เล็งเพิ่มลงทุนอีอีซี5ปี 2 ล้านล้านบาท ชง’บิ๊กตู่’ตั้งเขตส่งเสริมพิเศษอู่ตะเภานำร่อง

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กรรมการบริหารอีอีซี) กล่าวว่า คณะทำงานอยู่ระหว่างทบทวนวงเงินลงทุนโครงการอีอีซีช่วง 5 ปี (2560-2564) จะเพิ่มเป็น 2 ล้านล้านบาท จากเดิมประเมินไว้ที่ 1.5 ล้านล้านบาทที่มาจากรัฐและเอกชน เนื่องจากพบว่าวงเงินที่คาดไว้เดิมอาจไม่เพียงพอ เพราะจะมีการลงทุนทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ พื้นที่อู่ตะเภาที่คาดว่าจะมีการลงทุนจากอุตสาหกรรมไฮเทคที่เกี่ยวข้องหลักแสนล้านบาท รวมทั้งการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นที่มีมากกว่าที่ประกาศช่วงแรก อาทิ อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต คาดว่ากรอบลงทุนใหม่จะมีการพิจารณาในเร็วๆ นี้อีกครั้ง

นายอุตตมกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในการประชุมกรรมการบริหารครั้งนี้ มีมติเสนอต่อที่ประชุมกรรมการนโยบายอีอีซี มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมเดือนมีนาคมนี้ ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ให้มีการใช้อำนาจตามมาตรา44 จัดตั้ง เขตส่งเสริมพิเศษอู่ตะเภา ขึ้นเป็นที่แรกในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้สามารถกำหนดสิทธิประโยชน์ขั้นสูงสุดให้กับนักลงทุนที่ภาครัฐจะชวนให้มาลงทุน อาทิ สิทธิประโยชน์ทางภาษี 15 ปีจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน (กองทุน 10,000 ล้านบาท) โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีการลงทุน คือศูนย์ซ่อมอากาศยานเพิ่มเติม อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรการบิน ส่วนแผนการลงทุนในส่วนของสนามบินนั้น กลางปีนี้จะเริ่มอาคารผู้โดยสารที่ 2 (ขนาด 3 คนต่อปี) และเริ่มลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานกับบริษัทการบินไทยและพันธมิตร

ส่วนความคืบหน้าการลงทุนรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก ที่ประชุมได้รับรายงานได้วางแผนให้รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกสามารถ เชื่อมต่อได้ทั้ง 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา อย่างไร้รอยต่อ โดยจะศึกษาเพิ่มเติมและเปิดให้เอกชนร่วมทุนปลายปีนี้ ขณะที่ความคืบหน้าท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 เพื่อรองรับการส่งออกรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น โดยการขนส่งจะเชื่อมโยงกับรถไฟมากขึ้น และจะมีการเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image