เฉลียงไอเดีย : กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กางแผนปี’67 จับเทรนด์นักเที่ยวญี่ปุ่น ปั๊มยอดสินเชื่อใหม่โตแสนล้าน

ต้อนรับเทศกาลท่องเที่ยวกับบัตรเครดิตในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และกรุงศรี บอร์ดดิ้ง การ์ด เอาใจคนรักญี่ปุ่น ได้นำสื่อมวลชนบินลัดฟ้าเดินทางสู่เมืองโตเกียว ณ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมสัมผัสประสบการณ์ใช้บัตรเครดิต ชิล ชิม ช้อป กับสิทธิประโยชน์จากแคมเปญ “เรื่องญี่ปุ่นต้องกรุงศรี”

โดยจับมือพันธมิตรชั้นนำกว่า 600 แบรนด์ จัดดีลสุดเอ็กซ์คลูซีฟให้สมาชิกบัตรในเครือกรุงศรี เที่ยว กิน ช้อป แบบสุดคุ้ม ครบจบทุกประสบการณ์เรื่องญี่ปุ่น และชมความงามกับบรรยากาศในฤดูใบไม้ผลิ เมื่อวันที่ 25-29 มีนาคมที่ผ่านมาการเดินทางในครั้งนี้ นอกจากเปิดประสบการณ์การใช้บัตรเครดิตในเครือกรุงศรีที่ต่างประเทศแล้ว ยังมีการแถลงข่าวถึงเป้าหมายการดำเนินธุรกิจของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในปี 2567 อีกด้วย

หัวเรือใหญ่ “สมหวัง โตรักตระกูล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด จับไมค์สะท้อนการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ ว่า จากข้อมูลยอดใช้จ่ายผ่านบัตรของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในปี 2566 พบว่าจากสัดส่วนยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในต่างประเทศ ญี่ปุ่นเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของลูกค้าของบริษัท และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดดังกล่าว บัตรเครดิตในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในฐานะบริษัทในเครือกรุงศรี หนึ่งในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (เอ็มยูเอฟจี) จึงเตรียมต่อยอดแคมเปญเรื่องญี่ปุ่น ต้องกรุงศรีที่เปิดตัวไปเมื่อปีที่ผ่านมา

Advertisement

ปี 2567 บริษัทได้ขยายความร่วมมือกับเครือข่ายทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของเอ็มยูเอฟจี และพันธมิตรทั้งในญี่ปุ่นและไทยเพิ่มเติม รวมกว่า 600 แบรนด์ นำเสนอสิทธิประโยชน์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้บัตรที่ดียิ่งขึ้น และเสริมภาพลักษณ์ของบัตรเครดิตในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในฐานะบัตรเครดิตหลักที่ลูกค้านิยมใช้จ่ายที่ญี่ปุ่น เพื่อขยายฐานลูกค้าและเพิ่มยอดใช้จ่ายผ่านบัตร โดยเฉพาะในช่วงฤดูท่องเที่ยว

ปีที่ผ่านมาแคมเปญเรื่องญี่ปุ่นต้องกรุงศรี ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยในปี 2566 มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ที่ญี่ปุ่น 2,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 250% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากลูกค้าที่เดินทางและใช้จ่ายประมาณ 106,000 คน หรือมียอดการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 20,755 บาทต่อคน

Advertisement

หมวดใช้จ่ายสูงสุด เรียงตามยอดใช้จ่าย ได้แก่ 1.ห้างสรรพสินค้า 2.โรงแรม ที่พัก 3.สินค้าแฟชั่น เครื่องแต่งกาย 4.เครื่องสำอาง สินค้าเบ็ดเตล็ด 5.สนามบินและสินค้าปลอดภาษี

ลูกค้าส่วนใหญ่ราว 80% เป็นกลุ่มเจนเอ็กซ์ (กลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 38-53 ปี) และเจนวาย (กลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 21-37 ปี) มียอดใช้จ่ายต่อคน เฉลี่ย 32,000 บาท หรือเติบโต 10% เมื่อเทียบกับปี 2565

จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้ปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่ลูกค้าในเครือบัตรกรุงศรีให้ความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนถึง 37% ของมูลค่าการใช้จ่ายรวมในต่างประเทศทั้งหมด รองลงมาคือเกาหลีใต้ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และไต้หวัน

นอกจากนี้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังเปิดเผยด้วยว่า ยอดใช้บัตรในต่างประเทศทั้งหมดในปี 2566 อยู่ที่ 5,500 ล้านบาท เติบโต 97% เมื่อเทียบกับปี 2565 จากจำนวนลูกค้าประมาณ 183,000 คน สอดคล้องกับกระแสการท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหลังช่วงการระบาดใหญ่ โดยตามข้อมูลจากองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ที่ระบุว่าตลอดปี 2566 มีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวญี่ปุ่นถึง 995,000 คน เพิ่มขึ้น 402% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565

