‘ทุนใหญ่’ ค้าปลีก พลิกเกมสู้ ผุดแฟรนไชส์-ไซซ์จิ๋วบุกชุมชน

‘ทุนใหญ่’ค้าปลีก พลิกเกมสู้ ผุดแฟรนไชส์-ไซซ์จิ๋วบุกชุมชน

สมรภูมิค้าปลีกสมัยใหม่หรือโมเดิร์นเทรด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค้าปลีกค้าส่ง มีมูลค่า 2.8 ล้านล้านบาทในปี 2566 ยิ่งนานวัน การแข่งขันเพิ่มทีวีคูณ

เพราะสนามรบ เป็นการต่อกรของผู้ประกอบการใต้ลมปีกนายทุนใหญ่ ที่สร้างอาณาจักรค้าปลีกตั้งแต่ไซซ์ใหญ่ไล่มาถึงไซซ์จิ๋ว ขณะเดียวกันสยายปีกจากเมืองใหญ่เข้าไปสู่ย่านชุมชนมากขึ้น

จากบทวิเคราะห์น่าสนใจจากศูนย์วิจัยกรุงศรี ระบุว่า ค้าปลีกสมัยใหม่ ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการเป็นนายทุนรายใหญ่ มีฐานะกิจการมั่นคง มีศักยภาพและความสามารถในการสร้างรายได้ ซึ่งเป็นผลจากความได้เปรียบด้านขนาด เงินทุน เครือข่ายสาขา และมีการขยายธุรกิจต่อเนื่องหลายรูปแบบ ไม่ว่ากลุ่มเซ็นทรัล กลุ่ม ซี.พี. กลุ่มทีซีซี และกลุ่มเดอะมอลล์ โดยมีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

ทำให้ปี 2566 มีมากกว่า 20,000 สาขา ซึ่งกว่า 90% เป็นสาขาของร้านสะดวกซื้อ

ด้านการแข่งขันของธุรกิจรุนแรงขึ้น จากจำนวนสาขาของกลุ่มค้าปลีกเชนสโตร์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาทิ เซเว่นอีเลฟเว่น ขยายสาขาปีละ 700 สาขา โดยปี 2566 เพิ่มขึ้น 707 แห่ง มีสาขาทั้งสิ้น 14,545 แห่ง และเน้นร้านสแตนด์อโลนขนาดใหญ่

ขณะที่ โลตัส โกเฟรช เปิดปีละ 120-150 สาขา ส่วนซีเจมอร์ เปิด 250 สาขา และคู่แข่งต่างเซ็กเมนต์ เช่น บิ๊กซี มินิ เปิดปีละ 200-300 สาขา ท็อปเดลี่ เปิดปีละ 8-10 สาขา ด้านฟู้ดแลนด์ ขยายโมเดลธุรกิจสู่ร้านสะดวกซื้อ หรือ Foodland Grocerant เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดในรูปแบบร้านค้าขนาดเล็ก ที่ขยายสาขาเข้าใกล้ชุมชนและหมู่บ้านมากขึ้น

Advertisement

ยังมีคู่แข่งร้านค้าโชห่วยที่ปรับรูปแบบสู่โลว์คอสต์ คอนวีเนียนสโตร์ รองรับลูกค้าชุมชนระดับตำบลและหมู่บ้าน เช่น ร้านถูกดีมีมาตรฐาน ของคาราบาวกรุ๊ป คาดจะมีสาขา 8,000 แห่ง ร้านค้าโดนใจ เครือบิ๊กซี คาดมีสาขา 6,000 แห่ง ร้านนี้ขายดีของกลุ่มโลตัส คาดมีสาขา 30,000 แห่งในปี 2570 และบัดดี้มาร์ท ของแม็คโคร ตั้งเป้ามี 2,000 แห่งในปี 2566

อย่างไรก็ตาม การมาของน้องใหม่ “โก โฮลเซลล์” เครือเซ็นทรัล รีเทล ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนของค้าปลีกค้าส่งไทย เพิ่มดีกรีการแข่งขันที่ดุเดือด ทำให้เจ้าถิ่นต้องงัดโมเดลใหม่ออกมาสู้กับคู่แข่งที่มาบุกตลาด โดยบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT ผู้ดำเนินธุรกิจค้าส่ง “แม็คโคร” ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าในศูนย์การค้า “โลตัส มอลล์” ผุดโมเดลใหม่ “ไฮบริด โฮลเซลล์”

