‘เสริมศักดิ์’ แตะมือ ‘สุดาวรรณ’ กุมบังเหียนปั๊ม ‘ท่องเที่ยวไทย’

‘เสริมศักดิ์’แตะมือ‘สุดาวรรณ’ กุมบังเหียนปั๊ม‘ท่องเที่ยวไทย’

ภาคการท่องเที่ยวไทยที่เป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนรายได้หลักของปี 2567 ถูกขยับในส่วนของหัวเรือใหญ่อีกครั้ง หลังจากการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของ เศรษฐา ทวีสิน ครั้งแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีการจับตามองเป็นพิเศษ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มี พิชัย ชุณหวชิร ขึ้นมานั่งกุมบังเหียนเรียบร้อย รวมถึงรัฐมนตรีในกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญด้วย

สำหรับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปรับเปลี่ยนโดยการสลับให้ เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช มานั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับ สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

สุดาวรรณ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “มติชน” กล่าวว่า ยอมรับว่ามีความรู้สึกเสียดาย เนื่องจากขณะนี้การทำงานในส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวฯกำลังอยู่ในระหว่างการวางแผนเดินหน้าต่อในช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) หลังจากผ่านเทศกาลสงกรานต์ ที่ปี 2567 นี้ จัดเป็นมหาสงกรานต์เฟสติวัลสุดยิ่งใหญ่ ซึ่งได้รับคำชมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติหลากหลายประเทศ รวมถึงคนไทยที่ออกเดินทางท่องเที่ยวช่วงหยุดยาวสงกรานต์ด้วย โดยจากนี้มีการวางแผนว่าจะทำอะไรกับท่องเที่ยวต่อ เพื่อให้สามารถเดินต่อไปได้ในช่วงหน้าโลว์ รวมถึงช่วงปลายปีที่จะสามารถจัดงานอะไรขึ้นเป็นเฟสติวัลใหญ่แบบนี้ได้บ้าง อาทิ ลอยกระทง ที่นำเสนอประเพณีความเป็นไทยสู่สายตาทั่วโลกได้

จากนี้ จะเข้าไปประเมินว่างานในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม สามารถต่อยอดอะไรได้มากขึ้นอีก จากที่ปัจจุบันก็มีการทำงานร่วมกันอยู่แล้ว เนื่องจากการท่องเที่ยว ก็มีท่องเที่ยวในส่วนของประเพณีวัฒนธรรม จึงสามารถเดินหน้าควบคู่กันไปได้ โดยการทำงานต่อจากนี้จะเห็นการทำงานร่วมกันที่เพิ่มมากขึ้นอีก เพราะจะนำเอาประสบการณ์ทำงานในกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ไปต่อยอดจัดทำแผนงานในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม ที่จะเข้าไปนั่งบริหารงานอย่างเต็มตัวต่อจากนี้

Advertisement

โดยส่วนตัวแล้ว เชื่อมั่นในการทำงานของ รมต.เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อยู่แล้ว จึงไม่ได้มีการส่งการบ้านอะไรเป็นพิเศษ เป็นเพียงการมอบแผนงานที่กำลังดำเนินการอยู่ในช่วงโลว์ซีซั่นนี้ ที่มีความกังวล ว่า จะเห็นการชะลอตัวลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่ไตรมาส 2-3 ของปี 2567 นี้ ก่อนจะเข้าสู่ช่วงฤดูการท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ปลายปีในช่วงไตรมาส 4 โดยจะมีการลงพื้นที่ในแต่ละจังหวัด เพื่อรวบรวมข้อมูลในการจัดทำแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวต่อยอดจากงานอิกไนต์ ไทยแลนด์ ที่นายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวหลักของภูมิภาค ซึ่งก็มองว่าไม่เป็นไร เพราะที่ผ่านมา มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว จากนี้จะเป็นหน้าที่ของหัวเรือใหม่ที่จะเข้ามาเดินเรือต่อไป

งานของทั้ง 2 กระทรวงสามารถสานต่อได้ทันที เพราะที่ผ่านมาก็หารือร่วมกันอยู่แล้ว มีการวางแผนไว้เยอะมาก และวางนโยบายไว้ชัดเจนอยู่แล้ว อาทิ ได้เป็นประธานการประชุมติดตามแผนปฏิบัติการการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวช่วงกรีนซีซั่น พบว่าในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน ของทุกจะปีจะเป็นช่วงฤดูฝนหรือกรีนซีซั่น เพื่อให้เมืองไทยเที่ยวได้ตลอด 365 วัน จะต้องไม่มีโลว์ซีซั่น

