ส.ภัตตาคาร ผุดฟู้ดพาวเวอร์ คู่ขนานซอฟต์พาวเวอร์ ดันอาหารไทยดังกระหึ่มทั่วโลก

ส.ภัตตาคาร ผุดฟู้ดพาวเวอร์ คู่ขนานซอฟต์พาวเวอร์ ดันอาหารไทยดังกระหึ่มทั่วโลก

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยกับ “มติชน” ว่า สมาคมภัตตาคาร ผู้ประกอบการร้านอาหารและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เตรียมจัดโครงการฟู้ดพาวเวอร์ (FOOD POWER) เพื่อส่งเสริมและผลักดันการรับรู้เมนูอาหารและผู้ประกอบการร้านอาหารของไทยทั่วเมืองไทย ซึ่งในโครงการจะมีการจัดประกวดและคัดเลือกเมนูอาหารที่จะเป็นจุดขายและจูงใจนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เมื่อมาเมืองไทยต้องสั่งรับประทาน หรือเป็นเมนูอาหารคิดถึง ไม่ว่าจะไปร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ก็จะสั่งรับประทาน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ในกลุ่มอาหาร ที่รัฐบาลกำลังผลักดัน

นางฐนิวรรณ กล่าวต่อว่า สมาคมและกลุ่มร้านอาหาร จะมีการประชุมหารือเพื่อลงในรายละเอียดครั้งที่สองในเดือนเมษายนนี้ หลังจากเทศกาลมหาสงกรานต์ผ่านไป เบื้องต้นจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอาหารและร้านอาหาร ในแต่ละภูมิภาค เสนอเมนูและวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหาร ซึ่งเป็นเมนูอาหารท้องถิ่น และสามารถหาบริโภคได้ทั่วไป ไม่เจาะจงว่าต้องไปที่ร้านนั้นเท่านั้น หรือหาทานได้แค่ท้องถิ่น สำหรับมาตรฐาน สมาคมฯจะร่วมกับหอการค้าไทย ในการจัดทำมาตรฐานร้านอาหารเพื่อการท่องเที่ยว มีหลักเกณฑ์คัดเลือก อาทิ เมนูอาหารอร่อย วัตถุดิบหาได้ในท้องถิ่น สถานที่อำนวยความสะดวก สะอาด ห้องน้ำพร้อม เป็นต้น

“มีคำถามว่าตอนนี้เรา ก็มีหน่วยงานรัฐและองค์กรที่คัดเลือกเมนูและร้านอาหารในชื่อโครงการต่างๆ มากแล้ว แต่ก็มีร้านอาหารส่วนใหญ่ ยังมองว่าเป็นการคัดเลือกเข้าโครงการของหน่วยงานนั้นๆ มีการจำนวน มีข้อจำกัด แต่ละองค์กรมีร้านค้าหรือเมนูไม่กี่ร้อยหรือพันกว่าร้าน เทียบกับร้านอาหารในไทยเปิดกันทั่วไป ทั้งอยู่ในอาคาร นอกอาคาร ในตึกแถว ในห้าง หรือ ริมถนนตามชุมชน กว่า 1 แสนร้านค้า และสตรีทฟู้ดส์ที่เกิดจากคนรุ่นใหม่อีกหลายหมื่นราย อยากให้มีเมนูขึ้นชื่อและเป็นที่นิยมของต่างชาติ ก่อนหน้าเราเคยเสนอใบกะเพรา เป็นวัตถุดิบหลัก จนผัดกะเพรา เป็นที่รู้จักมากขึ้น

Advertisement

เหมือนอย่างต้มยำกุ้ง หรือผัดไทย ส่วนตัวกำลังมองการใช้วัตถุดิบหลักอย่างไก่ และกุ้ง เป็นวัตถุดิบหลักในการคิดเมนูระดับชาติต่อไป เพราะไม่แค่คนมาไทยจะสั่งเมนูจากไก่หรือกุ้ง ยังเป็นส่งเสริมส่งออกวัตถุดิบไก่และกุ้ง ไปทั่วโลกด้วย ต่อไปก็จะต่อยอดเป็นสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ประเด็นคือ เมื่อเมนูที่ได้คัดเลือก สามารถปรุงแต่งขายกันทั่วไปแล้ว นักท่องเที่ยวหารับประทานได้ทั่วไป และในราคาปกติทั่วไปด้วย จุดประสงค์เราต้องการให้เป็นเมนูที่โด่งดัง รับรู้เป็นที่นิมของทั่วโลก โดยที่แต่ละภาคจะพัฒนาสูตรเฉพาะของตนเอง เช่น ไก่ย่างไทยพิเศษกว่าประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างไร เป็นต้น” นางฐนิวรรณ กล่าว

นางฐนิวรรณ กล่าวถึงกำลังใช้จ่ายในร้านอาหารว่า สงกรานต์เดือนเมษยนนี้ จะเป็นอีกช่วงที่จะสร้างโอกาสการขายและเพิ่มรายได้กว่าปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยภาพรวมการเข้าร้านอาหารในปี 2567 นี้ฟื้นตัวแล้วอัตราประมาณ 90% ดีกว่าปีก่อนที่ฟื้นตัวอัตรา 75-80% ที่ยังไม่เต็ม 100% เท่าปีก่อน 2562 ก่อนเกิดโควิด เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นเท่าเดิม ปีนั้นมีถึง 40 ล้านคน ดังนั้นการฟื้นระดับ 90% ถือว่าดีขึ้นมากแล้ว

นางฐนิวรรณ กล่าวต่อว่า บรรยากาศสงกรานต์ปี 2567 นี้ มั่นใจได้ว่าจะคักคักกว่าสงกรานต์หลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งจากมหาสงกรานต์ 21 วัน ซึ่งในกรุงเทพฯมักมีคนน้อย งานมหาสงกรานต์ภายใต้ซอฟต์พาวเวอร์ ที่กำหนดเปิดงานใหญ่ช่วงวันที่ 11-16 เมษายน ที่ถนนราชดำเนิน สนามหลวง จะดึงคนไทยและต่างชาติ เที่ยวในไทยมากขึ้น พร้อมกับกิจกรรมหัวเมืองใหญ่จะสร้างบรรยากาศสงกรานต์ไทยปีนี้คึกคักได้มาก สะท้อนจากร้านอาหารทั่วไปมักปิดทำการและเดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งเตรียมเปิดจำหน่ายในช่วงสงกรานต์

Advertisement

“ข้อกังวลของธุรกิจร้านอาหาร ไม่แค่ลุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาเท่าเดิมในแต่ละเดือน ยังต้องติดตามผลกระทบจากต้นทุนสูง หลังนโยบายให้ปรับค่าจ้างแรงงานรายวัน ราคาดีเซล หรือการสิ้นสุดของมาตรการช่วยค่าไฟ ค่าน้ำ ของภาครัฐ ซึ่งมีผลตรงต่อเงินในกระเป๋าประชาชน และอารมณ์ที่ออกมาร้านอาหารนอกบ้าน ตอนนี้การมีมาตรการกระตุ้นใช้จ่าย ทั้งการลดค่าใช้จ่ายหรือการเติมเงินเข้ากระเป๋า จะเป็นแรงส่งต่อการใช้จ่ายต่อเนื่อง ตอนนี้ทั้งคนซื้อคนขายก็ไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร การลงทุนระดับฐานรากก็ยังลังเลกว่าในอดีตมาก เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดึงความเชื่อมั่นต่ออนาคตให้มากขึ้น” นางฐนิวรรณ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image