เปิดฉากขับเคลื่อน 10 เมืองรอง ‘เอสเอ็มอี’หวังตอบโจทย์พัฒนาเมืองยั่งยืน

เปิดฉากขับเคลื่อน 10 เมืองรอง
‘เอสเอ็มอี’หวังตอบโจทย์พัฒนาเมืองยั่งยืน

ก่อนเข้าเทศกาลสงกรานต์ กระทรวงมหาดไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ประกาศพื้นที่นําร่องยกระดับเมือง ประกอบด้วย 10 จังหวัดเป้าหมายแรก ได้แก่ แพร่ ลําปาง ราชบุรี นครศรีธรรมราช ตรัง นครพนม ศรีสะเกษ นครสวรรค์ จันทบุรี และ กาญจนบุรี ซึ่งคัดเลือกผ่านกลไกคณะกรรมการ ร่วมภาครัฐและเอกชนจังหวัด (กรอ.จังหวัด) เพื่อให้เกิดความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่นๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์การขับเคลื่อนในทุกมิติ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนด้านความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

เรื่องนี้ สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า การยกระดับจังหวัดเมืองรอง นำร่อง 10 จังหวัด เป็นแนวคิดริเริ่มที่หอการค้าฯร่วมกับภาคธุรกิจที่มีศักยภาพผลักดันจังหวัดใหม่ๆ ขณะที่ประเทศไทยกำลังเจอความท้าทายทั้ง Technology War-Green War-Talent War ดังนั้น จำเป็นต้องเร่งสร้างการเติบโตจากภายในประเทศด้วยการกระจายความเจริญและยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง

ซึ่งได้เริ่มเปิดตัวจังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดแรก ด้วยปี 2566 เศรษฐกิจไทยเติบโตเพียง 1.9% แต่เศรษฐกิจจังหวัด (GPP) จ.นครพนม สามารถเติบโตได้ถึง 5% และมีเป้าหมายผลักดัน GPP ให้เติบโต 7% ต่อเนื่อง 5 ปี

Advertisement

ขณะที่ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยได้สะท้อนถึงการยกระดับ 10 เมืองรอง ผ่าน แสงชัย ธีรกุลวาณิช ในฐานะประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ที่แสดงความเห็นไว้ว่า การท่องเที่ยวรายได้สูงเป็นสิ่งที่ดีและต้องสนับสนุนอย่างยิ่ง แต่หากนำข้อมูลผลิตภัณฑ์จังหวัด รายได้ต่อหัวประชากร และจำนวนประชากรมาใช้ในการกำหนดพื้นที่ร่วมด้วย จะทำให้สอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่ คือ ส่งเสริมจังหวัดหลัก ยกระดับจังหวัดรอง กระจายโอกาสจังหวัดรายได้ต่ำ โดยกำหนดยุทธศาสตร์เขตเศรษฐกิจท่องเที่ยวพิเศษ 18 กลุ่มจังหวัด เชื่อมโยงเมืองหลักท่องเที่ยวและเมืองรองท่องเที่ยวให้มีระบบสาธารณูปโภค ระบบการคมนาคมขนส่ง แพลตฟอร์มท่องเที่ยวไทย ระบบการจองที่พักการเดินทางร้านอาหารที่สนับสนุนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ มาตรฐานที่พักโรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร ของที่ระลึก สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และแมนเมด รวมทั้งมัคคุเทศก์ที่รองรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ท่องเที่ยวไทย เตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการและภาคแรงงานมีขีดความสามารถในการขับเคลื่อนเพื่อการยกระดับส่งเสริมปรับเปลี่ยนเป็นเมืองอัจฉริยะ ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการยกระดับ ซึ่งแยกพื้นที่หรือโซนจากเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษที่เน้นการค้า การลงทุนภาคอุตสาหกรรมการผลิต อีกทั้งต้องกระจายโอกาสเร่งการพัฒนากำลังคนและสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มในแต่ละจังหวัด ให้จังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์จังหวัดและรายได้ต่อหัวประชากรต่ำได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมลดความเหลื่อมล้ำ

ซึ่งประเทศไทยมีจังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์จังหวัดและรายได้ต่อหัวที่ต่ำสุด และสูงสุด 10 จังหวัด คือ

Advertisement

 

จังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์จังหวัด (Gross Provincial Product; GPP) สูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 5,746,918 ล้านบาท และจังหวัดผลิตภัณฑ์ต่ำสุด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 15,670 ล้านบาท มีความแตกต่างกันถึง 367 เท่า ขณะที่จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวประชากรสูงสุด คือ จังหวัดระยอง 1,003,497 บาท และจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวประชากรต่ำสุด คือ จังหวัดนราธิวาส 60,876 บาท มีความแตกต่างกันถึง 16 เท่า การลดความเหลื่อมล้ำจะต้องเร่งออกแบบโครงสร้างการบริหารพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรม นวัตกรรม เกษตรกรรม ท่องเที่ยวที่มุ่งเป้าขจัดความยากจนข้ามรุ่น สร้างโอกาสทางการศึกษา พัฒนาการเรียนรู้ ยกระดับทักษะ สมรรถนะ ขีดความสามารถกำลังคนรองรับการเปลี่ยนแปลงและกระจายโอกาส กระจายรายได้ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นอย่างเป็นธรรม

ดังนั้น การพัฒนาเมืองท่องเที่ยว จึงไม่ควรเป็นการกำหนดการขับเคลื่อนเฉพาะกลุ่ม หากแต่ต้องดำเนินการอย่างเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน ควบคู่ไปกับหมุดหมายที่ 7 เอสเอ็มอีที่มีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการงบประมาณทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนากำลังคน การส่งเสริมการค้าการลงทุนอย่างเป็นระบบในระยะยาวที่ใช้นวัตกรรมเป็นฐานขับเคลื่อน และมีแผนกลยุทธ์เช่นเดียวกันกับประเทศจีนที่มีการกำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า Greater Bay Area (GBA) ซึ่งเป็นมณฑลยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรม การค้า การขนส่งในประเทศ

รวมทั้งเป็นประตูศูนย์กลางเชื่อมโยงมณฑลและเมืองต่างๆ ในแต่ละมณฑล ที่น่าสนใจคือ จีนกำหนดเป้าหมายให้ GBA ครอบคลุมเมือง 11 เมืองสำคัญ คือ เซินเจิ้น ปรับโฉมให้เป็นเมืองแห่งการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ฮ่องกง ให้เป็นมหานครนานาชาติ ศูนยกลางการเงิน การค้า การขนส่ง และมาเก๊า พัฒนาไปสู่ศูนย์รวมการท่องเที่ยวและสันทนาการระดับโลก นอกจากนั้นยังพัฒนากว่างโจว จูไห่ ฝอซาน หุ้ยโจว ตงก่วน จงซาน เจียงเหมิน จ้าวซิ่ง ควบคู่ไปด้วย ซึ่ง GBA มีประชากรราว 86 ล้านคน และ GDP 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.6 เท่าของ GDP ประเทศไทย การแข่งขันการท่องเที่ยวไทยที่จะต้องใช้ Creative economy + BCG economy + S-curve = Sustainnovation สร้างนวัตกรรมที่นำไปสู่ความยั่งยืน

การออกแบบอนาคตท่องเที่ยวไทยมูลค่าเพิ่ม ต้องมีกระบวนการวิเคราะห์ ประเมินข้อมูลสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยและคู่แข่งในระดับโลกอย่างรอบด้าน เพื่อให้มองเห็นโอกาสช่องว่างตลาด มีการสร้างประสบการณ์สินค้าและบริการของไทยที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้เกิดการสร้างแบรนด์ที่ยั่งยืน สร้างความไว้วางใจในแบรนด์ไทยในต่างประเทศ เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาดำเนินการควบคู่กับการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวไทย อาทิ อาหารไทย ขนมไทยพื้นถิ่น ผลไม้ไทย GI เครื่องประดับมูลค่าเพิ่ม สปาสุขภาพและความงาม เป็นต้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวรวมสูงสุด คือ กรุงเทพฯ 4,872,078 คน และต่ำสุด คือ อำนาจเจริญ 23,112 คน แตกต่างกันถึง 211 เท่า ส่วนจังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุด คือ กรุงเทพฯ 56,372.21 ล้านบาท และต่ำสุด คือ ยโสธร 37.40 ล้านบาท แตกต่างกันถึง 1,507 เท่า และ 6 ใน 10 จังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวต่ำสุดและรายได้ต่ำสุดมาจากภาคตะวันออกฉียงเหนือ และ 3 จังหวัดมาจากภาคใต้ และ 1 จังหวัด ภาคกลาง

 

ทั้งนี้ แสงชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า “คาดหวังการยกระดับเมืองรองจะต้องกระจายอำนาจ สร้างการมีส่วนร่วมการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นในทุกระดับให้ทั่วถึงเป็นธรรม ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มเพื่อประโยชน์พวกพ้อง กระจายโอกาสที่จะเข้าถึงมาตรการกลไกที่ดีของรัฐและมีกลไกกระจายรายได้ให้เศรษฐกิจฐานรากที่เป็นเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และแรงงานด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตจากการพัฒนาขีดความสามารถและสนับสนุนแหล่งทุนเพื่อการพัฒนายั่งยืน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image