ศก.ชะลอ-การเมืองระอุ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภครอบด้านหดตัว 2 เดือนติด

ศก.ชะลอ-การเมืองระอุ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภครอบด้านหดตัว 2 เดือนติด

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนเมษายน 2567 จากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 2,242 ตัวอย่าง พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 56.0% ลดลงจาก 56.9% ในเดือนก่อน ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม อยู่ที่ระดับ 58.9% ลดลงจากเดือนก่อนที่ 59.8% และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 71.5% ลดลงจากเดือนก่อนที่ 72.2

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) ปรับตัวลดลงที่ 62.1% จากระดับ 63.0% ในเดือนก่อน ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงที่ 45.3% จากระดับ 46.0% ในเดือนก่อน และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงที่ระดับ 70.2% จากระดับ 71.2 ในเดือนก่อนหน้า % โดยดัชนีปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9 เดือน ทุกรายการ และดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติที่ระดับ 100

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สะท้อนว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ทำให้รายได้ในอนาคตมีความไม่แน่นอนสูง อีกทั้งความกังวลเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยเพิ่มแรงกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย

ADVERTISMENT
???????

“นอกจากนี้ บรรยากาศเศรษฐกิจช่วงสงกรานต์ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากประชาชนกังวลเรื่องต้นทุนเพิ่มขึ้น หลังรัฐบาลปรับราคาน้ำมัน-ค่าแรงขั้นต่ำ ความกังวลเศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้า และเสถียรภาพทางการเมืองที่ไม่นิ่ง หลังจากเกิดการลาออกของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง หลังนายปานปรีย์ พหิทธานุกร ยื่นลาออกทุกตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นจุดสะกิด ดังนั้น เรื่องการเมืองเป็นบรรยากาศที่คนไม่แน่ใจ รวมถึงกระแสต่างๆ ทั้งการเปลี่ยน ส.ว. ส่งผลให้ดังชีความเชื่อมั่นทางการเมืองปรับลง 4 จุด หลังจากที่ปรับตัวดีขึ้นมา 8 เดือนติดต่อกัน”นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังไม่มีการปรับประมาณการทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าปี 2567 จะขยายตัวที่ 2.6% ยังไม่ทราบว่ามาตรการดิจิทัลวอลเล็ตจะเกิดขึ้นหรือไม่ และเมื่อไหร่ ค่าแรงขั้นต่ำจะถูกปรับจริงในเดือนตุลาคมนี้หรือไม่ แต่ถ้า 2 ตัวนี้เข้ามาจะกระตุกเศรษฐกิจได้ แม้จะการขึ้นค่าแรงจะมีผลกระทบแต่ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจติดลบ แต่ถ้ามีเงินจากดิจิทัลวอลเล็ตจะทำให้เศรษฐกิจกระตุ้นได้มากขึ้น นอกจากนี้ ต้องพิจารณาจังหวะการใช้งบประมาณของรัฐบาลว่าจะมีการจัดซื้อจัดจ้าง และมีโครงการที่จะลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน

ADVERTISMENT

“เศรษฐกิจไทยจะมีแรงกระตุ้นได้จากนโยบายทางการคลังของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ใช้งบลงทุนเลย หากงบประมาณปี 2566 ถูกวางไว้ 6 แสนล้าน และปี 2567 อยู่ที่ 7 แสนล้าน แต่งบฯไม่ได้ถูกใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เงินจากรัฐบาลหายไปจากระบบเศรษฐกิจเดือนละ 3-5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น โครงการค้างท่อที่มีอยู่และเกิดการเบิกจ่ายงบฯในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2567 อย่างน้อยเดือนละ 5 หมื่นล้านบาทสำหรับการลงทุน ส่งผลให้เงินหมุนในระบบ 1 แสนล้านบาท แต่ตอนนี้ยังไม่เห็น”นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า กรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ โดยภาคเอกชนแสดงความคิดเห็นว่าควรปรับไปตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด ดังนั้น เมื่อวาน (14 พฤษภาคม) คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ได้ให้จังหวัดต่างๆ กลับไปทบทวนตัวเลขค่าแรงรายจังหวัด ส่งผลให้จะได้เห็นค่าแรงที่ปรับขึ้นไม่เท่ากัน เนื่องจากสูตรการคำนวนที่นำองค์ประกอบต่างๆ เช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และอื่นๆ หากขึ้นค่าแรงอัตราเดียวกันทั่วประเทศจะส่งผลกระทบหนักต่อจังหวัดที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำ

เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีอัตราค่าจ้างต่ำสุดที่ 330 บาท รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่ได้เติบโตเด่นเท่า จ.ภูเก็ต ซึ่งส่วนของอัตราเงินเฟ้อจากที่ดูอัตราค่าครองชีพก็ควรจะต่ำกว่า ดังนั้น เมื่อปรับขึ้นถึง 400 บาท จะเพิ่มขึ้น 70 บาท ทำให้เอกชนในจังหวัดเศรษฐกิจต่ำได้รับผลกระทบสูง รวมถึงค่าครองชีพจะเพิ่มขึ้น

“สูตรในการคำนวนจึงเป็นกรอบที่ภาคเอกชนดูแล้วไม่น่าจะปรับขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศจากการคำนวนตามสูตรที่เป็นมาตรฐานสากลที่ประเทศไทยใช้มาอย่างยาวนาน แน่นอนว่าการที่เอกชนแสดงออกว่าถ้ามีการปรับค่าแรงจะต้องมีการเยียวยาและดูแลชัดเจน เพราะเงินที่จ่ายค่าจ้างตกอยู่ที่เอกชน 100% ไม่เหมือนมาตรการทางการคลัง หรือมาตรการทางการเงินทั่วไปที่รัฐเป็นเจ้าของการทำงาน ถ้าเศรษฐกิจไม่ฟื้นเอกชนจะลำบากในการทำธุรกิจ” นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจ อาทิ 1.จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศ 2.ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น 3.รัฐบาลดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชน โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้า การยกเว้นการยื่นวีซ่านักท่องเที่ยว (จีน คาซัคสถาน อินเดียและไต้หวัน) การขยายระยะเวลาการพำนักของนักท่องเที่ยวรัสเซีย ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว และ 4.รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยของประชาชน และเพื่อเตรียมการรองรับการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมือง และอุตสาหกรรมระดับโลก

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจ อาทิ 1.ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพ รวมถึงผู้บริโภคยัง รู้สึกว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น 2.อัตราดอกเบี้ยทรงตัวระดับสูง หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี 3.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.4%

4.การส่งออกของไทยเดือนมีนาคม 2567 หดตัว 10.9% มูลค่าอยู่ที่ 24,960.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 5.63% มีมูลค่าอยู่ที่ 26,123.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,163.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 5.ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ 6.ดัชนี SET Index ในเดือนเมษายน 2567 ปรับตัวลดลง 9.99 จุด เป็น 1,367.95 จุด โดยปรับลดลงจาก 1,377.94 จุด จากเดือนก่อน

7.เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับ 35.954 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 เป็น 36.789 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนเมษายน 2567 สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ 8.ความกังวลต่อสถานการณ์เอลนีโญและภัยแล้ง

9.ความกังวลต่อสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 10.ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.6 และ 1.2 บาทต่อลิตร อยู่ที่ระดับ 39.28 และ 40.35 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1 บาท ณ สิ้นเดือน เมษายน 2567

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจเสนอแนวทางดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ดังนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องของการบริหารจัดการน้ำให้มีใช้เพียงพอกับภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน หาแนวทางการแก้ไขหรือมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ หากมีการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นค่าขึ้นตามประกาศรัฐบาล มาตรการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งแนวทางการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มีการจับจ่ายซื้อของเพื่อเพิ่มกำลังซื้อในพื้นที่ การดูแล และรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และการค้าการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image