มุมมองจัดสรรก๊าซธรรมชาติรูปแบบใหม่ ใครได้ใครเสีย!!

ภาพจาก Krungthai COMPASS

มุมมองจัดสรรก๊าซธรรมชาติรูปแบบใหม่ ใครได้ใครเสีย!!

การปรับสูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติในพูลก๊าซใหม่ ที่รัฐบาลเริ่มเดินหน้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ยังคงมีการถกเถียงถึงผลดีผลเสียต่อคนไทย ทั้งภาคประชาชนทั้งประเทศ ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

โดยเป้าหมายของรัฐบาลคือ การลดต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติลง ส่งผลให้ค่าไฟลดลง แต่มุมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมองว่า นี่คือการทุบอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนประเทศมาเกือบ 40 ปี เพราะต้นทุนพุ่ง การแข่งขันของไทยจะลดลงด้วย

ประเด็นนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้เปลี่ยนวิธีการจัดสรรก๊าซธรรมชาติใหม่ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567

Advertisement

โดยจะให้สิทธิพิเศษในการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยให้เพียงผู้ผลิตก๊าซแอลพีจีก่อนเท่านั้น และหลังจากนั้นจึงจะจัดสรรก๊าซธรรมชาติส่วนเหลือจากอ่าวไทย รวมทั้งก๊าซธรรมชาติและแอลเอ็นจีที่รับซื้อจากแหล่งอื่นๆ เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในราคาก๊าซธรรมชาติถัวเฉลี่ยแบบเดียวกับการจัดสรรก๊าซธรรมชาติในรูปแบบเดิม

นอกจากนั้น วิธีการจัดสรรก๊าซธรรมชาติดังกล่าวทำให้ธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติต้องซื้อก๊าซธรรมชาติในราคาก๊าซธรรมชาติแบบพูล ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่ขายให้ผู้ผลิตแอลพีจี ซึ่งยังซื้อในราคาที่อ้างอิงจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย

อย่างไรก็ดี แนวทางการจัดสรรก๊าซธรรมชาติอาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เตรียมว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการศึกษาโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติของประเทศที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 9 เดือน หรือราวไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2567

Advertisement

จากนโยบายดังกล่าวส่งผลให้เมื่อเร็วๆ นี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ดร.คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน รวมตัวทำหนังสือเปิดผนึกเกี่ยวกับความเสียหายของนโยบายพลังงานที่เป็นมาและกำลังจะเป็นไปในรัฐบาลชุดนี้ ส่งถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

หนังสือเปิดผนึกระบุถึงความเสียหายจากนโยบายพลังงานของรัฐบาลชุดนี้ พร้อมเรียกร้องแก้ปัญหา 5 ด้าน โดยหนึ่งใน 5 ข้อ มีเรื่องการปรับสูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติในพูลก๊าซใหม่ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการปรับสูตรดังกล่าว ที่เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 และให้กลับไปใช้สูตรเดิม

ภาพจาก Krungthai COMPASS

เพราะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของปิโตรเคมีทั้งระบบพุ่ง 30-40% กระทบอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและห่วงโซ่อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เวลาพัฒนามา 39 ปี พร้อมตั้งข้อสังเกตข้อเสนอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ปรับสูตร สุ่มเสี่ยงใช้อำนาจเกินขอบเขตกฎหมาย

ล่าสุด นายพงษ์ประภา นภาพฤกษ์ชาติ นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS มีความเห็นว่า การเปลี่ยนวิธีจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในช่วงมกราคม 2567 คาดว่าจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงจาก 4.67 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า ในปี 2566 เป็น 4.14 และ 4.11 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า ในปี 2567-68 ตามราคาก๊าซธรรมชาติแบบพูล ที่คาดว่าจะลดลงจาก 381 บาทต่อล้านลูกบาศก์ฟุต ในปี 2566 เป็น 296 และ 277 บาทต่อล้านลูกบาศก์ฟุต ในปี 2567-68 ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลประกอบการภาคธุรกิจและครัวเรือนของไทย

โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า อัตรากำไรสุทธิของภาคธุรกิจโดยรวมของไทยจะเพิ่มขึ้น 0.24% หากค่าไฟฟ้าในปี 2567 เป็นไปตามการประเมินในข้างต้น ส่วนอัตรากำไรสุทธิของภาคธุรกิจที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการดำเนินธุรกิจโดยตรงของไทย จะเพิ่มขึ้นราว 0.18% หากราคาก๊าซธรรมชาติในปี 2567 ลดลง ตามแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติแบบพูล โดยการประเมินนี้อยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่ารายได้และค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ ไม่เปลี่ยนแปลงในช่วงปี 2566-68

อย่างไรก็ดี การจัดสรรก๊าซธรรมชาติในรูปแบบใหม่อาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากธุรกิจนี้ต้องซื้อก๊าซธรรมชาติในราคาก๊าซธรรมชาติแบบพูล ซึ่งสูงกว่าราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงของการจัดสรรก๊าซธรรมชาติในรูปแบบเก่า

แม้เป็นมุมมองที่ต่างกัน แต่ต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ ประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศ!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image