แบงก์ชาติแจง อัตราดอกเบี้ย 2.50% เสริมศักยภาพเศรษฐกิจ รองรับความเสี่ยงต่างๆ ในระยะข้างหน้า

แบงก์ชาติแจง อัตราดอกเบี้ย 2.50% เสริมศักยภาพเศรษฐกิจ รองรับความเสี่ยงต่างๆ ในระยะข้างหน้า

 

เมื่อวันที่ 27 เมษายน นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวถึงมุมมองในการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ว่า นโยบายการเงินที่อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ที่ 2.50% เป็นระดับที่ช่วยเสริมศักยภาพเศรษฐกิจไทยระยะยาว และดอกเบี้ยปัจจุบันยังเป็นระดับที่รองรับความเสี่ยงต่างๆ ได้ในระยะข้างหน้า

ทั้งความเสี่ยงด้านบวก และความเสี่ยงด้านลบ จากความไม่แน่นอนหรือช็อกที่จะเข้ามาในระยะข้างหน้า โดยระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนมีช็อก รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจที่ทยอยเข้ามา ซึ่งข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญคือข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาส 1/2568 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จะทราบในเดือนพฤษภาคมนี้ อีกทั้งการประชุมครั้งถัดไปของ กนง.ในเดือนมิถุนายน 2567 จะเห็นภาพเศรษฐกิจเดือนเมษายนด้วยจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น

Advertisement

“ผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้างต่อภาคการส่งออกไทย จะเห็นข้อมูลภาคการส่งออกว่าจะสามารถขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์หรือไม่ รวมถึงที่มาว่าเป็นปัจจัยเชิงวัฏจักรหรือเป็นเหตุมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง รวมถึงการเบิกจ่ายของภาครัฐบาล หลังงบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ คาดว่าข้อมูลที่มากขึ้นจะช่วยให้การตัดสินใจของ กนง.เป็นไปอย่างรอบด้านมากขึ้น”นายปิติกล่าว

นายปิติกล่าวว่า ในการพิจารณาของ กนง.จะดูข้อมูลหลากหลาย และพิจารณาความเสี่ยงของเศรษฐกิจ ขณะนี้มีทั้งด้านสูงและด้านต่ำ ซึ่งด้านต่ำคือการเบิกจ่ายภาครัฐบาล มีความเป็นไปได้ที่จะมีการเบิกจ่ายได้น้อยกว่าที่ประเมินไว้ และด้านต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ปัจจัยเหล่านี้ กนง. ได้พิจารณาว่าเป็นความเสี่ยงด้านต่ำ

นายปิติกล่าวว่า ขณะที่ความเสี่ยงสูง เช่น การเบิกจ่ายภาครัฐอาจจะดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็เป็นไปได้ และในแง่ของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะภาคการส่งออกเริ่มฟื้นตัวและอาจจะฟื้นตัวได้มากกว่าที่คาดการณ์ก็เป็นไปได้ ซึ่งก็เป็นภาพรวมการชั่งน้ำหนักในการตัดสินใจของ กนง. อย่างไรก็ตาม หากเจาะจงด้านราคาน้ำมันสูงขึ้นต่อเนื่องต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อกองทุนน้ำมันจากที่มีการตรึงราคาน้ำมันไว้ ประเด็นนี้ส่งผลกระทบต่อภาระทางการคลังอีกทอด ตราบใดที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นในตลาดโลก แต่ในประเทศประเทศไทยยังไม่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน ภาระต่อกองทุนน้ำมันจะเพิ่มขึ้น ณ ตอนนี้ถือว่าสูงขึ้นมากแล้ว

Advertisement

“ดังนั้น การตอบสนองของนโยบายการเงินก็ต้องพิจารณาว่าช็อกอยู่นานขนาดไหน และส่งทอดไปสู่กิจกรรมเศรษฐกิจโดยรวมยั่งยืนขนาดไหน โดยปกติถ้าเป็นช็อกด้านอุปทาน นโยบายการเงินจะพยายามมองทะลุไป แต่ถ้าเงินเฟ้อเริ่มขึ้นต่อเนื่องก็ต้องพิจารณากันอีกครั้ง แต่ขณะนี้ยังไม่ถือเป็นความเสี่ยงถึงขั้นที่จะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นมาก ทำให้ภาพเศรษฐกิจถือว่ามีความสมดุลทั้งความเสี่ยงด้านสูงและความเสี่ยงด้านต่ำ”นายปิติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image