เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย ส่องทางรอดธุรกิจโรงแรมปี 67-68

เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย ส่องทางรอดธุรกิจโรงแรมปี 67-68
“…ธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับในช่วงปี 2565-2567 อัตรการเข้าพักเฉลี่ยที่ 45% ในปี 2565 ก่อนปรับขึ้นเป็น 69% ในปี 2566 ส่วนปี 2567 ช่วงไตรมาสแรกตัวเลขอยู่ในเกณฑ์ดี โดยภาพรวมธุรกิจโรงแรมทุกพื้นที่ยังคงแข่งขันรุนแรง จากซัพพลายส่วนเกินสูง ขณะที่ดีมานด์ฟื้นตัวอย่างช้าๆ เลยทำให้การปรับราคาห้องพักทำได้ยาก ครึ่งปีแรก(2567)ตอนนี้ผ่านไตรมาสแรกไปแล้ว ส่วนไตรมาส 2 เข้าหน้าฝนจะเป็นโลซีซั่นของประเทศไทย ขณะที่ราคาห้องพักขายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 1,488 บาทต่อห้อง คิดเป็นการฟื้นตัวราว 86% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด ในส่วนครึ่งปีหลังก็ 2 ไตรมาสเหมือนกัน ไตรมาสสุดท้ายจะเป็นไฮซีซั่น ซึ่งไฮซีซั่นช่วงครึ่งปีหลังผมคิดว่าดี ทั้งตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวและตัวเลขราคาห้องพักจะได้มากขึ้น…”

เป็นการคาดการณ์ของ “เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์” นายกสมาคมโรงแรมไทย(THA)คนใหม่ ซึ่งเพิ่งเข้ารับไม้ต่อจากมาริษา สุโกศล เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีวาระ 2ปี(2567-2569) เทียนประสิทธิ์คาดการณ์แนวโน้มธุรกิจโรงแรมในปี 2567 ต่อเนื่องไปถึงปี 2568 แม้จะหน้าอ่อน แต่ก็ไม่ใช่มือใหม่ในวงการ และยังคว่ำหวอดอยู่ใน THA มานาน เป็นเจ้าของโรงแรมแกรนด์ไดมอนด์สวีท ประตูน้ำ และภูภัทราวานา รีสอร์ต ที่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ในฐานะนายกสมาคมโรงแรมไทย เป้าหมายในภาพรวมคือ ต้องยกระดับมาตรฐาน-พัฒนาให้โรงแรมมีคุณภาพ เพื่อผลักดันราคาห้องพักเฉลี่ยของไทยให้เพิ่มขึ้น

ตัวเลขอัตราห้องพักเวลานี้ที่บอกว่าดี หมายถึงดีเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด?

ยังไม่เท่าก่อนจะเกิดโควิด-19 แต่ถ้าบอกว่าจะกลับไปเท่าเดิมไหม ต้องลุ้นว่าประเทศจีนจะเอายังไง เรื่องฟรีวีซ่าก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง เพียงแต่ว่ากลุ่มจีนที่เราได้มากในอดีต คือกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ที่นั่งรถบัสมา ซึ่งกลุ่มนี้ยังน้อยอยู่ เข้าใจว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่องตั๋วเครื่องบิน ไฟล์ทบิน สมัยก่อนเขาจะเหมาลำมาแล้วค่าตั๋วถูก แต่ตอนนี้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลก จำนวนเครื่องบินกลับมาไม่เท่าเดิม ตลาดแพงเขาวิ่ง แต่ตลาดถูกยังไม่ฟื้นเสียทีเดียว กำลังดูไตรมาส 2 กับ 3
ปีนี้เป็นปีแรกที่ไทยเจอสภาพอากาศร้อนแบบวิกฤตแล้วมีผลกระทบกับการท่องเที่ยว ปีนี้ต่างชาติเขามาตามแพลนเดิมของเขา แต่ปีหน้า(2568)ถ้าอากาศยังร้อนวิกฤตแบบนี้ เขาอาจคิดอีกรอบว่าไปเที่ยวที่ไหนดี สรุปคือหลังโควิดมานี้โรงแรม 4 ดาวขึ้นไปเกือบจะฟื้นตัวเท่าเดิมแล้ว บางพื้นที่ก็แซงไปแล้ว อย่างภูเก็ตห้องพักเต็มล้นเขาก็ขยับราคาขึ้น คนก็ยังซื้อ แต่โรงแรม 3 ดาวลงมา อัตราเข้าพักยังไม่มากพอ โดยเฉพาะพวกที่รับกรุ๊ปทัวร์ของจีน เพราะจีนยังมาไม่เท่าเดิม แล้วไฟล์ทบินน้อย อีกอย่างคนจีนเปลี่ยนพฤติกรรมการเที่ยว ไม่มากับบริษัททัวร์แล้ว แต่จะจองผ่านอาโกด้ามาเที่ยวเอง

Advertisement

นักท่องเที่ยวประเทศไหนมากอันดับ 1

จีนยังเป็นอันดับ 1 แต่เป็น FIT(Free Independent Travelers) คือเดินทางมาเที่ยวด้วยตัวเอง ไม่ใช่กรุ๊ปทัวร์ มี 75% ซึ่งภาพนี้เราไม่เคยเห็น มาก่อน จีนเข้ามาเยอะแต่เขาเที่ยวเอง มีอิสระในเรื่องโปรแกรมต่างๆ และพวกนี้ค่าใช้จ่ายต่อหัวเยอะ ผมว่านี่คือภาพที่เมืองไทยจะต้องไปทางนี้ ดังนั้น เราต้องสร้างความสะดวก เดินทางง่ายให้กับนักท่องเที่ยว เพราะเรื่องกินเรื่องไปเที่ยวที่ไหน พวกอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer)ในประเทศเหล่านั้นเขาทำการบ้านให้อยู่แล้ว แต่จะไปยังไงให้ง่ายและสะดวก สนุกเป็นหน้าที่ของเรา

จริงๆแล้วตัวเลขแต่ละโรงแรมตลาดไม่เหมือนกัน อย่างประตูน้ำตลาดเป็นอาเซียน บางที่เป็นยุโรป แล้วแต่ทำเล จำนวนนักท่องเที่ยว 4 เดือนแรก(มกราคม-เมษายน 2567)เข้ามาแล้ว 12 ล้านคน แต่เป้าของ ททท.ตั้งไว้ 39 ล้านคน ก็อาจจะได้นะ รอลุ้น อย่างไรก็ดี กลุ่มสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (FETTA) ไปยื่นสมุดปกขาวให้กับนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นคำแนะนำในหลายๆเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ Repositioning ประเทศไทย คือรีแบรนด์ประเทศไทยใหม่ เพราะที่ผ่านมาคำว่า Amazing Thailand มันเก่าแล้ว และในแง่หนึ่งคำว่า Amazing ปนความหมายว่า “ราคาถูก” ถ้าเราตั้งแบบนี้ตอนนี้เราถูกสู้คนอื่นไม่ได้ เราต้องสร้างคุณค่าของเราใหม่ อีกอย่างพูดกันถึง”การท่องเที่ยวยั่งยืน” ผมว่าการท่องเที่ยวจะยั่งยืนได้ ต้องเหมาะสมพอดี การไปตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยว 39 ล้านคน ถามจริงๆมีการวางแผนงานไหมว่าจำนวนนี้แต่ละเดือนมาเท่าไหร่ แล้วเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม มาเข้าช่องทางไหน เที่ยวบินเป็นยังไง จะกระจายไปในแต่ละเมืองยังไง ถ้าคนอยากไปภูเก็ต แต่ภูเก็ตเต็มแน่น ล้น สุดท้ายสิ่งต่างๆ เราพร้อมไหม ตั้งแต่เรื่องไฟล์ทบิน สนามบินภูเก็ตวันหนึ่งลงได้กี่เที่ยว ในนั้นมีคนไทยเดิมเที่ยวอยู่แล้วเท่าไหร่ แล้วนักท่องเที่ยวเป็นเท่าไหร่ ห้องพักพอไหม มองย้อนกลับไปเราประสบภาวะภัยแล้ง น้ำไม่มี จะบริหารจัดการยังไง รัฐบาลต้องไปแก้ไข สิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่ใช้ว่าขายให้ได้เยอะๆ ทำราคาให้ได้ดีๆ แล้วจบ มันไม่ใช่ ทั้งเรื่องสภาพอากาศร้อน เรื่องท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ปีหน้าต้องวิเคราะห์กันใหม่ แล้วถ้าภาครัฐสนับสนุนทางใดทางหนึ่ง หรือทำเป็นโครงการคล้าย”เราเที่ยวด้วยกัน”ในอดีต ปรับจูนให้คนเที่ยวภายในประเทศที่ดีมากคือ ทำอย่างไรให้คนเที่ยววันธรรมดาได้ ซึ่งมี 2 ส่วน หนึ่ง-คนเกษียณอายุ เขาสะดวกเที่ยวทุกวันและเที่ยววันธรรมดา โรงแรมตั้งราคาถูกได้ สอง-คนทำงานมีเงินเดือน สังเกตว่าพวกนี้จะลาหยุดพ่วงกับลองวีคเอนด์ ทำยังไงให้คนสองส่วนนี้เที่ยวได้มากขึ้น

