ศูนย์ฯทีเอ็มบีเผยภัยแล้งเอลนิโญฉุดเม็ดเงินหายจากระบบศก.กว่า 8.4 หมื่นล้านบาท

แฟ้มภาพ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ได้เสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับภัยแล้งว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งต่อเนื่องข้ามปี กระทบ 3 ฤดูกาลผลิตข้าว ภาคเหนือและภาคกลางเสียหายกว่าพื้นที่อื่นๆ แนะส่งเสริมปลูกพืชอื่นแก้แล้งได้ประโยชน์ในระยะยาว

ทั้งนี้ปรากฏการณ์เอลนิโญยังส่งผลกระทบกับปริมาณฝนในไทยตั้งแต่ปี 2557 และเห็นผลกระทบอย่างชัดเจนในปี 2558 ในช่วงฤดูฝนทำให้ชาวนาต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปีออกไปและไม่สามารถปลูกข้าวได้ในอีกหลายพื้นที่ และปรากฏการณ์นี้ยังส่งผลต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าไทยได้รับผลกระทบจากภัยแล้งยาวนานต่อเนื่องถึง 3 ปี โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ เกษตรกรชาวนา เนื่องจากภัยแล้งติดต่อกันกระทบผลผลิตข้าวลดลงแล้ว 3 ฤดูกาล คือ ข้าวนาปรัง 2557/58 ข้าวนาปี ปีการผลิต 2558 และข้าวนาปรัง 2558/59 โดยประเมินว่าผลผลิตลดลงรวม 10.02 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 84,228 หมื่นล้านบาท ซึ่งความเสียหายกว่าร้อยละ 50 เกิดกับผลผลิตข้าวนาปรังปี 2558/59(พฤศจิกายน 2558-มีนาคม 2559)

รายงานระบุอีกว่า ปริมาณฝนที่ลดลงต่อเนื่องทำให้ปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งอยู่ในภาคเหนือตอนล่างและเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับพื้นที่เพาะปลูกในภาคกลางมีปริมาตรน้ำที่สามารถใช้การได้รวมเหลือเพียง 2,425 ล้าน ลบ.ม. ลดลงจากระดับ 4,810 ลบ.ม. ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หรือลดลงร้อยละ 50.4 จึงถือได้ว่าปี 2559 เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรุนแรงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีคาดว่าพื้นที่ปลูกข้าวในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ภาคเหนือและภาคกลาง ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือซี่งปลูกข้าวนาปีและอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก โดยภาคเหนือมีปริมาณผลผลิตข้าวลดลงมากที่สุด 4.5 ล้านตัน มูลค่า 3.69 หมื่นล้านบาท จังหวัดที่ได้รับผลกระทบสูง ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก ส่วนภาคกลางได้รับผลกระทบมาเป็นอันดับสอง คือผลผลิตข้าวลดลง 4 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 3.19 ล้านบาท จังหวัดที่ได้รับผลกระทบสูง คือ สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และชัยนาท เป็นต้น

Advertisement

ปริมาณข้าวที่ลดลง มูลค่า 8.4 หมื่นล้านบาท คือเม็ดเงินที่หายจากระบบเศรษฐกิจของภูมิภาค ดังนั้น เศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าวจึงได้รับผลกระทบต่อเนื่อง เพราะเกษตรกรชาวนาคือกลุ่มผู้บริโภคที่สำคัญของเศรษฐกิจในพื้นที่โดยกลุ่มสินค้าคงทนได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก ได้แก่ ธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง สินค้าแฟชั่น ฯลฯ ในส่วนของธุรกิจ อาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าจำเป็น ได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นและราคาไม่สูงนัก อีกด้านหนึ่งชาวนายังเป็นผู้ผลิตที่สำคัญของเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย เมื่อไม่สามารถเพาะปลูกได้ตามปกติ ธุรกิจปุ๋ย เคมีภัณฑ์การเกษตร อุปกรณ์และเครื่องจักรกลเกษตร โรงสีข้าว ฯลฯ ก็ย่อมมีรายได้ลดลงเช่นเดียวกัน

รายงานระบุอีกว่า ปีที่ผ่านมาภาครัฐได้ดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง โดยส่วนหนึ่งเน้นเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวนาโดยตรง ซึ่งธุรกิจอุปโภคบริโภคในพื้นที่ก็จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย แต่กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรไม่ได้อานิสงส์เหมือนธุรกิจกลุ่มแรก เนื่องจากเกษตรกรชาวนาไม่สามารถเพาะปลูกได้ตามปกติ

“มาตรการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจทนแล้ง” เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากปริมาณผลผลิตข้าวที่ลดลง และยังได้ประโยชน์ทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทย คือ ปรับโครงสร้างพืชเศรษฐกิจให้มีความสมดุลมากขึ้น ลดปริมาณการใช้น้ำในภาคการเกษตร และเกษตรกรชาวนามีทางเลือกในการเพาะปลูก ส่วนประโยชน์ต่อเศรษฐกิจภูมิภาค ธุรกิจในพื้นที่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคได้ประโยชน์จากกำลังซื้อของเกษตรกร และธุรกิจภาคการเกษตรที่จะขายปัจจัยการผลิตจากการเพาะปลูกพืชทดแทนข้าว เสมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image