นายจ้างชี้ มติครม. ขึ้นค่าแรง 400 บีบไตรภาคี ย้ำปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข แต่การปฏิบัติผิดปกติ

นายจ้างชี้ มติครม. ขึ้นค่าแรง 400 บีบไตรภาคี ย้ำปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข แต่การปฏิบัติผิดปกติ ทั้งที่ ศก.เหมือนเดิม

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ผู้แทนฝ่ายนายจ้างในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (บอร์ดค่าจ้าง) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบรายงานและไทม์ไลน์ของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศว่าจะมีการประกาศใช้ในเดือน ต.ค.2567 นี้ ว่า หลังจากที่มีการประชุมบอร์ดค่าจ้างเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางฝ่ายนายจ้างก็ยังไม่ได้นัดหารือกันถึงเรื่องนี้ เพราะหลังจากที่มติในที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างออกมาแบบนั้น ก็พูดไม่ถูกแล้ว ส่วนเรื่องที่ ครม.รับทราบไทม์ไลน์การขึ้นค่าจ้างนั้น ตนยังไม่ทราบรายละเอียด

“วาระการประชุมเมื่อวานมีแต่กรอบแนวทางพิจารณามา แต่ไม่ส่งไส้ในมาให้อ่านก่อนว่าจะประชุมว่าอะไร แล้วพอไปถึงก็เอาตามที่ตัวเองตั้งใจไว้ ก็คือจะเปลี่ยนสูตรที่มีมติไปแล้วในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสูตรที่ทุกคนเห็นด้วย เห็นพ้องตรงกันว่าจะใช้สูตรนี้ ฉะนั้นแบบนี้ถูกต้องหรือเปล่า” นายอรรถยุทธกล่าว

เมื่อถามว่าหลังจากที่ ครม.ประกาศรับทราบไทม์ไลน์มาแล้ว เป็นการบีบหรือกดดันบอร์ดค่าจ้างหรือไม่ นายอรรถยุทธกล่าวว่า ใช่ แต่ต้องย้ำว่านายจ้างยินดีที่จะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่ขอให้ขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ตามปฏิทินที่กำหนดร่วมกันไว้ ส่วนจะเป็นเท่าไหร่ต้องดูสภาพเศรษฐกิจ ณ ตอนนั้น ซึ่งบอร์ดมีหน้าที่ในการพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่ ดังนั้น ถ้าจะขึ้นแล้ว ขึ้นเท่าไหร่นั้น ก็คงตอบไม่ได้ ที่ผ่านมาก็ตอบไม่ได้ว่าจะขึ้นเท่าไหร่ จนถึงวันที่พิจารณาแล้วเสร็จก็ถึงจะทราบตัวเลข

ADVERTISMENT

ถามต่อว่าทาง 16 สภาองค์การนายจ้างเสนอว่ายินดีที่จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้น แต่ขอให้เป็น 1 ม.ค.2568 นั้น นายอรรถยุทธกล่าวว่า ก็ถูกต้องเพราะเป็นไปตามปฏิทินของรอบการปฏิบัติงานที่จะขึ้นในวันที่ 1 ม.ค. แบบนี้ยอมรับได้อยู่แล้ว แต่จะขึ้นเท่าไหร่นั้นก็ต้องไปดูในวันประชุมบอร์ดค่าจ้าง

เมื่อถามย้ำว่าขณะนี้ปัญหาอยู่ที่การขึ้นค่าจ้าง 400 บาทต่อวัน หรืออยู่ที่การปรับขึ้นในครั้งที่ 3 ของปี นายอรรถยุทธกล่าวว่า ปัญหาอยู่ที่การปฏิบัติที่ผิดปกติ ทั้งที่เศรษฐกิจยังเหมือนเดิมทุกอย่าง อยู่ๆ จะให้พิจารณาได้อย่างไร

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image