Advertisement

ภาครัฐและ ททท.ก็มีการจัดอีเว้นท์อย่างเทศกาลสงกรานต์ดึงคนมาเที่ยว

ผมพยายามบอกว่าอีเว้นท์ไม่ใช่จุดที่คนจะมาซ้ำ สงกรานต์คือคนจะมาเล่นน้ำเพราะฉะนั้นเล่นน้ำเมืองไทยคือวันที่ 13-16 เมษายน ทั่วโลกรู้ หรือที่พัทยาทั่วโลกรู้ว่ามีอะไร นี่คือสาระสำคัญ ถ้าอยากจะเพิ่มนักท่องเที่ยวจะต้องเพิ่ม “คาพิซิตี้”(Capacity) คือต้องเพิ่ม “จุดเล่น”ให้เขามีจุดเล่นน้ำเพิ่มขึ้น ไม่ใช่การไปขยายวันเล่นน้ำ หรือจัดอีเว้นท์ ต้องเพิ่มพื้นที่จุดเล่นน้ำขึ้นมาใหม่ แล้วต่อไปเดี๋ยวมันจะมีคาร์แรกเตอร์ของสถานที่เอง ยกตัวอย่างสีลม ก็มีเรื่องของกลุ่มหลากหลายทางเพศ(LGBT) เป็นต้น ดังนั้นต้องหาจุดไปเพิ่มในจังหวัดรองต่างๆ เช่นจังหวัดแพร่ ปีนี้เขาว่าสนุกมากแต่เราไม่เคยรู้ สงกรานต์คือการเล่นน้ำ คุณจะไปจัดคอนเสิร์ต มันไม่ใช่ แต่ต้องหาพื้นที่เล่นน้ำใหม่ๆ ครั้งแรกคนอาจไม่เยอะ แต่ทุกคนจะรับรู้ ซึ่งต้องใช้เวลาจัดสักปีสองปี

เห็นว่าการท่องเที่ยวกำลังวางแผนจัดงานลอยกระทงให้เป็นแบบสงกรานต์

ก็ได้ แต่ยังไงก็ไม่ส่งผลกระทบเท่าสงกรานต์ ลอยกระทงเต็มที่ใช้เวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง แล้วอย่าไปขยายนะ มันเป็นไปไม่ได้ที่คุณบอกว่าจะฉลองปีใหม่ 7 วัน เป็นไปได้ไหมล่ะ มันก็เหมือนกันแหละ

หน้าฝนจะโปรโมทให้คนเที่ยวคนพักโรงแรมยังไง?

ต่างชาติเขาตั้งใจมาเที่ยวอยู่แล้ว แต่ตอนนี้คือท่องเที่ยวในประทศมันหด รายได้ครัวเรือนกระทบค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ค่าไฟก็ไม่รู้ชะลอได้นานแค่ไหน ตั๋วเครื่องบินก็แพง สู้ไปเที่ยวต่างประเทศเลยดีกว่า รายได้เที่ยวในประเทศจึงยังต่ำอยู่ คิดว่าฟื้นยาก ถ้ารัฐจะช่วยต้องหาวิธีกระตุ้นให้คนเที่ยวในประเทศ ตอนนี้คงต้องกระตุ้นสังคมสูงวัย ทำยังไงให้จ่ายน้อยและมาเที่ยววันธรรมดา

คือจริงๆรัฐควรตั้งรายได้จากตัวเลขการท่องเที่ยว อย่าไปตั้งรายได้จากจำนวนคนหรือจำนวนนักท่องเที่ยว ถ้าเราจะได้รายได้เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม แต่นักท่องเที่ยวมาพอดีกับสนามบินเรา พอดีกับเที่ยวบิน พอดีกับจำนวนโรงแรมที่มันเหมาะสม มันดีกว่า เพราะฉะนั้น ต้องสนับสนุนให้โรงแรมพัฒนาตรงนี้ อาจเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือลดดอกเบี้ย อย่าลืมว่าโรงแรมไม่มีรายได้มา 2ปีกว่าตอนเกิดโควิด ไม่มีเงินเข้ามาเขาก็เปิดตามสภาพ รัฐก็ต้องเข้ามาสนับสนุน แต่ที่ผ่านมายังไม่มีโครงการอะไรพิเศษ แต่มีที่ขอไปคืองบจัดอบรมสำหรับโรงแรม 4 ดาว เพื่อให้พนักงานมีสกิลเพียงพอสำหรับทำงานในมาตรฐานโรงแรม 4 ดาว ขอไป 8 ล้านบาทจำนวน 158 แห่ง เป็นโรงแรมที่ต้องปรับค่าแรงเป็น 400 บาท ซึ่งก็พอเป็นกำลังใจให้เขาได้บ้าง

เห็นด้วยกับ “คาสิโน”สร้างรายได้?