สมหวังกล่าวอีกว่า ปี 2567 วางกลยุทธ์ในแคมเปญ “เรื่องญี่ปุ่นต้องกรุงศรี” โดยมี 4 เรื่องหลัก อาทิ 1.ขยายและต่อยอดระบบนิเวศธุรกิจ เจแปนอีโคซิสเต็ม โดยเฉพาะพันธมิตรที่ได้ผ่านเอ็มยูเอฟจีของประเทศญี่ปุ่นที่ปัจจุบันมีมากกว่า 400 ราย จะเพิ่มให้มากขึ้นเป็น 600 ราย เพื่อมอบสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้าบัตรเครดิตกรุงศรีให้ได้มากที่สุด

2.นำเสนอทางเลือกการชำระเงินที่หลากหลาย ด้วยการเพิ่มวิธีการใช้จ่ายในประเทศญี่ปุ่นให้ได้มากขึ้นเช่นการผ่อนชำระ รวมไปถึงการใช้คะแนนในบัตรมาเป็นส่วนลดหรือใช้ชำระแทนเงินสดได้เลย และพัฒนารูปแบบการชำระใหม่ๆ เช่นผ่านวอลเล็ต เป็นต้น ล่าสุด กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เพิ่มบริการบัตร Krungsri Boarding Card เป็นบัตรแบบ Pre-Paid ที่สามารถใช้แลกเงินได้มากถึง 16 สกุลเงิน ทำรายการออนไลน์ได้ สามารถตั้งค่าให้ซื้อตอนที่อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับต่ำได้รวมไปถึงสามารถแลกคืนและโอนเงินเข้าบัญชีได้โดยตรง

3.ครอบคลุมประสบการณ์เรื่องญี่ปุ่นอย่างครบวงจรในไทย ด้วยการยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าในการเข้าถึง “ความเป็นญี่ปุ่น” ให้มากยิ่งขึ้นตั้งแต่การจับมือกับร้านอาหาร หรือร้านค้าญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยซึ่ง ปัจจุบัน กรุงศรี คอนซูมเมอร์ มีพันธมิตรร้านค้าและร้านอาหารมากกว่า 2,000 สาขาทั่วประเทศไทย มีสิทธิพิเศษสำหรับงานอีเวนต์ท่องเที่ยวญี่ปุ่น รวมไปถึงสื่อสารสร้างแรงบันดาลใจในการท่องเที่ยวญี่ปุ่นด้วยคอนเทนต์ผ่านช่องทางออนไลน์รูปแบบต่างๆ

และ 4.นำข้อมูลและนวัตกรรมเสริมประสบการณ์ คือการยกระดับประสบการณ์ลูกค้าด้วยเทคโนโลยีใหม่อย่างปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาช่วยเลือกนำเสนอคอนเทนต์ให้ตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคล (เพอเซอร์นัลไลเซชั่น) รวมไปถึงใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลเช่นการต่อยอดยูมอลล์กับพันธมิตรญี่ปุ่น แนะนำโปรโมชั่นตามพิกัดร้านค้า รวมไปถึงโปรโมชั่นตามความชื่นชอบของผู้ใช้งานแต่ละคน

“คาดว่าสิทธิประโยชน์ที่ครบ จบ ทุกประสบการณ์เรื่องญี่ปุ่น และเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง จะช่วยให้กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เป็นผู้นำธุรกิจในเซ็กเมนต์ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวญี่ปุ่น และกระตุ้นยอดใช้จ่ายผ่านบัตร โดยบริษัทตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรที่ญี่ปุ่น 2,950 ล้านบาท ในปี 2567 หรือเติบโต 50% เมื่อเทียบกับปีก่อน” สมหวังระบุ

อีกหนึ่งผู้บริหาร “อธิศ รุจิรวัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด ในฐานะตัวแทนบัตรเครดิตในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ฉายภาพการดำเนินงานธุรกิจ ว่า ตั้งเป้าปี 2567 กรุงศรี คอนซูมเมอร์เตรียมรุกขยายธุรกิจ มุ่งเน้นการเติบโตในธุรกิจหลัก พร้อมสร้างความร่วมมือทั้งพันธมิตรในปัจจุบัน และการขยายพันธมิตรรายใหม่ เพื่อขยายฐานลูกค้า พร้อมการส่งเสริม และสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ ช่องทางการจำหน่ายใหม่ๆ เพื่อสร้างความเติบโต

