ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 ลูกหนี้บางคนอาจจะได้รับข้อความแจ้งเตือนจากเจ้าหนี้ ทั้งจากกลุ่มสถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ได้ดำเนินการตามมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง ซึ่งอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
รายละเอียดของหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เน้นช่วยเหลือลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt: PD) จะได้รับความช่วยเหลือปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้นและลดภาระดอกเบี้ย
โดยลูกหนี้ที่เข้าข่ายเรื้อรัง คือ ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียน (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล และบัตรเครดิต) ที่ไม่เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) และชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นที่ชำระมาทั้งหมดเป็นระยะเวลานาน
แบ่งลูกหนี้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 1.ลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาหนี้เรื้อรัง (general PD) คือ ลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมมาแล้ว 3 ปี แต่ไม่ถึง 5 ปี โดยลูกหนี้จะได้รับการแจ้งเตือน เพื่อกระตุกพฤติกรรมให้จ่ายชำระหนีเพิ่มเติมและพิจารณาขอความช่วยเหลือให้สามารถปิดจบหนี้เร็วขึ้นได้
2.ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (severe PD) คือ ลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวม มาแล้ว 5 ปี และมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท สำหรับลูกหนี้สถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน หรือน้อยกว่า 10,000 บาท สำหรับลูกหนี้นอนแบงก์
โดยลูกหนี้จะได้รับการแจ้งเตือน และสมัครใจเข้าร่วมมาตรการปิดจบหนี้เรื้อรัง (opt-in) ด้วยการเปลี่ยนประเภทสินเชื่อเป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวด (installment Loan) ให้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่เกิน 15% ต่อปี
หลักเกณฑ์นี้ อรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธปท. มาตรการปิดจบหนี้เรื้อรังจะเน้นช่วยลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียนที่จ่ายขั้นต่ำมานาน ซึ่งมีความตั้งใจจะปิดจบหนี้ และสมัครใจในการเข้าร่วมมาตรการ สำหรับลูกหนี้กลุ่มอื่นๆ ที่มีปัญหาในการชำระหนี้ สามารถติดต่อเจ้าหนี้เพื่อขอรับความช่วยเหลือ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้เกณฑ์ Responsible Lending หรือแนวทางอื่นๆ ภายใต้การแก้หนี้อย่างยั่งยืนของ ธปท.
อรมนต์ ระบุด้วยว่า ธปท.จะกำกับดูแลผู้ให้บริการอย่างใกล้ชิด ติดตามและผลักดันให้ผู้ให้บริการปฏิบัติตามเกณฑ์ Responsible Lending อย่างจริงจัง เพื่อให้มั่นใจว่าลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือที่ทันการณ์ เหมาะสม และได้รับบริการที่เป็นธรรม โดยในเดือนมีนาคม 2567 จะเข้าตรวจสอบปูพรมผู้ให้บริการผ่านการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง อาทิ สุ่มตรวจสอบการปรับโครงสร้างหนี้ ว่าผู้ให้บริการได้เข้าช่วยเหลือแก้หนี้จริง รวมถึงคุณภาพของการให้ความช่วยเหลือ ลูกหนี้ รวมทั้งให้ข้อมูลการปรับโครงสร้างหนี้อย่างครบถ้วน ตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการปิดจบหนี้เรื้อรัง ทั้งเรื่องการแจ้งเตือนลูกหนี้ และติดตามตัวเลขการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรังต่อเนื่อง และตรวจสอบความถูกต้องของการคิดค่าธรรมเนียม อาทิ ห้ามคิดค่าปรับไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด ทั้งนี้ หาก ธปท.ตรวจสอบพบประเด็นสำคัญ จะสั่งการให้ผู้ให้บริการแก้ไขทันที และพิจารณาบทลงโทษที่เหมาะสมต่อไป
ด้าน อธิป ศิลป์พจีการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารธุรกิจกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด มองว่า มาตรการแก้หนี้เรื้อรัง โดยภาพรวมลูกค้าของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ที่เป็นหนี้เรื้อรังอยู่ที่ราว 7% แม้จะเป็นจำนวนที่ไม่สูงมาก แต่ต้องเฝ้าระวัง เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ดี และชำระเงินตรงต่อเวลา ซึ่งมีพฤติกรรมการจ่ายขั้นต่ำต่อเนื่อง และยังไม่มีสถานะผ่อนชำระที่ไม่ดี
อย่างไรก็ตาม คาดว่าลูกค้ากลุ่มหนี้เรื้อรังจะเข้าร่วมมาตรการไม่ถึง 10% เพราะหากย้อนดูโครงการช่วยเหลือเมื่อช่วงโควิด กรุงศรี คอนซูมเมอร์ มีโครงการรีไฟแนนซ์ที่ช่วยลดอัตราดอกเบี้ย และเกณฑ์ที่ ธปท.ทำก็นำมาตรการดังกล่าวมาปรับใช้ด้วย
“ณ ตอนนั้นมีคนเข้าร่วมโครงการไม่ถึง 10% แม้อัตราดอกเบี้ยลดลง แต่ความต้องการของคนคือการเข้าถึงวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อนำไปใช้ในยามฉุกเฉินมากกว่า แต่ถ้ามีคนที่ตั้งใจจะไม่ใช้บริการแล้วอาจจะเลือกเข้ามาตรการเพื่อปิดบัญชีที่เป็นหนี้ก็ได้” อธิประบุ
ขณะที่ข้อมูลจาก วิจัยจรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (จำกัด) มหาชน ชี้ว่า ธปท.ประเมินมีลูกหนี้เข้าข่ายเรื้อรังอยู่ประมาณ 6 แสนบัญชี เฉลี่ยมูลหนี้บัญชีละ 10,000-20,000 บาท จะมีมูลหนี้ที่เข้ามาตรการดังกล่าวประมาณ 12,000-18,000 ล้านบาท ขณะที่การแก้ไขหนี้นอกระบบทั่วประเทศ กระทรวงมหาดไทยรายงานข้อมูลล่าสุดกลางเดือนมีนาคม มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้แล้ว 33,627 ราย สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 21,978 ราย มูลหนี้ลดลง 899 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยระบุว่า แม้มีความคืบหน้าและความพยายามในการแก้ปัญหาหนี้ แต่หนี้ครัวเรือนโดยรวมทั้งประเทศยังอยู่ในระดับสูงกว่า 16 ล้านล้านบาท หรือ 90.9% ของจีดีพี และในหนี้ครัวเรือนมีสัดส่วนถึง 59% เป็นสินเชื่อที่อาจไม่สร้างรายได้ในอนาคต อาทิ สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อการเกษตร บัตรเครดิต ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต
ศูนย์วิจัยระบุว่า สำหรับข้อมูลจากเครดิตบูโรชี้ว่าหนี้เสียของหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 1.05 ล้านล้านบาท และเป็นหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน (Special Mention: SM) อีก 0.6 แสนล้านบาท ในระยะต่อไปการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจำเป็นต้องใช้เวลาและอาจมีมาตรการด้านอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะมาตรการที่จะช่วยสร้างเสริมรายได้ให้แก่ลูกหนี้เพื่อให้มีความสามารถในการชำระหนี้ได้เพิ่มมากขึ้น
ผลตอบรับจากนโยบายนี้จะกระหึ่มหรือเงียบ รอลุ้นกัน!!