สถานีต่อไปหมูแพงแน่! ส.เลี้ยงสุกรเหนือ เผย ‘ร้อนจัด-พายุกระหน่ำ-ลูกเห็บตก’ หมูออกสู่ตลาดลดลง 40% ขณะที่ต้นทุนพุ่ง คาด พ.ค.อาจต้องหยุดผลิต
สถานีต่อไป หมูแพง เกษตรกรเลี้ยงหมู ย้ำอากาศแปรปรวน ร้อนจัด-พายุฤดูร้อนกระหน่ำ กระทบหมูเสียหายพุ่ง ทุกข์เกษตรกร อากาศแปรปรวน ร้อนจัด ภัยแล้ง ปัจจัยหลักส่งผลสัตว์อ่อนแอ เจ็บป่วยง่าย อัตราเสียหายเพิ่มขึ้น วอนเข้าใจผู้เลี้ยงแบกรับภาระมาตลอด หวังให้กลไกตลาดทำงาน
เมื่อวันที่ 19 เมษายน นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ประสบปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนอย่างมาก จากอากาศระหว่างวัน ช่วงเช้าถึงเย็นร้อนจัด อุณหภูมิสูงถึงกว่า 38-40 องศาเซลเซียส ต่างกับช่วงค่ำถึงรุ่งเช้าที่อุณหภูมิลดลงไปอยู่ที่ 24-26 องศาเซลเซียส ทำให้สุกรปรับสภาพไม่ทัน และในบางพื้นที่ยังมีพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง และมีลูกเห็บตกซ้ำเติม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสุกรเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดอัตราเสียหายสูงขึ้นอีก
“ปกติอากาศร้อนก็ทำให้สุกรโตช้า จากความเครียด ที่ทำให้กินอาหารน้อยลงอยู่แล้ว เมื่อต้องมาประสบกับสภาพอากาศแปรปรวน ยิ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสุกร โดยเฉพาะในลูกสุกรแรกคลอด และแม่สุกรช่วงปลายของการอุ้มท้อง โดยลูกสุกรจะมีสภาพอ่อนแอ เจ็บป่วยง่าย ด้านแม่สุกรเกิดความเครียด ซึ่งบางส่วนอาจถึงกับเกิดภาวะแท้ง ทำให้ผลผลิตสุกรเกิดความเสียหายและมีปริมาณลดลง อัตราการสูญเสียในฟาร์มสูงกว่า 30-40%” นายสุนทราภรณ์กล่าว
ปัจจุบันต้นทุนการเลี้ยงของเกษตรกรรายย่อยในภาคเหนือสูงถึง 82-85 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนต้นทุนการเลี้ยงเฉลี่ยทั่วประเทศของผู้เลี้ยงรายย่อยอยู่ที่ 78-80 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ประกาศราคาสุกรหน้าฟาร์มโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติล่าสุดอยู่ที่ 70-75 บาทต่อกิโลกรัม ตามอุปสงค์-อุปทาน แต่เกษตรกรขายได้จริงเพียง 65 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ผู้เลี้ยงสุกรจึงยังคงอยู่ในภาวะขาดทุนสูง หากผลผลิตถูกกดราคาเช่นนี้ เกษตรกรเลี้ยงสุกรต่อไปไม่รอดแน่นอน
นอกจากนี้ หากเกษตรกรมีการจัดการป้องกันโรคไม่ดี ต้นทุนจะสูงขึ้นมากกว่า 80 บาทต่อกิโลกรัม และในฟาร์มที่ประสบปัญหาภัยแล้งน้ำไม่พอใช้ จนต้องซื้อน้ำใช้ โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ปัญหานี้ยิ่งชัดเจนขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงกว่าในปัจจุบัน จึงมีความเป็นไปได้ที่เกษตรกรอาจตัดสินใจหยุดเลี้ยง ผู้เลี้ยงหวังเพียงให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี เพื่อต่อลมหายใจของเกษตรกรต่อไป
ทั้งนี้ ปัญหาความแห้งแล้ง ไม่เพียงกระทบกับปริมาณน้ำให้สุกรกินมีไม่เพียงพอเท่านั้น ยังตามมาด้วยปัญหาคุณภาพน้ำที่แย่ลง มีความสกปรกสูง สุกรที่กินน้ำสกปรกมีโอกาสท้องร่วงมากขึ้น ขณะเดียวกัน โรคสำคัญในสุกรยังคงมีอยู่ ทั้งปัญหาต่อเนื่องจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) และโรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (PED) ที่พบมากในช่วงฤดูกาลนี้ ปัญหาดังกล่าวสร้างความเสียหายค่อนข้างมากในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร