จีนจ่อตั้งรง. ‘เซลล์แบต’ อีวีในไทย ‘2 ยักษ์’ ลงทุน 3 หมื่นล. ‘คลัง’ ฮึ่มรื้อภาษีมรดก ป้องซิกแซกเลี่ยงจ่าย

จีนจ่อตั้งรง.’เซลล์แบต’ อีวีในไทย ‘2 ยักษ์’ ลงทุน 3 หมื่นล. ‘คลัง’ ฮึ่มรื้อภาษีมรดก ป้องซิกแซกเลี่ยงจ่าย

เมื่อวันที่ 17 เมษายน นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า จากการนำคณะเดินทางไปพบกับผู้บริหารบริษัทผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำระดับโลกจากจีน 7 ราย ได้แก่ CATL, CALB, IBT, Eve Energy, Gotion High-tech, Sunwoda และ SVOLT Energy Technology ช่วงวันที่ 7-10 เมษายนที่ผ่านมา ที่มณฑลฝูเจี้ยน และมณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่าทุกบริษัทมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในไทย และให้ความสนใจอย่างมากต่อมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน ที่บีโอไอเพิ่งออกมา เพื่อดึงให้ผู้ผลิตระดับโลกเข้ามาตั้งฐานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านเคมีและวัสดุศาสตร์ขั้นสูง ใช้เงินลงทุนสูง และเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

‘โดยมาตรการนี้จะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุนหลายด้านที่สำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน ทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ และเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา และพัฒนาบุคลากรทั้งนี้ ผู้ผลิตแบตเตอรี่ทั้ง 7 ราย มองว่าประเทศไทยมีจุดแข็งหลายด้าน โดยเฉพาะการที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ชัดเจนและต่อเนื่อง จะทำให้มีความต้องการใช้เซลล์แบตเตอรี่จำนวนมากในอนาคต ดังนั้น ภายในปี 2567 นี้ คาดว่าผู้ผลิตรายใหญ่อย่างน้อย 2 ราย จะมีความชัดเจนในการเข้ามาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในไทย โดยแต่ละรายจะมีขนาดกำลังการผลิตในเฟสแรกประมาณ 6-10 GWh มูลค่าเงินลงทุนเฟสแรกรวมกันกว่า 30,000 ล้านบาท’นายนฤตม์ กล่าว

ขณะที่ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังกำลังทบทวนการจัดเก็บภาษีมรดกใหม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม หลังจากที่ผ่านมามีการประกาศใช้มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่ายังเก็บภาษีไม่ได้มากนัก เพราะเป็นภาษีชนิดใหม่ช่วงแรกกระทรวงการคลังจึงไม่อยากเข้มงวดมากเกินไป โดยเฉพาะในส่วนเงื่อนไข ข้อยกเว้นต่างๆ ที่อยู่ในภาษีมรดกอาจมีการปรับลดลง และให้บังคับใช้เข้มงวดขึ้น เช่น การจัดเก็บมรดกเฉพาะในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ก็อาจต้องดูให้เกิดความเหมาะสม

Advertisement

รายงานข่าวระบุ นับตั้งแต่เริ่มจัดเก็บภาษีมรดกเพิ่งมีรายได้รวม 3,643 ล้านบาท ส่วนใหญ่เก็บได้หลักร้อยล้าน และเพิ่งเก็บได้เกิน 1 พันล้าน ในปี 2567 สำหรับภาษีมรดก ปัจจุบันเก็บภาษีมรดก 10% ของมูลค่าสินทรัพย์ แต่มีเงื่อนไขยกเว้น อาทิ การจัดเก็บภาษีจะเก็บเฉพาะมรดกในส่วนที่มีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาทต่อคน ทำให้กลายเป็นช่องที่หลีกเลี่ยงภาษีได้ อาทิ บิดาเสียชีวิตมีมรดกอยู่ 300 ล้านบาท แบ่งให้ลูก 2 คน คนละ 100 ล้านบาท และญาติอีกคน 100 ล้านบาท เท่ากับว่ามรดกดังกล่าวจะไม่มีภาระภาษีเลย นอกจากนี้ยังระบุทรัพย์สินมรดกที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี อาทิ อสังหาริมทรัพย์ หุ้น ตราสารหนี้ เงินฝาก ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน ทรัพย์สินทางการเงิน ส่วนมรดกที่ไม่ต้องเสียภาษี เช่น เงินสด ทองคำ เครื่องเพชร พลอย ของสะสมของโบราณ และทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งอาจเป็นช่องว่างให้เกิดการเล่นแร่แปรธาตุ เปลี่ยนการถือครองทรัพย์สินเป็นประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมรดก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image