จับตากฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลฯของสหรัฐ อาจกระทบการเงินดิจิทัล

ภาพโดย Pete Linforth จาก Pixabay

จับตากฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลฯของสหรัฐ อาจกระทบการเงินดิจิทัล

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2567 รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากกฎหมาย The CBDC Anti-Surveillance State Act ผ่านมาบังคับใช้ในสหรัฐอเมริกา ผลต่อบทบาทของธนาคารกลาง ระบบการกำกับดูแล CBDC เงินสกุลคริปโต เงินสกุลดิจิทัลต่างๆของเอกชนจะเป็นอย่างไร ผลต่ออุตสาหกรรมการเงินดิจิทัลและระบบการเงินโลกในอนาคตเป็นอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องศึกษาติดตามดู ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบรรดานักลงทุนในตลาดการเงิน อุตสาหกรรมการเงิน พัฒนาการของระบบการเงินในอนาคต ระบบธนาคารกลางเท่านั้น แต่รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ใช้เงินดิจิทัลด้วย รวมทั้ง อะไร คือความสมดุลระหว่าง มิติความเป็นส่วนตัวของธุรกรรมทางการเงิน เสรีภาพทางการเงิน และ การแทรกแซงกำกับดูแลเพื่อประโยชน์สาธารณะ อีกด้วย ประเด็นเรื่องความสมดุลของบทบาทของรัฐ (ผ่านธนาคารกลาง) กับ การปกป้องความเป็นส่วนตัว ข้อมูลส่วนบุคคล เกี่ยวพันกับค่านิยมของแต่ละสังคมที่แตกต่างกัน

ตอนนี้กฎหมายป้องกันการสอดส่องจาก CBDC ผ่านสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกามาแล้วด้วยคะแนนเสียง 213 ต่อ 192 ขั้นต่อไปก็จะมีการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา หากผ่านทั้งสองสภา เมื่อประธานาธิบดีลงนามแล้วก็ประกาศบังคับใช้ ประเมินเบื้องต้น กฎหมายนี้ จะทำให้ธนาคารกลางมีบทบาทจำกัดลงมาก ระบบการเงินโลกในอนาคตอาจหันไปใช้ระบบ Free Banking มากขึ้น ความก้าวหน้าของระบบการเงินแบบกระจายศูนย์จะเกิดขึ้นในประเทศที่มีค่านิยมแบบประชาธิปไตยและเคารพในเสรีภาพส่วนบุคคล เราเห็นตัวอย่าวได้ในหลายประเทศในยุโรป และ สิงคโปร์ ขณะที่ ในประเทศที่มีค่านิยมแบบอำนาจนิยม เงินดิจิทัลจะออกโดยธนาคารกลาง แทนที่ระบบการเงินจะกระจายศูนย์มากขึ้น ประเทศกลุ่มนี้จะใช้เทคโนโลยีทางการเงินทำให้เกิดการรวมศูนย์ที่ธนาคารกลางมากขึ้นกว่าเดิม ธนาคารกลางจะมีอำนาจมากขึ้นและสามารถสอดส่องธุรกรรมทางการเงินได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก เมื่อมีการใช้เทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) จะมีบทบาทมากขึ้นกว่าเดิมผ่าน CBDC ปรากฎการณ์เหล่านี้ เราเห็นตัวอย่างได้ในประเทศจีน

รศ. ดร. อนุสรณ์  กล่าวต่อว่า การที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯออกกฎหมายปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ความเป็นส่วนตัว เสรีภาพทางการเงินป้องกันการสอดส่องจาก CBDC ที่ออกโดย Fed อาจจะทำให้หลายประเทศดำเนินการตาม การพัฒนาดอลลาร์ดิจิทัลของธนาคารกลาง CBDC เผชิญอุปสรรค อำนาจธนาคารในการออกดอลลาร์ดิจิทัลของธนาคารกลางลดลงและต้องขออนุมัติจากรัฐสภา ผลของกฎหมายต่อต้านการสอดส่องจาก CBDC ต่อนวัตกรรมการเงินดิจิทัลยังไม่ชัดเจน แต่การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลด้านการเงินนั้นสอดคล้องกับระบบเงินสกุลคริปโตและเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ต้องการให้มีการกระจายอำนาจทางการเงินและรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน อย่างไรก็ตาม การกำกับควบคุมโดยธนาคารกลาง การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินบางครั้งก็มีความสำคัญในป้องกันธุรกรรมทางการเงินจากกิจกรรมผิดกฎหมาย ความเสี่ยงต่อการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและประเด็นเรื่องความมั่นคง สื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยีทางด้านข้อมูลสามารถรวบรวมข้อมูลลูกค้า ประวัติการทำธุรกรรมต่างๆอย่างละเอียด พฤติกรรมในการใช้ชีวิต การบริโภคสินค้าและการใช้บริการ ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาสร้างโปรไฟล์และอัลกอริทึมคาดการณ์เพื่อเข้าพฤติกรรมในอดีตและอนาคตของผู้บริโภค ผู้บริโภคบางคนมองว่าศักยภาพของ AI เป็นเหมือนเครื่องมือที่เปิดให้ปรับเปลี่ยนบริการและสินค้าตามความต้องการเฉพาะบุคคล (Personalization)จำนวนมากๆได้พร้อมกัน เรียกว่า สามารถทำ Mass Customization ได้นั่นเอง

