เจาะแหล่งเงิน ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ สลัดทิ้ง พ.ร.บ.กู้เงิน เลือก 3 แหล่ง คิกออฟไตรมาส 4

เจาะแหล่งเงิน‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ สลัดทิ้ง พ.ร.บ.กู้เงิน เลือก 3 แหล่ง

ตกผลึกเป็นที่เรียบร้อย สำหรับนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน “ดิจิทัล วอลเล็ต” เตรียมเดินหน้าแจกเงินไตรมาส 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2567)

จากก่อนหน้านี้ โครงการดิจิทัล วอตเล็ต ผ่านอุปสรรคมาหลายอย่าง ทั้งเสียงคัดค้านของนักวิชาการเศรษฐศาสตร์กว่าร้อยรายชื่อ การตรวจสอบจากกรรมการที่ตั้งโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งข้อกังวลเรื่องกฎหมาย โดยเฉพาะเมื่อตอนที่รัฐบาลตัดสินใจใช้แหล่งเงิน 5 แสนล้านบาท จากการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งขั้นตอนการออกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน แสนยุ่งยากในกระบวนการรัฐสภา

แต่นโยบายนี้ถอยไม่ได้ เพราะพรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาลได้หาเสียงไว้ตั้งแต่ตอนเลือกตั้ง และแถลงต่อรัฐสภาตั้งแต่เริ่มต้นทำงานรัฐบาลเมื่อเดือนกันยายน 2566 ตั้งเป้าจะเริ่มโครงการเดือนกุมภาพันธ์ 2567 แต่ต้องติดขัด เจอโรคเลื่อน

⦁กก.ดิจิทัลวอลเล็ตหันใช้งบประมาณ-ม.28

Advertisement

ท้ายที่สุด คณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ตัดสินใจใช้เงินจาก 3 แหล่ง ประกอบด้วย 1.เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568 ประมาณ 1.52 แสนล้านบาท 2.การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ หรือผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามกฎหมาย มาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ประมาณ 1.72 แสนล้านบาท และ 3.การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 ประมาณ 1.75 แสนล้านบาท รวมเป็นเงิน 5 แสนล้านบาท และรับการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือ แหล่งเงินตามมาตรา 28 ผ่าน ธ.ก.ส. จำนวน 1.72 แสนล้านบาท โดย ศุภชัย วงศ์เวคิน ประธานสหภาพแรงงาน ธ.ก.ส. ระบุว่า สหภาพฯตั้งคำถาม 5 ประเด็น ได้แก่ 1.การใช้เงินดังกล่าว ถูกกฎหมายหรือไม่ 2.ต้องมีการพิจารณาผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) 3.สภาพคล่องส่วนเกินของ ธ.ก.ส.มีเท่าไหร่ เพียงพอให้ใช้ทำโครงการหรือไม่ 4.รัฐบาลมีแผนตั้งงบประมาณ ชำระคืนอย่างไร และ 5.รัฐบาลจะมีการชดเชยต้นทุนค่าดำเนินงานให้ ธ.ก.ส.อย่างไรบ้าง ซึ่งได้เสนอต่อรัฐบาลไปแล้ว และทางนายเศรษฐาก็ยืนยันว่าจะส่งเรื่องของแหล่งเงินให้กฤษฎีกาตีความ เพื่อความถูกต้องและโปร่งใส

⦁มั่นใจรัฐบาลทำถูกต้องตามกฎหมาย

Advertisement

เรื่องนี้ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ประธานอนุกรรมการกำกับโครงการดิจิทัล วอลเล็ต และประธานกรรมการ (บอร์ด) ธ.ก.ส. ระบุว่า แหล่งเงินที่ใช้ทำโครงการนั้น ในส่วนของงบประมาณแผ่นดินน่าจะไม่มีปัญหา และยังไม่มีประเด็นเพิ่มเติม ส่วนแหล่งเงินตาม มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ผ่าน ธ.ก.ส. ก็เป็นอำนาจของรัฐบาลในการจะใช้แหล่งเงินนี้ในการดำเนินนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมาทุกรัฐบาลก็มีการใช้ไปหลายโครงการที่ดำเนินการไปแล้ว

