ทุเรียนออกตลาดช้า ฉุดส่งออก มี.ค.ลบ 10.9% พณ.-สรท.มั่นใจ เม.ย.กลับมาบวก 1-2%

ทุเรียนออกตลาดช้า! ฉุดส่งออก มี.ค.ลบ 10.9% พณ.-สรท.ให้มั่นใจ เม.ย.กลับมาบวก 1-2% เฝ้าระวังเมียนมาระอุ

เมื่อวันที่ 29 เมษายน นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือนมีนาคม 2567 มีมูลค่า 24,960.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 892,290 ล้านบาท ติดลบ 10.9% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ติดลบ 5.6% ปัจจัยที่ทำให้ส่งออกไทยกลับในรอบ 8 เดือน และอัตราติดลบสูงในรอบอีกครั้ง จากเดือนธันวาคม 2565 ที่ติดลบ 14.3% ได้แก่ จากฐานมูลค่าการส่งออกเดือนมีนาคมปีก่อนสูงมากที่มีมูลค่าเกิน 2.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และผลผลิตผลไม้หลักของไทย เช่น ทุเรียน ปีนี้ออกตลาดล่าช้ากว่า และผลกระทบจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ อีกทั้งการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวดยาวนาน ส่งผลต่อกำลังซื้อ ปัญหาหนี้สิน และการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ นอกจากนี้ สภาพอากาศแปรปรวนทำให้อุปทานของสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดล่าช้า อย่างไรก็ตาม ยังคงรักษาระดับมูลค่าการส่งออกได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยต่อปี ซึ่งอยู่ที่กว่า 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ/เดือน

สำหรับการนำเข้าเดือนมีนาคม 2567 มีมูลค่า 26,123.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.6% และขาดดุลการค้า 1,163.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ภาพรวมไตรมาสแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 70,995.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 0.2% การนำเข้า มีมูลค่า 75,470.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.8% ขาดดุลการค้า 4,475.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ การส่งออกไทยไตรมาสแรกปี 2567 หดตัว 0.2% เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 1.3%

Advertisement

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนมีนาคมการส่งออกมีมูลค่า 892,290 ล้านบาท หดตัว 6.6% การนำเข้า มีมูลค่า 944,828 ล้านบาท ขยายตัว 10.7% ขาดดุลการค้า 52,538 ล้านบาท ภาพรวมไตรมาสแรก 2567 การส่งออก มีมูลค่า 2,504,009 ล้านบาท ขยายตัว 4.2% การนำเข้า มีมูลค่า 2,692,023 ล้านบาท ขยายตัว 8.2% ขาดดุลการค้า 188,014 ล้านบาท

หากลงในรายละเอียดส่งออกเดือนมีนาคม พบว่า สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 5.1% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 9.9% แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัว 30.6% ยางพารา ขยายตัว 36.9% อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 29.6% ขณะที่ตลาดส่งออกส่วนใหญ่ขยายตัวดี ส่วนการขาดดุลการค้าเป็นผลจากราคาพลังงานสูง และนำเข้าทุนและวัตถุดิบเพื่อผลิตและส่งออก จะดีต่อไทยในอนาคต

Advertisement

นายพูนพงษ์กล่าวต่อว่า แนวโน้มการส่งออกเดือนเมษายนคาดว่าจะกลับมาเป็นบวก เพราะสินค้ากลุ่มผลไม้และอาหารยังขยายตัวดี สินค้าอุตสาหกรรมบางกลุ่มดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ไตรมาส 2/2567 ขยายตัวเป็นบวก และคาดมูลค่าประมาณ 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่าเดือนเดียวกันปีก่อนที่ส่งออก 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และกระทวงพาณิชย์ยังคงตัวเลขส่งออกทั้งปี 2567 เป็นบวก 1-2% หาก 9 เดือนที่เหลือของปี ไทยส่งออกได้ 24,046 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน จะขยายตัว 1% หากส่งออกได้ 24,362 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน จะขยายตัว 2%

สำหรับปัจจัยต่อการส่งออก ในส่วนปัจจัยบวกคือประเทศคู่ค้ายังคงมีความต้องการสต๊อกสินค้า เพื่อความมั่นคงทางอาหารและใช้บริโภคภายในประเทศ และการเติบโตของเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและกิจกรรมภาคบริการ รวมถึงแผนผลักดันส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชน ส่วนปัจจัยกดดัน คือ ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมบางรายได้รับกระทบจากภาคการผลิตของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว การเปลี่บนแปลงของสภาพอากาศ และฐานของปีก่อนในบางเดือนยังสูง ขณะที่ปัจจัยเฝ้าระวังคือสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์และสถานการณ์ความขัดแย้งภายในประเทศเมียมมา ซึ่งจะมีผลต่อการขนส่ง อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นคาดว่ากระทบส่งออกภาพรวมไม่สูง โดยมีสัดส่วนเพียง 1.6% ของส่งออกรวม

ด้าน นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกเดือนมีนาคม หากไม่รวมส่งออกทองคำ ยุทธปัจจัย ยังเติบโต 1.33% อีกทั้งปีก่อนไทยส่งออกทุเรียนได้มากในเดือนมีนาคม แต่ปีหน้าผลผลิตออกล่าช้า ก็จะส่งได้มากในเดือนเมษายน และรอบการส่งออกภาคอุตสาหกรรมบางชนิดกลับมา อาทิ ยานยนต์และส่วนประกอบ ค่าเงินบาทอ่อนค่า 36-37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็นแรงหนุนสินค้าเกษตรไทย ค่าระวางเรือที่เคยสูงมากกลับมาปกติมากขึ้น จึงคาดว่าเดือนเมษายนจะส่งออกได้เกิน 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และทำให้ไตรมาส 2/2567 มีมูลค่าส่งออกรวม 71,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และบวก 2% ส่วนส่งออกทั้งปีนี้ หากไม่มีเหตุการณ์อะไรที่รุนแรง โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง จนกระทบต่อระบบขนส่ง การส่งออกไทยปีนี้จะยังบวกได้ 1-2%

“การส่งออกมีนาคมลบเป็นเรื่องเอกชนมองไว้อยู่แล้ว เพราะปีก่อนฐานส่งออกสูงถึง 2.8 หมื่นล้านเหรียญ แต่จากนี้ฐานอยู่ในค่าเฉลี่ย 2.3-2.4 หมื่นล้านเหรียญ การบวกหรือลบก็ไม่น่าจะมากแล้ว สำหรับเมียนมา เรื่องน่ากังวลคือการขนส่งเข้ายากขึ้น และปัญหาการโอนเงินค่าสินค้าที่จะรับเงินเหรียญสหรัฐหรือบาท จึงมีปัญหาระบบการเงินในการโอนชำระค่าสินค้า แต่ก็มีหลายสินค้าเห็นความต้องการสั่งซื้อสูงขึ้น แต่อยู่ที่เหตุการณ์ปะทะในเมียนมา อาจมีผลต่อระบบขนส่งข้ามแดน แต่ก็มีการปรับไปขนส่งในด่านอื่นแทน แต่อาจมีเรื่องต้นทุน” นายชัยชาญกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image