ดอลลาร์รีบาวด์แข็งขึ้นกดดันบาทผันผวนอ่อนค่าลง หลังเฟดย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกในเร็ววันนี้

ดอลลาร์รีบาวด์แข็งขึ้นกดดันบาทผันผวนอ่อนค่าลง หลังเฟดย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกในเร็ววันนี้

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.85 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.78 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.75-37.00 บาท/ดอลลาร์

นายพูนกล่าวว่า โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 36.74-36.86 บาทต่อดอลลาร์) ท่ามกลางแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้ง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ต่างก็ออกมาดีกว่าคาด

อีกทั้งบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ยในเร็ววันนี้ หลังอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงสู่เป้า 2% ได้ช้ากว่าคาด ทั้งนี้โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ในจังหวะการปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ของราคาทองคำ ก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทบ้าง

Advertisement

นายพูนกล่าวว่า สำหรับวันนี้ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งอาจมีโทนการสื่อสารไม่ต่างจากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดก่อนหน้า คือ เฟดจะยังไม่รีบลดดอกเบี้ย จากแนวโน้มการชะลอตัวลงช้ากว่าคาดของอัตราเงินเฟ้อ

ส่วนในฝั่งอังกฤษ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนมีนาคม รวมถึง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งอาจมีผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของ BOE ที่ล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า BOE อาจเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

นายพูนกล่าวว่า สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.90 บาทต่อดอลลาร์ และอาจอ่อนค่าไปถึงระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ท่ามกลางปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่า ทั้งแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ที่อาจยังคงมีอยู่บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม (ทั้งนี้ แรงขายสินทรัพย์ไทยอาจชะลอลงบ้าง หลังดัชนี SET ก็ย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับหลัก) รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็ยังรีบาวด์แข็งค่าขึ้น จากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ที่อาจยังไม่คลี่คลายในเร็ววันนี้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม

Advertisement

อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจอังกฤษ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE เพราะหาก ยอดค้าปลีกของอังกฤษ ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน ก็อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า BOE ก็มีโอกาสทยอยลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะส่งผลกดดันให้ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) มีโอกาสอ่อนค่าลงได้ คล้ายกับในช่วงวันพุธ 17 เมษายน ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI อังกฤษ ออกมาสูงกว่าคาด จนทำให้ เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ (และชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท)

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามความเสี่ยงที่ทางการญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงตลาดค่าเงิน เพื่อหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะหากเงินเยนได้อ่อนค่าทะลุโซน 155 เยนต่อดอลลาร์

”เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูงกว่าปกติ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน“นายพูนกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image