“รัฐบาลและกระทรวงการคลัง เรามีความมั่นใจ 100% ว่าเงินตามมาตรา 28 สามารถทำได้และถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องถามกฤษฎีกาก็ได้ แต่ถ้าสังคม ยกประเด็นขึ้นมาตั้งข้อสงสัย รัฐบาลก็พร้อมจะส่งเรื่องให้กฤษฎีกา ไม่ได้มีประเด็นปัญหาอะไร และเชื่อมั่นว่าข้อสรุปนี้เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ไม่ต้องเตรียมแผนอะไรรองรับ ยืนยันว่า ธ.ก.ส.มีความพร้อมในเรื่องของสภาพคล่องเพียงพอ และยังมีเวลา 6-7 เดือน ที่จะดำเนินการ อย่างไรก็ดี ในการใช้เงินตามมาตรา 28 ไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องใช้เฉพาะช่วงวิกฤต” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังระบุ

ส่วนที่ประชุมบอร์ด ธ.ก.ส.เมื่อวันที่ 26 เมษายน มีวาระการประชุมหลายเรื่อง อาทิ การตอบรับมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR-Minimum Retail Rate) ของ ธ.ก.ส. 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยมีผลตั้งแต่ 1 พฤษภาคม-31 ตุลาคม 2567 โดยมีลูกค้าที่จะได้รับประโยชน์กว่า 1.2 ล้านบัญชีและมีวาระการเตรียมขยายมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยผ่านโครงการพักชำระหนี้ เฟส 2 เร็วๆ นี้ โดยคาดว่าไม่เกิน 1 เดือนจะแล้วเสร็จ

จุลพันธ์ยืนยันว่า กรณีการให้ ธ.ก.ส.ดำเนินโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ยังไม่มีการพูดคุยกันในที่ประชุม แต่ได้แจ้งให้ที่ประชุมบอร์ด ธ.ก.ส.ทราบ และหลังจากนี้ยังมีกลไกที่จะต้องดำเนินการก่อน คือ รัฐบาลจะเริ่มพิจารณาแหล่งเงินตามมาตรา 28 ช่วงเดือนตุลาคม 2567 หรืองบประมาณปี 2568 เริ่มมีผลบังคับใช้ และนำเข้า ครม.อีกครั้ง ขณะเดียวกันจะส่งไปสอบถามกฤษฎีกาก่อน แล้วส่งให้ที่ประชุมบอร์ด ธ.ก.ส. พิจารณาตามกฎหมาย ซึ่งช่วงเวลาที่จะเสนอเข้าบอร์ดยังระบุไม่ได้ โดยมีเหลือเวลาอีกจนกว่าจะถึงเดือนตุลาคมนี้

“กระแสต่อต้านว่าไม่ควรเดินหน้าโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่มีฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่แน่นอนว่าในฐานะรัฐบาล ต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้ง การแถลงนโยบายต่อรัฐสภามาแล้ว เพราะฉะนั้น โครงการดิจิทัล วอลเล็ตต้องเดินหน้าต่อไป ทั้งนี้ ในที่ประชุม ครม.ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการอย่างรอบด้าน อะไรที่มีประโยชน์ หรือปรับเปลี่ยน หากลไกป้องกันข้อห่วงใยต่างๆ ได้ รัฐบาลก็พร้อมทำ” จุลพันธ์เน้นย้ำ

⦁เคาะชัดเริ่มจ่ายไตรมาสที่ 4 ปี’67

ด้าน ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า มติ ครม.เมื่อวันที่ 23 เมษายน เห็นชอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต รัฐบาลจึงเริ่มมอบหมายงานอย่างเป็นทางการ โดยตั้งคณะอนุกรรมการกำกับโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งมี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เพื่อเร่งพิจารณากำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินโครงการ คาดว่าจะเริ่มประชุมในสัปดาห์หน้า

รวมทั้งยังมีการแบ่งการทำงานเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.แหล่งเงินโดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังดูแล 2.เกณฑ์และการลงทะเบียนร้านค้า มอบให้กระทรวงพาณิชย์ดูแล 3.การจัดทำเว็บไซต์ ระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติประชาชนและร้านค้า และระบบการใช้จ่าย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกันพัฒนา และ 4.การตรวจสอบการกระทำผิด มอบหมายให้ทางสำนักงานตำรวจช่วยดูแล