Advertisement

รศ. ดร. อนุสรณ์  กล่าวต่อว่า บทบาทของ “เงินดอลลาร์” ในระบบการเงินโลกก็ลดลง การไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยเงินเฟ้อเท่านั้น แต่สหรัฐอเมริกายังเผชิญ De-Dollarization จากการที่ธนาคากลางทั่วโลกลดการถือครองดอลลาร์และหันมาถือทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น ยังมีอุปทานเงินดอลลาร์จำนวนมากในตลาดการเงินและสหรัฐอเมริกามีการทำขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง การไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นไปเพื่อการประคับประคองไม่ให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงมากเกินไปด้วย เพื่อจูงใจให้คนถือเงินดอลลาร์จากอัตราผลตอบแทนดอกเบี้ย การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯในปีนี้น่าจะเกิดขึ้นในระดับที่เล็กลงและช้ากว่าตลาดคาดการณ์ โดยอาจปรับลดลงหนึ่งหรือสองครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง หรือ อาจไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยลงเลยในปีนี้ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ สนับสนุนเงินดอลลาร์ชะลอการลดการถือครองดอลลาร์ของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ดึงดูดเงินทุนไหลเข้า รักษาความสามารถในการกู้ยืมเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล 35.6-35.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทางด้านประเทศไทย ขณะนี้เรามีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง 2.259 แสนล้านดอลลาร์ และ ยังมีการถือครองทองคำมากขึ้นและเพิ่มสัดส่วนของทองคำในทุกสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นตามลำดับจากระดับ 15,982 ล้านดอลลาร์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 มาอยู่ที่ระดับ 17,237 ล้านดอลลาร์ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2567

รศ. ดร. อนุสรณ์  กล่าวต่อว่า ส่วนสถานการณ์การลงทุนและเศรษฐกิจของไทยจะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงทางการเมืองจากศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ต้องติดตามและประเมินว่า ดุลยภาพใหม่การเมืองไทยหลังเกมแห่งอำนาจนอกวิถีประชาธิปไตยแบบรัฐสภาจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร แต่ช่วงรอผลการตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญ นักลงทุนในตลาดการเงินจะชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจน เสถียรภาพทางการเมืองลดลง อาจมีการถ่วงดุลเชิงอำนาจมากขึ้นจากอำนาจที่ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากมีการใช้กลไกขององค์กรอิสระ (ที่ไม่อิสระ) และ กลไกระบบยุติธรรม (ที่ไม่ยุติธรรม) ภายใต้รัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจอย่างไม่เป็นธรรมและไร้มาตรฐานแล้วในการตัดสินคดีทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจจะนำมาสู่ “วิกฤตการณ์ทางการเมือง” รอบใหม่ได้ ภาวะดังกล่าวหากพัฒนาไปสู่ความรุนแรงจะกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนมาก อาจมีการย้ายฐานการผลิตออกจากไทยมากขึ้น วิกฤติการเมืองรอบใหม่สั่นคลอนไม่เพียงแต่เสถียรภาพรัฐบาลเท่านั้น อาจส่งผลสะเทือนต่อระบบการเมืองและระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย ความมีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นหลักประกันขั้นต้นของความมั่นคงทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน ชนชั้นนำผู้อยู่ในวังวนของเกมแห่งการช่วงชิงอำนาจพึงรำลึกว่า ต้องไม่เล่นเกมจนกระทั่งสร้างความเสียหายต่อระบบต่างๆของประเทศและความเดือดร้อนต่อประชาชน การเล่นเกมช่วงชิงอำนาจของชนชั้นนำต้องหาจุดดุลยภาพใหม่เพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวก (Positive-sum game) ไม่ใช่ Zero-sum game

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image