อสังหาต่ำ 3 ล้านยังวิกฤต แนะรัฐจัดซอฟต์โลนกระตุ้น ก่อนซึมยาว คาดปี’67 สต๊อกพุ่ง 1.29 ล.ล้าน

อสังหาต่ำ 3 ล้านยังวิกฤต แนะรัฐจัดซอฟต์โลนกระตุ้น ก่อนตลาดซึมยาว คาดปี’67 สต๊อกพุ่ง 1.29 ล้านล้าน

วันที่ 29 มีนาคม นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2567 มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นเล็กน้อย แต่ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจไทยและโลกที่ชะลอตัวลง ,การยกเลิกมาตรการผ่อนปรน LTV ,ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงมีอัตราส่วนที่สูงกว่า90% ของจีดีพี ที่ส่งผลต่อความสามารถซื้อที่อยู่อาศัยและขอสินเชื่อ ทำให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้น้อยลงเนื่องจากสถาบันการเงินมีเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น คาดว่าอาจส่งผลกระทบต่อยอดการโอนกรรมสิทธิ์ได้

นายวิชัยกล่าวว่า แต่หากภาครัฐออกมาตรการกระตุ้น เช่น อัตราดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลนไม่เกิน 3% ผ่านแบงก์รัฐ หรือให้นำรายได้พิเศษมาประกอบการขออนุมัติสินเชื่อได้ หรือผ่อนเกณฑ์LTV ได้ จะเพิ่มความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยได้ เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาเรื่องกำลังซื้อและกู้แบงก์ไม่ผ่านสูง โดยเฉพาะกลุ่มราคาต่ำ 3 ล้านบาท ซึ่งในปี 2566 มีหน่วยเหลือขายถึง 50% ของหน่วยเหลือขายรวม 209,894 หน่วย ขณะที่กลุ่มราคาเกิน 10 ล้านบาท ยังต้องจับตาหลังผู้ประกอบการหันมาพัฒนามากขึ้น ทำให้ซัพพลายเริ่มมีมากขึ้นในตลาด

“ช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2567 ยังไม่มีปัจจัยใหม่มาเป็นกระตุ้น ทำให้ตลาดยังซึมต่อเนื่องจากปี 2566 จึงดูไม่สดใส รอดูครึ่งปีหลัง แต่ถ้ารัฐไม่มีมาตรการมาช่วยจะทำให้ตลาดยิ่งซึมไปเรื่อยๆ ดังนั้นรัฐควรต้องมีมาตรการออกมาไม่เกินไตรมาส2 นี้ ถ้าออกมาได้จะทำให้ตลาดฟื้นตัวได้เร็วในไตรมาส3เป็นต้นไป ถ้าช้าไปจากนี้ จะฉุดให้ตลาดอาจจะไม่กลับมาฟื้นตัวได้ ”นายวิชัยกล่าว

Advertisement

นายวิชัยกล่าวว่า ทั้งนี้คาดว่าในปี 2567 มีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่จะเข้ามาในตลาด 103,019 หน่วย เพิ่มขึ้น7% มูลค่ารวม 651,377 ล้านบาทแบ่งเป็น บ้านจัดสรร 50,882  หน่วย มูลค่า 425,415 ล้านบาท อาคารชุด 52,137 หน่วย มูลค่า 225,965 ล้านบาท และคาดมีหน่วยขายได้ใหม่ 91,869 หน่วย เพิ่มขึ้น 24.6% มูลค่า 486,084 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 52,647 หน่วย มูลค่า 333,868 ล้านบาท อาคารชุด 39,222 หน่วย มูลค่า 152,216 ล้านบาท

“การที่ยอดขายของอาคารชุดอาจจะต่ำกว่ายอดเปิดตัวใหม่ คาดอาจส่งผลให้ภาพรวมโครงการที่อยู่อาศัยเหลือขาย 232,216 หน่วย มูลค่ากว่า 1.29 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% เทียบกับปี 2566 เป็นบ้านจัดสรร 135,654 หน่วย มูลค่า 866,755 ล้านบาท และอาคารชุด 96,562 หน่วย มูลค่า 429,621 ล้านบาท โดยอัตราดูดซับลดลงอยู่ที่ 2.4% เพราะอุปทานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอัตราดูดซับการขายขออาคารชุดที่อาจมีการปรับลดลงมากกว่าบ้านจัดสรร”นายวิชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image