ส่วนตัวผมว่าดี อเมริกาทำคาสิโนในทะเลทราย สำหรับประเทศไทยถ้าจะทำต้องไปทำในที่ที่ยังไม่พัฒนา ล่าสุดได้คุยกับคนที่เขาจะมาจัดงานโกลบอล ทราเวล ฟอรั่ม ในประเทศไทย คุยเรื่องคาสิโน คำตอบผมคือดีใช่ไหม แต่คำตอบของเขาคือดีมากๆ เห็นว่านายกรัฐมนตรีขอความเห็นเขาไป คาสิโนมันต้องมีลักษณะเป็น “ENTERTAINMENT CITY” ไม่ใช่มีตึก 2-3ตึกในพื้นที่หนึ่ง มาเพื่อไปบ่อนเล่นอย่างเดียว ไม่ใช่ แต่มันต้องเป็นเมืองที่มีทุกอย่างและมองไปให้ไกลกว่านั้น อย่างลาสเวกัสไม่ใช่บ่อนอย่างเดียว เขามีจัดคอนเสิร์ตระดับโลก ชกมวยชิงแชมป์โลก ประกวดนางงาม ทำอย่างนี้ยั่งยืน ต้องไปสร้างเมืองใหม่ถึงจะคุ้ม มันทำได้ หาพื้นที่โล่งๆจังหวัดที่ยังไม่พัฒนา เมืองรองก็ได้ ทางอีสานก็ได้ ทางเหนือตอนกลางก็ดี พัฒนาให้เป็นเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ซิตี้

นโยบายพัฒนาโรงแรมในไทยให้เป็นดิจิตอลไปถึงไหนแล้ว

ตอนนี้ทุกโรงแรมปรับตัวกันแล้ว เอาเป็นว่า 80% เพราะสุดท้ายดิจิตอลเข้ามาลดต้นทุนให้เรามาก จำนวนแรงงานในบางตำแหน่งลดไป ไม่ต้องมี ยกตัวอย่างโรงแรมผมที่ประตูน้ำมีพนักงานจองห้องพัก 4 คน ต้องอยู่ 24 ชั่วโมง แต่พอมีระบบออนไลน์ตัวเลขไปอยู่หน้าฟร้อนเรียบร้อยแล้ว ระบบบัญชีก็เหมือนกันใช้ AI ช่วยได้มาก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของงานบริการ การเจอลูกค้ายังมีความจำเป็น เพราะของแพงต้องเจอคน ถ้ายิ่งแพงมากเดินมาเจอหน้า สวัสดีค่ะคุณเอ คุณบี…โอ้โห ประทับใจ คราวหน้ามาพักอีก เดี๋ยวนี้มีอีกโมดูลหนึ่งเรียกว่า “Revenue Manager”จะวิเคราะห์ให้เลยว่าคุณต้องขายราคานี้ ขายช่องทางนี้ ไม่ต้องไปตั้งราคานิ่งๆ 24ชั่วโมง เอไอทำให้หมด

เรื่องความยั่งยืนSustainabilityก็ต้องทำ?

ความยั่งยืนเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุดแล้ว ต้องทำเลย THA พยายามรณรงค์ให้โรงแรมตื่นตัวเรื่องพวกนี้ เพราะทางยุโรปมีกฎหมายออกมาแล้ว ว่าบริษัทนำเที่ยวที่พากรุ๊ปทัวร์มาพักโรงแรม ถ้าโรงแรมไหนไม่ทำในเรื่องเหล่านี้ เช่น โลว์คาร์บอน, กรีนโฮเต็ล ฯลฯ เขาไม่ให้เข้าพัก และยังถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ในอนาคตเรื่องเหล่านี้จะหนักมากขึ้น อีกหน่อยประเทศในแถบอื่นก็ต้องทำ อย่างในอโกด้าเวลานี้เขาก็มีบอกให้ลูกค้ารู้ว่าโรงแรมไหนทำ ให้เป็นทางเลือกของลูกค้า ในอนาคตใครทำเรื่องนี้จะได้เปรียบ

ภาครัฐบอกว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในขณะนี้ ส่วนตัวคิดอย่างไร?

เห็นด้วย เพราะการท่องเที่ยวเป็นตัวเดียวที่สามารถสร้างรายได้เห็นผลทันที แต่สินค้าเกษตรต้องผ่านขบวนการผลิตอะไรต่างๆ มากมาย แต่การท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวอัดตูมเข้ามา เห็นผลทันที ศักยภาพประเทศเราพร้อมระดับหนึ่ง สามารถทำได้ดีกว่านี้อีก แต่อย่าเอาตัวเลขรายได้มาเป็นเคพีไอถ้าอยากได้แบบคุณภาพ 39 ล้านคนถ้าทำจริงๆ เป็นไปได้ แต่มีคุณภาพหรือเปล่า? ส่วนที่ว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะช่วยให้ประเทศรอดจากวิกฤตไหม อันนี้ตอบไม่ได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image