โดยรวบ “แม็คโคร-โลตัส มอลล์” มาอยู่พื้นที่เดียวกัน เริ่มออกสตาร์ต ปลายปี 2566 เปิดสาขาสมุทรปราการและพรหมนิมิต จ.นครสวรรค์ ล่าสุดต้นปี 2567 เปิดสาขามหาชัย สมุทรสาคร ในทางคู่ขนานแม็คโคร เดินหน้าปรับโฉมสาขาเก่า เช่น สาขาเชียงใหม่ ซุปเปอร์ไฮเวย์ และรังสิต

เช่นเดียวกับ “โลตัส-บิ๊กซี” ลุยรีโมเดลโดยโลตัสลบภาพจำจากไฮเปอร์มาร์เก็ตสู่สมาร์ทคอมมูนิตี้เซ็นเตอร์ ขยายไซซ์ใหญ่ขึ้นเท่ากับศูนย์การค้าขนาดกลาง ด้วยพื้นที่ 30,000-40,000 ตร.ม. ในปี 2566 ลงทุน 12,000 ล้านบาท เปิดสาขาใหม่ ปรับปรุง ขยายพื้นที่สาขาเดิม รวม 31 แห่งทั่วประเทศ จะทยอยแล้วเสร็จในปี 2567-2568 ส่วนบิ๊กซี สลัดภาพ “บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า” จากไฮเปอร์มาร์เก็ต เป็น “บิ๊กซีเพลส” เริ่มแล้วที่ลำลูกกาและรัชดาภิเษก

ฝั่งบริษัท ซีเจ มอร์ จำกัด ผู้บริหารร้านค้าปลีกแบรนด์ CJ เครือคาราบาวกรุ๊ป ส่งโมเดลใหม่เป็นทั้งค้าปลีกและค้าส่ง บุกตลาดชุมชน เป็นร้านค้าขนาดเล็ก 300 ตร.ม. ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร ราชบุรี จากสาขาแรกวัดห้วยม่วง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2566 จากนั้นเปิดอีกหลายสาขา เช่น ลำเหย วัดราษฎร์ศรัทธา ชุมชนบ้านหนองรี ห้วยด้วน ชุมชนลานตากฟ้า เป็นต้น

วีรธรรม เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเจ มอร์ จำกัด เคยกล่าวว่า ปัจจุบันซีเจ มี 2 โมเดล คือ ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต พื้นที่เฉลี่ย 300 ตร.ม. มีลูกค้าเฉลี่ย 500-600 คนต่อวันต่อสาขา และซีเจ มอร์ พื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ภายในร้านจะมีสินค้าหลากหลายของเครือ ร้านกาแฟและเครื่องดื่มบาว คาเฟ่ ลงทุน 10 ล้านบาทต่อสาขา มีลูกค้าเฉลี่ย 800-1,000 คนต่อวันต่อสาขา โดยสิ้นปี 2566 จะมีกว่า 1,100 สาขา ครอบคลุม 42 จังหวัดของประเทศไทย ตั้งเป้าเปิด 250 สาขาต่อปี และมี 3,000 สาขาก่อนปี 2573

ด้านฟู้ดแลนด์ อธิพล ตีระสงกรานต์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด ย้ำว่า ยังไม่มีแผนเปิดสาขาเพิ่มและจะปิดสาขาโคราชวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ทำให้เหลือ 24 สาขา ในปี 2567 เน้นปรับโฉมสาขาเก่า ขณะเดียวกันปลายปีนี้ มีแผนเปิดโมเดลฟู้ดแลนด์โกรเซอรองต์ส ขนาด 200 ตร.ม. เป็นคอนวีเนียนสโตร์มีทั้งอาหารแห้ง สด ร้านอาหารถูกและดี ประเดิมบนพื้นที่ด้านหน้าคอนโดมิเนียมเรฟเฟอเรนซ์ สาทร-วงเวียนใหญ่และโค้บบ์ รัชดา-พระราม 9 ของ บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการก่อสร้างของโครงการด้วย