ทั้งนี้ ในแผนส่งเสริมการตลาดศักยภาพ อย่าง มาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดนักท่องเที่ยวระยะใกล้ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวติด 1 ใน 3 ตลาดต่างประเทศที่เดินทางมาประเทศไทยมากที่สุดในปี 2567 โดยสถิติจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า นักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เดินทางมายังประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-25 เมษายน 2567 มีจำนวน 1,503,420 ราย เติบโต 21.61% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 และมีการฟื้นตัวของเที่ยวบินระหว่างประเทศคิดเป็น 83.59% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 และนักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเทศกาลอีฎิ้ลฟิตริ (Eid al-Fitr) หลังสิ้นสุดเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม ตรงกับวันที่ 10-12 เมษายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลดังกล่าวในปี 2566

Advertisement

โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือเพื่อระดมความคิดในการจัดกิจกรรมบิ๊กอีเวนต์ต่อยอดความสำเร็จจากการจัดงานเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวมาเลเซีย โดยสอดแทรก 5 กลยุทธ์หลักตามนโยบาย อิกไนต์ ไทยแลนด์ ชูจุดขาย 5 สิ่งที่ต้องทำในประเทศไทย (5 Must Do in Thailand) เพื่อส่งเสริมสินค้าและบริการของไทยให้เป็นที่จดจำของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น Must Eat อาหารไทย Must Seek วัฒนธรรมไทย หรือ Must See โชว์ไทย

สำหรับกิจกรรมที่มีการวางแผน ได้แก่ เทศกาลอาหารทะเล จังหวัดสงขลา บริเวณพื้นที่สมิหลา รวบรวมร้านอาหารทะเล ดนตรีชายหาด และกิจกรรมเวิร์กช็อปเพื่อสร้างประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยว กิจกรรมถนนคนเดิน Carnival Walking Street จำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน พ่วงคอนเสิร์ตศิลปินที่เป็นขวัญใจของนักท่องเที่ยวมาเลเซียรวมถึงกิจกรรม Amazing Beach Life Festival ดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยกิจกรรมกีฬาทางน้ำ ศิลปะ ดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรมร่วมสมัย เช่น การแสดงมโนราห์ Street Show และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น โดยวางแผนการจัดงานในวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2567 ณ จังหวัดสงขลา รวมถึงอีก 3 พื้นที่ศักยภาพ ได้แก่ จังหวัดพังงา ภูเก็ตและจังหวัดระยอง

นอกจากนี้ จะจัดคาราวานรถยนต์ โดยร่วมมือกับกลุ่ม eXpdc Club และ SICM Caravan เพื่อนำครอบครัวชาวมาเลเซียเดินทางท่องเที่ยวข้ามแดนมายังประเทศไทย ครั้งที่ 1 ในวันที่ 14-18 มิถุนายน 2567 จำนวน 120 คนลงพื้นที่หาดใหญ่-เกาะสมุย และครั้งที่ 2 ในวันที่ 26-30 มิถุนายน 2567 จำนวน 160 คน พื้นที่หาดใหญ่-จังหวัดกระบี่ พร้อมทั้งขยายผลด้านการสื่อสารผ่านการจัดทำชิ้นงานโฆษณาส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวช่วงฤดูฝนในพื้นที่จังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดพัทลุงและจังหวัดนครศรีธรรมราช สอดแทรกซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวครอบครัว กลุ่มนักท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางข้ามแดนมาเที่ยวช่วงสุดสัปดาห์และกลุ่มขับรถเที่ยว

ทั้งยังมีแผนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย Joint Promotion ร่วมกับพันธมิตรด้านการท่องเที่ยวรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ การเข้าร่วมงาน Travel Fair ในตลาดระยะใกล้และระยะไกล เพื่อกระตุ้นความต้องการเดินทางช่วงกรีนซีซั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง

โดยจากข้อมูลพบว่า ตลาดนักท่องเที่ยวศักยภาพของไทยในปี 2567 พบว่า ตลาดระยะใกล้ ที่เดินทางเข้าไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินเดีย เกาหลี ลาว และตลาดที่มีศักยภาพฟื้นตัวสูงที่สุด ได้แก่ อินโดนีเซีย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ส่วนตลาดระยะไกล 5 อันดับแรกที่เดินทางเข้าไทย ได้แก่ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส และตลาดที่มีศักยภาพฟื้นตัวสูงที่สุด ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เนเธอร์แลนด์ สเปน คูเวต และคาซัคสถาน

การเข้าไปนั่งเก้าอี้กระทรวงวัฒนธรรมต่อจากนี้นั้น จะผนวกงานในด้านการท่องเที่ยวเข้าไปด้วย เป็นการท่องเที่ยวเชิงประเพณีวัฒนธรรม อาทิ โบราณสถาน หากมีการบริหารจัดการ ดูแลปรับปรุงให้สวยงามเป็นอย่างดี จะกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมมากขึ้น อีกส่วนเป็นกลุ่มผ้าไทย ที่ต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ชูโรงในด้านการท่องเที่ยวได้ สอดคล้องกับการเผยแพร่วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของสินค้าไทยอย่างแท้จริงด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image