โดยกรุงศรี คอนซูมเมอร์มุ่งต่อยอดความสำเร็จ สร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง ผ่านแคมเปญ เรื่องญี่ปุ่นต้องกรุงศรี ขับเคลื่อนด้วย 4 แนวทางหลัก ได้แก่ 1.เร่งความเติบโตของธุรกิจหลักซึ่งก็คือธุรกิจเพย์เมนต์ แอนด์ เลนดิ้ง ที่ผ่านมาบริษัทพยายามขยายระบบนิเวศธุรกิจออกมาหลายอย่างก่อนหน้านี้ แต่ในปีนี้จะเน้นสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตให้มากขึ้นกว่าเดิม

2.ขยายระบบนิเวศพันธมิตร ภายใต้เครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ จะเห็นว่าแบรนด์ 3 ใน 4 เป็นบัตรพาร์ตเนอร์ชิป และหากดูบัตรร่วม (โคแบรนด์) ในไทยที่มีอยู่ 200-300 เจ้า กรุงศรี คอนซูมเมอร์มีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) กว่า 50% ใหญ่ที่สุดในไทย จึงมองว่ากลยุทธ์พันธมิตรมีความสำคัญ และปีนี้จะทำอะไรเพิ่มเติมมากขึ้น เช่น ดีลเลอร์ที่ร่วมทำผ่อนชำระหลายหมื่นเจ้า หรือร้านค้าร่วมโปรโมชั่นที่มีราว 20,000 ร้านค้า เป็นต้น

3.ส่งเสริมนวัตกรรมผลิตภัณฑ์จะมีการพิจารณาว่ารูปแบบการชำระ (เพย์เมนต์) เป็นรูปแบบที่ลูกค้าต้องการ เช่น กลุ่มอายุน้อยจะไม่ได้ชื่นชอบบัตรพลาสติก หรือไม่ใช้จ่ายบนบัตร และเป็นการจ่ายผ่านโมบายแบงกิ้ง บริษัทจึงมีผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม อาทิ ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (บายนาวเพย์เลเตอร์) หรือการจ่ายแบบแท็ปแอนด์โก (Tap & Go) รวมถึงการคิดค้นอุปกรณ์ในการชำระแบบอื่น

และ 4.ความร่วมมือภายในและระหว่างเครือ ระดับธนาคารที่สามารถทำเพิ่มเติมและทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นเช่นโปรเจ็กต์วัน รีเทล เพื่อใช้ความแข็งแกร่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ รวมไปถึงการใช้ธุรกิจที่อยู่นอกประเทศ รวมไปถึงประเทศญี่ปุ่นอย่างเอ็มยูเอฟจี กรุ๊ป เป็นต้น

ส่งผลให้ผลประกอบการในไตรมาส 1/2567 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องและเป็นไปตามเป้าหมาย โดยในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 มียอดบัตรเครดิตใหม่ 62,000 บัตร เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 62,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดสินเชื่อใหม่ 15,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และยอดสินเชื่อคงค้าง 142,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

บริษัทตั้งเป้าปี 2567 คาดว่ายอดบัตรเครดิตใหม่จะอยู่ที่ 365,000 บัตร เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร 393,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดสินเชื่อใหม่ 100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และยอดสินเชื่อคงค้าง 151,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ซึ่งเติบโตมากขึ้นจากปี 2566 ที่ผลประกอบการของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เป็นที่น่าพอใจ โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 365,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน ยอดสินเชื่อใหม่ 92,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ยอดบัตรเครดิตใหม่ 339,000 บัตร เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปีก่อน ยอดสินเชื่อคงค้าง 148,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปีก่อน

จากข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในปี 2566 หมวดที่มียอดใช้จ่ายสูงสุด ได้แก่ 1.ประกันภัย 2.ปั๊มน้ำมัน 3.ช้อปออนไลน์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ 4.ตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ในครัวเรือน 5.ไฮเปอร์มาร์ทและซุปเปอร์มาร์เก็ต ส่วนหมวดที่เติบโตสูง ได้แก่ 1.ตัวแทนท่องเที่ยว เพิ่มขึ้น 83% 2.สายการบิน เพิ่มขึ้น 53% 3.รถเช่า เพิ่มขึ้น 30% และโรงแรม เพิ่มขึ้น 30% แสดงให้เห็นถึงการท่องเที่ยวและการบริโภคที่เติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลขยายตัว

อธิศกล่าวอีกว่า ภายใต้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ หรือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ขาดความสมดุล เรียกว่าขยายตัวในลักษณะเค-เชพ (K Shaped) โดยเฉพาะเคขาล่างอาจได้รับผลกระทบ แต่กลุ่มเคขาบนถือ ว่ายังไปได้ดี ซึ่งมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บริษัทยอมรับว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลแน่นอน