ขณะที่ “ท็อปส์ เดลี่” เครือเซ็นทรัล รีเทล ซึ่งมีสาขาทั้งหมด 515 สาขาทั่วประเทศ ล่าสุดเปิดศึกเขย่าวงการ เปิดตัวโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ท็อปส์ เดลี่ ชูจุดขายลงทุนต่ำ มี 2 รูปแบบ รูปแบบแรกสำหรับผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองที่ดินหรืออาคาร ขนาดมากกว่า
200 ตร.ม. มากกว่า 9 ปี ใช้เงินลงทุน 4-6 ล้านบาท การันตีรายได้ 150,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 24 เดือนแรกของสัญญา

รูปแบบที่ 2 สำหรับผู้สนใจที่จะเข้าสวมสิทธิบริหารร้านท็อปส์ เดลี่ ที่เปิดอยู่เดิม ใช้เงินลงทุน 1.07 ล้านบาทขึ้นไป การันตีรายได้ 60,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 24 เดือนแรกของสัญญา โดยตั้งเป้ามีแฟรนไชส์เพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 45% ของสาขาทั้งหมด เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจมินิซุปเปอร์มาร์เก็ต อีกทั้งยังเร่งขยายสาขาท็อปส์อย่างต่อเนื่อง เฉพาะไตรมาสแรกของปี 2567 เปิดแล้ว 3 สาขา ที่ราษฎร์พัฒนา เป็นสแตนด์อโลน เซ็นทรัลนครสวรรค์ ล่าสุดเซ็นทรัล นครปฐม เป็นสาขาที่ 159

ฝั่งน้องใหม่ “โก โฮลเซลล์” สปีดเปิดสาขาเต็บสูบ เพื่อไปสู่เป้า 5 ปี มี 50 สาขา ด้วยเงินลงทุน 20,000 ล้านบาท ผ่านมา 7 เดือน เปิดแล้ว 6 สาขา ได้แก่ ศรีนครินทร์ เชียงใหม่ อมตะ ชลบุรี พัทยาใต้ พระราม 2 รังสิต และปลายเดือนเมษายนนี้จะเปิดสาขา 7 ที่รามคำแหง โดยปีนี้ตั้งเป้าเปิด 8 สาขา ทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งมีภูเก็ตรวมอยู่ในแผนด้วย

ทำไมทุนใหญ่ถึงขยายสาขา ทั้งที่เศรษฐกิจไทยยังไม่มีสัญญาณที่ดี เรื่องนี้ มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จังหวัดอุดรธานี มีมุมมองว่า เศรษฐกิจกับธุรกิจ เป็นคนละเรื่องกัน การลงทุนคือโอกาสทางธุรกิจ การที่รายใหญ่ลงทุนไม่หยุด เพราะมีเงินทุนมาก จึงใช้โอกาสนี้ ลงทุนรอเศรษฐกิจและกำลังซื้อฟื้นตัว

ตอนนี้ในจังหวัดอุดรธานี มีร้านค้าปลีกทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกลงมาแข่งกันในแถว 3 แล้ว คือ กลุ่มโชห่วย มีร้านโดนใจ และถูกดีมีมาตรฐานที่เป็นการปรับโฉมเครือข่ายร้านโชห่วย อยู่กระจายในระดับอำเภอ ชุมชน

ขณะที่การบุกตลาดของโก โฮลเซลล์ สร้างแรงกระเพื่อมให้รายใหญ่เร่งปรับตัว ล่าสุด คาราบาวกรุ๊ป เปิดร้านค้าปลีกค้าส่ง “ซีเจเอ็กซ์” เพื่อเป็นการขยายโมเดลให้ตอบโจทย์ลูกค้าให้มากขึ้น เหมือนกลุ่มซีพีมีโลตัส เซเว่น อีเลฟเว่น แม็คโคร, กลุ่มเจ้าสัวเจริญ มีบิ๊กซี ร้านโดนใจ, กลุ่มเซ็นทรัล มีห้าง ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต โก โฮลเซลล์ ขณะที่คาราบาวกรุ๊ป มีซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต ซีเจมอร์ ถูกดีมีมาตรฐาน ล่าสุดมีซีเจเอ็กซ์

สอดคล้องกับ สมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย มองว่า ต่อไปจะเห็นค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ รวมพื้นที่กันมากขึ้น เหมือนกับแม็คโครที่รวมพื้นที่กับโลตัสมอลล์ เพื่อรับกับไลฟ์สไตล์ลูกค้าที่เปลี่ยนไป

ขณะเดียวกันเป็นการบริหารต้นทุนทางการค้าได้อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image