ส่วนสิ่งที่มีความชัดเจนแล้ว ได้แก่ กรอบระยะเวลาโครงการ ที่เปิดให้มีการลงทะเบียนช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2567 และเริ่มใช้จ่ายโครงการได้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ขณะที่เรื่องของแหล่งเงิน 5 แสนล้านบาท ได้แก่ 1.เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568 ประมาณ 1.52 แสนล้านบาท 2.การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ หรือผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามกฎหมาย มาตรา 28 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง ประมาณ 1.72 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องรอให้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 มีผลบังคับใช้ก่อน หรือต้องรอให้ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2567 จึงจะทำให้รายละเอียดจำนวนงบประมาณตามความเป็นจริง จึงจะจัดทำเอกสารเสนอ

“วงเงินตามมาตรา 28 นั้น ที่ผ่านมารัฐบาลใช้ในหลายโครงการ อาทิ การอุดหนุนสินเชื่อของสถาบันการเงินของรัฐต่างๆ ประกันรายได้เกษตรกร และโครงการไร่ละ 1,000 บาท โดยกฎหมายได้กำหนดเพดานไว้แล้วว่ารัฐบาลจะใช้ได้เท่าไหร่ และเชื่อว่าการใช้วงเงินดังกล่าวสำหรับโครงการดิจิทัล วอลเล็ตนั้น เป็นไปตามกฎหมาย สามารถทำได้ ส่วนถ้ามีบางฝ่ายอยากให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความก็ทำได้ แต่ต้องหลังจากงบปี 2568 มีผลแล้ว เพราะเราจะยึดตามกรอบงบปี 2568” ปลัดกระทรวงการคลังระบุ

และ 3.การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 ประมาณ 1.75 แสนล้านบาท จะต้องรอให้ พ.ร.บ.งบปี 2567 มีผลบังคับใช้ ซึ่งหลังจากใช้ไป 1-2 เดือน จะเห็นงบประมาณรายจ่ายที่ไม่ได้ใช้มีเหลือเท่าไหร่ เชื่อว่างบปี 2567 ซึ่งมีเวลาใช้เพียง 4-5 เดือนเท่านั้น น่าจะเหลือวงเงินอย่างน้อย 1.75 แสนล้านบาท หนึ่งในนั้นก็คืองบกลางราว 9 หมื่นล้านบาท ที่น่าจะใช้ไม่ทัน ตั้งเป็น พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ต่อไป

“เหตุผลที่ว่าทำไมรัฐบาลยอมเปลี่ยนมาใช้งบประมาณแผ่นดินปี 2567-2568 และวิธีการทางงบประมาณ อย่างมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง น่าจะเป็นเพราะช่วงเวลาที่ตรงกันพอดี ทำให้ข้อเสนอกระทรวงการคลังได้รับเลือก เพราะจะเริ่มโครงการในช่วงเริ่มต้นปีงบ 2568 พอดี ขณะเดียวกัน ถ้ายังเลือกใช้แหล่งเงินจาก พ.ร.บ.กู้เงินนั้น เชื่อว่าขั้นตอนยุ่งยากกว่ามาก น่าจะใช้เวลานานกว่านี้” ปลัดกระทรวงการคลังระบุ

⦁ปัดตกแจกแค่เฉพาะกลุ่ม

ปลัดกระทรวงการคลังระบุอีกว่า ส่วนข้อโต้แย้งอื่นๆ อาทิ ข้อเสนอที่ให้แจกเงินดิจิทัล เฉพาะกลุ่มเปราะบางนั้น ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ที่เป็นมาตรการเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น การแจกเฉพาะกลุ่มดูเป็นมาตรการในเชิงสวัสดิการมากกว่า เพราะการที่จะให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเห็นผล ขึ้นอยู่กับขนาดของโครงการ ยิ่งขนาดใหญ่เท่าไหร่จะเห็นผลดีเท่านั้น จึงทำให้กลุ่มเป้าหมายต้องไม่ใช่แค่กลุ่มเปราะบาง

“การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคการบริโภคภายในประเทศ ถือเป็นการกระตุ้นที่ทำได้แรงและเร็วที่สุด เป็นเหมือนการช่วยห้ามเลือด ช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจกลับมาแข็งแรง” ปลัดกระทรวงการคลังระบุ

