จีไอที เปิด 5 ยุทธศาสตร์ ดันไทยฮับ ‘อัญมณี-เครื่องประดับโลก’ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ 1 ล้านล้าน

จีไอที เปิด 5 ยุทธศาสตร์ ดันไทยฮับ ‘อัญมณี-เครื่องประดับโลก’ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ 1 ล้านล้าน

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก และเสริมสร้างความน่าเชื่อถือในระดับโลกนั้น จีไอทีได้กำหนดแนวทางการทำงานภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

1.ยกระดับมาตรฐานการตรวจรับรองอัญมณีและเครื่องประดับ และโลหะมีค่าสู่สากล โดยผลักดันการใช้ และอ้างอิงมาตรฐานอัญมณีฯ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล จัดทำมาตรฐาน GIT Standard สำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการตรวจสอบ (ห้องแล็บ) ให้มีมาตรฐานการตรวจสอบเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทย และชาวต่างชาติเชื่อมั่นในการวิเคราะห์ตรวจสอบ และใช้ใบรับรองคุณภาพสินค้าเพิ่มขึ้น

สำหรับจีไอที ซึ่งมีภารกิจในการตรวจสอบ และออกใบรับรองอัญมณีและโลหะมีค่านั้น ห้องแล็บของจีไอที มีมาตรฐาน ได้รับการยอมรับระดับจากสมาพันธ์เครื่องประดับโลก (CIBJO) และ Laboratory Manual Harmonization Committee (LMHC) อีกทั้งยังได้ดำเนินการที่เป็นมาตรฐานสากลและระบบคุณภาพมาตรฐาน นอกจากนี้ จีไอที ยังได้เป็นสมาชิก The Responsible Jewellery Council (RJC) ซึ่งเป็นองค์การที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมในการเข้าสู่การค้าอัญมณีฯแบบมีความรับผิดชอบต่อสังคม

Advertisement

2.ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และเชิงสังคม เช่น พัฒนานวัตกรรมในการผลิตเครื่องประดับ และต่อยอดขยายผลเชิงพาณิชย์สำหรับวิจัยที่โดดเด่น เช่น ฐานข้อมูลอัจฉริยะแหล่งอัญมณีโลก, กระบวนการพัฒนาสีพลอยทัวร์มาลีนโดยเทคโนโลยีทางนิวเคลียร์ เพื่อเพิ่มมูลค่าอัญมณีในอุตสาหกรรม เป็นต้น

3.การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีฯ โดยมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง การสร้างแบรนด์ โดยสอนตั้งแต่ระดับช่างฝีมือ พนักงานขาย ไปจนถึงผู้ประกอบการ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ/นักออกแบบ/Start-Up เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เป็นต้น

4.การเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านอัญมณีฯของประเทศ โดยมุ่งสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนข้อมูลอัญมณีฯ จัดทำข้อมูลเชิงลึกและบทวิเคราะห์ด้านการตลาดอัญมณีฯที่ครอบคลุมหลากหลายตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

Advertisement

และ 5.พัฒนาจีไอทีไปสู่องค์กรดิจิทัล ที่มีสมรรถนะสูง และเสริมสร้างภาพลักษณ์ความเป็นมืออาชีพขององค์กรไปสู่ระดับสากล

“การสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีฯของโลกนั้น ถือเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาพรวม โดยเร่งประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนาตั้งแต่ ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การหาวัตถุดิบทั้งในประเทศ ต่างประเทศ การยกระดับฝีมือแรงงานและอุตสาหกรรม รวมทั้งการยกระดับมาตรฐานสินค้า เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรม”

นอกจากนี้ ยังได้จับมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต และการค้าอัญมณีฯของโลก โดยใช้งานนี้เป็นเวทีการค้าที่สำคัญในเอเชีย และเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีขยายตลาดไปยังต่างประเทศ

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอัญมณีฯ เป็นอันดับที่ 14 ของโลก นำรายได้เข้าประเทศสูงเป็นอันดับ 3 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของไทย หรือราว 400,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับมูลค่าการค้าในประเทศอีกราว 600,000 ล้านบาทแล้ว ก่อให้เกิดเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจปีละเกือบ 1 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 5.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ มีการจ้างงานกว่า 800,000 คนตลอดห่วงโซ่การผลิต แบ่งเป็น 78% อยู่ในวงการค้าปลีก ค้าส่ง และ 20% เป็นนักออกแบบ ช่างฝีมือและเจียระไน คนทำงานในเหมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image