ขณะที่การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบบริษัทได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง บริษัทเชื่อว่าสามารถปรับกระบวนการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ ธปท.ได้ ประกอบกับการตั้งเป้าหมายธุรกิจไม่ได้เร่งการเติบโตมากนัก โดยบริษัทจะดูทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่มีผลต่อธุรกิจ และปรับกระบวนการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ภายใต้แนวทางดังกล่าว

“อย่างไรก็ตาม ภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทิศทางอาจเห็นการขยับเพิ่มขึ้น แต่คงไม่ได้ขยับเพิ่มขึ้นรุนแรงเนื่องจากบริษัทมีทีมบริหารความเสี่ยงและติดตามหนี้ (คอลเล็กชั่น) ค่อนข้างทำให้อัตราการเร่งของหนี้เอ็นพีแอลไม่สูงเมื่อเทียบกับระบบ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบอยู่ที่กว่า 5% (สิ้นปี 2566) แต่ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ อยู่ที่ราว 2.5% ส่วนบัตรเครดิตอยู่ที่ 1.14% ถือว่าคุณภาพค่อนข้างดี”
อธิศกล่าว

ด้าน “อธิป ศิลป์พจีการ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารธุรกิจกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ระบุว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังอยู่ค่อนข้างสูงจากไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 90.9% ขณะเดียวกัน ธปท.ได้ออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) จะมีผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจในด้านสินเชื่อ แต่สำหรับกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้ดำเนินมาตรการมาหลายปีแล้ว ดังนั้น กรุงศรี คอนซูมเมอร์จะปรับกระบวนทัพให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ล่าสุด

ปัจจุบัน ลูกหนี้ในเครือค่อนข้างมีคุณภาพดีจะมีผลกระทบบ้างตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ขยายตัวไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มฐานรากจะฟื้นตัวได้ช้า แต่กลุ่มระดับบนไม่ได้มีปัญหา สอดคล้องกับยอดบัตรเครดิตที่เกินเป้าหมายไปแล้วใน 2 เดือนที่ผ่าน โดยเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 มียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 62,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดสินเชื่อใหม่ 15,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดสินเชื่อคงค้าง 142,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

สำหรับมาตรการแก้หนี้เรื้อรังของ ธปท. โดยกรุงศรี คอนซูมเมอร์มีลูกค้าหลากหลาย ภาพรวมลูกค้าที่เป็นลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาเป็นหนี้เรื้อรัง (severe PD) อยู่ที่ราว 7% แม้จะเป็นจำนวนที่ไม่สูงมาก แต่ต้องเฝ้าระวัง เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ดี และชำระเงินตรงต่อเวลา ซึ่งมีพฤติกรรมการจ่ายขั้นต่ำต่อเนื่อง และยังไม่มีสถานะผ่อนชำระที่ไม่ดี ดังนั้น กลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ยังเป็นลูกค้าที่ดีและจะเฝ้าระวัง โดยวางแผนให้รัดกุมในเรื่องของการบริหารจัดการกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้

คาดว่าลูกค้ากลุ่มหนี้เรื้อรังจะเข้าร่วมมาตรการไม่ถึง 10% เพราะหากย้อนดูโครงการช่วยเหลือเมื่อช่วงโควิด กรุงศรี คอนซูมเมอร์มีโครงการรีไฟแนนซ์ที่ช่วยลดอัตราดอกเบี้ย และเกณฑ์ที่ ธปท.ทำก็นำมาตรการดังกล่าวมาปรับใช้ด้วย ณ ตอนนั้นมีคนเข้าร่วมโครงการไม่ถึง 10% แม้อัตราดอกเบี้ยลดลงแต่ความต้องการของคนคือการเข้าวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อนำไปใช้ แต่ถ้ามีคนที่ตั้งใจจะไม่ใช้บริการแล้วจะเลือกเข้ามาตรการ

“กรุงศรี คอนซูมเมอร์จะดำเนินตามมาตรการดังกล่าว ให้ทางเลือกกับลูกค้าในการปิดสินเชื่อ เข้าโปรแกรมการลดดอกเบี้ยพิเศษที่อัตราดอดเบี้ย 15% ผ่อนชำระ 5 ปี ลูกค้าสามารถเลือกใช้บริการได้ แต่มาตรการนี้เมื่อลูกค้าเข้าร่วมแล้วจะมีเงื่อนไขให้ปิดวงเงินสินเชื่อที่มี และเมื่อปิดแล้วลูกค้าจะได้รับสินเชื่อในรูปแบบผ่อนชำระรายเดือน นานสูงสุด 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 15%” อธิปทิ้งท้าย

ทรรศวรรณ ทัพสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image