ทั้งนี้ ถ้าถามว่าขณะนี้ วิกฤตหรือไม่วิกฤต ดูจากการเติบโตของเศรษฐกิจ ที่อยู่ในทิศทางทิ่มหัวลง ดังนั้น หากปล่อยไว้และปัญหาดิ่งลงไปลึกแล้ว ถ้าจะฟื้นฟูกลับมาต้องใช้เงินอย่างมหาศาล แต่หากรีบเข้าไปประคับประคอง ชะลอปัญหาไว้ก่อน ก็ย่อมใช้เงินน้อยกว่าเยอะ ดังนั้น รัฐบาลจึงเลือกใช้มาตรการการคลังออกมาช่วยประคองเศรษฐกิจ แทนที่จะเก็บกระสุนไว้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกต่อเนื่อง เพื่อรักษาโมเมนตัมทางเศรษฐกิจในช่วงหลังจากเงินดิจิทัล

⦁ใช้เงินสด-ร้านค้าเบิกได้จริง

ส่วนเรื่องของสกุลเงินนั้น ขอย้ำว่าเงินจากโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ไม่ใช่สกุลเงินดิจิทัล หรือสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะมีเงินจริง 5 แสนล้านบาทรองรับอยู่ โดยร้านค้าในโครงการที่อยู่ในระบบภาษีตามเงื่อนไข สามารถเบิกเงินดิจิทัลเป็นเงินสดออกมาได้อย่างแน่นอน

ปลัดกระทรวงการคลังระบุว่า สำหรับกรณีเงื่อนไขที่ล็อกไม่ให้ร้านค้าขนาดเล็กที่รับเงินจากประชาชนเบิกเงินสดได้นั้น เป็นเพราะรัฐบาลต้องการรักษาแรงการหมุน (multiplier) ของเม็ดเงินในโครงการให้เกิดขึ้นมากกว่า 1 รอบ ซึ่งอย่างน้อย ก็การันตีเกิด multiplier 1 รอบ 5 แสนล้านบาท และกระทรวงการคลัง ก็ประมาณการว่า โครงการดิจิทัล วอลเล็ตจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ราว 1.4-1.8%

รวมถึงการป้องกันการรั่วไหล ผ่านการที่ร้านค้ารับแลกเงินสด เพราะการที่เบิกเงินสดไม่ได้ก็ทำให้ร้านค้าไม่อยากรับแลกเงินจากประชาชนแน่นอน ส่วนร้านค้าที่เบิกเงินสดได้จะต้องเป็นการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป และเป็นร้านที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ 1.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) หรือ 2.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ 3.ภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งร้านค้าที่ไม่อยู่ในระบบภาษีต้องเข้าระบบก่อนจึงจะเบิกเงินสดได้

นอกจากนี้ การออกแบบรูปแบบการใช้จ่ายในครั้งนี้ รัฐบาลยังได้รับประโยชน์อีกคือ ได้ภาษีกลับคืนมาในระบบ อย่างน้อยๆ คือภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% คือ รัฐได้รับเงินคืน 7% ของวงเงิน 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นราว 3.5 หมื่นล้านบาท

“ส่วนเกณฑ์ของร้านค้ารับเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่ขยายให้ร้านสะดวกซื้อร่วมโครงการด้วย เนื่องจากมองว่าเงิน 10,000 บาทนั้น ก้อนใหญ่พอสมควร จึงเพิ่มร้านสะดวกซื้อมาเป็นทางเลือกให้กับพี่น้องประชาชน อย่างไรก็ดี เกณฑ์ต่างๆ นั้น กระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้ดูแล และจะมีการประกาศที่ชัดเจนอีกครั้งในช่วงที่เปิดให้ลงทะเบียนร้านค้า” ปลัดกระทรวงการคลังทิ้งท้าย

ข้อสรุปโครงการดิจิทัล วอเล็ตครั้งนี้ ถือเป็นการเดินหน้าที่ชัดเจนที่สุด หลังจากที่รัฐบาลเริ่มดำเนินโครงการดิจิทัล วอลเล็ตมาฝ่าฟันทุกอุปสรรค ถึงเส้นทางจะยังมีขลุกขลักอยู่บ้าง แต่ก็เห็นทางออกแล้ว

เชื่อว่าประชาชนคนไทยกำลังตั้งตารอรับเงินดิจิทัล 10,000 บาทแล้ว!!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image