเทศฝรั่งเศส ร่วมกับ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เจ้ากระทรวงคมนาคมยังลุยหารือกับนักลงทุนฝรั่งเศส เพื่อเชิญชวนให้มาลงทุนแลนด์บริดจ์ หลังจากก่อนหน้านี้รุดหารือกับนักลงทุนในหลายประเทศแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีสุริยะ ยังมีอีกภารกิจหลักที่ต้องทำให้สำเร็จ คือ พัฒนาด้านคมนาคมของประเทศ ที่แม้จะเป็นงานรูทีนที่ต้องทำตามแผนที่วางไว้ แต่เหล่านี้คือ รากฐานความเจริญของประเทศ ภายใต้นโยบาย คมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน ปี 2567 และปี 2568

รัฐมนตรีสุริยะ ระบุว่า ภาพรวมโครงการลงทุนด้านคมนาคม ในปี 2567 มีโครงการที่จะเปิดให้บริการ จำนวน 64 โครงการ และมีโครงการใหม่อยู่ในแผนงานเร่งด่วนที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 31 โครงการ มูลค่ารวม 389,750 ล้านบาท แบ่งตามรูปแบบการขนส่ง ดังนี้

มิติการขนส่งทางถนน สำหรับโครงการที่จะเปิดให้บริการ ปี 2567 จำนวน 18 โครงการ เช่น มอเตอร์เวย์ M81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี/มอเตอร์เวย์ M6 สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา/สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) จ.บึงกาฬ เป็นต้น

และโครงการใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 13 โครงการ เช่น มอเตอร์เวย์ M9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ตอนบางบัวทอง-บางปะอิน/ทางพิเศษฉลองรัช ส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา)/มอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยาย M7 เชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา/ทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ตอนกะทู้-ป่าตอง

มิติการขนส่งทางบก โครงการที่จะเปิดให้บริการ ปี 2567 จำนวน 11 โครงการ เช่น พัฒนาระบบการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ (Feeder) ขบ. จำนวน 29 เส้นทาง/พัฒนาระบบการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ (Feeder) บขส. จำนวน 21 เส้นทาง/การศึกษาและจัดทำแผนการพัฒนาจุดตรวจความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ (มาตรการ Checking Point) เป็นต้น

และโครงการใหม่ที่จะเริ่มในปี 2567 จำนวน 8 โครงการ เช่น การผลักดันรถโดยสารพลังงานสะอาด (ขบ./ขสมก./บขส.) เป็นต้น และโครงการใหม่ในปี 2568 จำนวน 7 โครงการ เช่น โครงการจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้าของ บขส. จำนวน 75 คัน เป็นต้น

มิติการขนส่งทางราง โครงการที่จะเปิดให้บริการ ปี 2567 จำนวน 9 โครงการ เช่น รถไฟทางคู่ ช่วง นครปฐม-หัวหิน/ช่วง หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์/ช่วง ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร เป็นต้น และโครงการใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 6 โครงการ เช่น รถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มธ. ศูนย์รังสิต/รถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศาลาย /รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช/รถไฟทางคู่ ช่วง ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี เป็นต้น

มิติการขนส่งทางน้ำ โครงการที่จะเปิดให้บริการ ปี 2567 จำนวน 8 โครงการ เช่น พัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา (Smart Pier) จำนวน 4 ท่า ได้แก่ ท่าเรือพระราม 7 ท่าเรือปากเกร็ด จ.นนทบุรี ท่าเรือพระปิ่นเกล้า ท่าเรือพระราม 5 เป็นต้น และโครงการใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 2 โครงการ เช่น พัฒนาท่าเรือภูมิภาคเชื่อมโยงกระบี่-พังงา-ภูเก็ต (วงแหวนอันดามัน) ได้แก่ ท่าเรือมาเนาะห์ และท่าเรือช่องหลาด จ.พังงา เป็นต้น

มิติการขนส่งทางอากาศ โครงการที่จะเปิดให้บริการ ปี 2567 จำนวน 18 โครงการ เช่น ก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ/ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานตรัง/ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 และ ปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารหลัง 1 และ 2 พร้อมอาคารจอดรถยนต์ ท่าอากาศยานกระบี่ เป็นต้น และมีโครงการใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 2 โครงการ เช่น ก่อสร้างส่วนต่อขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้านทิศตะวันออก เป็นต้น

รัฐมนตรีสุริยะ ระบุด้วยว่า สำหรับแผนดำเนินงานโครงการใหม่ปี 2568 มีจำนวน 57 โครงการ มูลค่ารวม 263,016 ล้านบาท โดยในปี 2568 กระทรวงคมนาคมมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็กต์) ที่มีมูลค่าลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 13 โครงการ และมีมูลค่าลงทุนรวม 254,183 ล้านบาท

อาทิ เร่งลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงตามกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน (Timeline) โดยเร่งลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2565-2569) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,479 กิโลเมตร

พร้อมเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ให้แล้วเสร็จตามแผน!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image