หอการค้าชี้ขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วปท. ดันเงินสะพัด 9 พันลบ./เดือน เอกชนแบกต้นทุนอ่วม

หอการค้าชี้ขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วปท. ดันเงินสะพัด 9 พันลบ./เดือน เอกชนแบกต้นทุนอ่วม

เมื่อวันที่ 29 เมษายน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ จะส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงอันดับต้นๆ ในอาเซียน เทียบกับเวียดนามที่เป็นประเทศคู่แข่งสำคัญของไทย มีค่าแรงเพียง 230 บาทต่อวันเท่านั้น ซึ่งมีแต้มต่อเรื่องเอฟทีเอ และการเติบโตเศรษฐกิจประมาณ 5-7% ต่อปี มีชนชั้นกลางมากขึ้น มีอัตราการเกิดเป็นบวก จำนวนประชากรกว่า 100 ล้านคน จึงมีเสน่ห์แรงมากกว่าไทย

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ถือเป็นความท้าทายของประเทศไทยในด้านประสิทธิภาพของแรงงานจะไม่ใช่ค่าแรงราคาถูกอีกแล้ว เปลี่ยนแปลงขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ ไม่มีแรงงานโดดเด่นในการจูงใจการลงทุน โดยคาดการณ์ว่าค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท จะครอบคลุมจำนวนแรงงานประมาณ 7.5 ล้านคน การบวกเพิ่ม 40 บาท จาก 360 บาททั่วประเทศ เฉพาะค่าแรงขั้นต่ำจะควักเงินของเอกชน 300 ล้านบาทต่อวัน หรือ 9,000 ล้านบาทต่อเดือน หากเริ่มปรับขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศภายในเดือนมิถุนายนนี้ ระยะ 7 เดือนที่เหลือ จะมีเม็ดเงิน 7 หมื่นล้านบาท กระตุกเศรษฐกิจในมือแรงงาน แต่เป็นภาระต้นทุนของเอกชน

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ผู้ประกอบการมองว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั้งประเทศ มองว่าไม่เหมาะสม 67.4% เหมาะสมมีเพียง 32.6% เท่านั้น โดยค่าแรงงานขั้นต่ำที่เหมาะสมอยู่ที่ 370 บาทต่อวัน ซึ่งต้องยอมรับว่าจะกระชากค่าแรงในบางจังหวัดขึ้นมา ทำให้ต้นทุนค่าแรงของผู้ประกอบการบางจังหวัดสูงขึ้นกว่า 10% ทันที ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่มีแนวโน้มการฟื้นตัว อาจโตต่ำกว่า 3% โดยคาดการณ์กันอยู่ที่ระดับ 2.6-2.8% กำลังซื้อยังกลับมาไม่ทัน แต่ภาระของภาคเอกชนจะขึ้นมาทันที อาทิ ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ทำให้เอกชน 64.7% มองว่าจะปรับราคาสินค้าและบริการประมาณ 15% ขึ้นไป ผู้ประกอบการสัดส่วน 17.2% คือการลดปริมาณ ซึ่งถือเป็นแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการ

Advertisement

“การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ผู้ประกอบการกว่า 48.7% กังวลมาก ทั้งภาระต้นทุนของธุรกิจที่สูงขึ้น แต่ทักษะการทำงานของลูกจ้างยังเท่าเดิม และต้นทุนอื่นสูงขึ้นด้วย โดยเป็นกังวลเรื่องยอดขายตก 5.4% เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้น 12.3% ก็ต้องขึ้นราคาสินค้า ทำให้กำไรลดลง 7.3% ถือเป็นเงาตามตัว เพราะการปรับราคาสินค้าต้องปรับขึ้นแน่ หรือไม่ก็ต้องลดปริมาณ การส่งผลต่อเงินเฟ้อมีแน่นอน โดยการปรับที่เหมาะสมคือ ต้องปรับตามความสามารถในการทำกำไรของแต่ละธุรกิจ พิจารณาจากต้นทุน 31.3% กำหนดค่าจ้างลอยตัว ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดแรงงาน 25.3% ปรับขึ้นตามจีดีพี 18.2%” นายธนวรรธน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image