พิชัย ไม่พอใจ จีดีพีแค่ 2.5 ชี้ศักยภาพไทย ต้องโต 3.5 จ่ออัดเงิน 3 แสนล้าน-ปลดหนี้ NPL

“พิชัย” เผย GDP ตก เพราะการผลิตตก เป็นวงจร ต้องกระตุ้นกำลังซื้อประสานกับปรับโครงสร้าง เผย รายงานทุกสองอาทิตย์ ชี้ ไม่พอใจ GDP แค่2.5 เชื่อเรื่องดอกเบี้ยคุยอีกไม่นาน ชงเพิ่มเวลาฝึกงานหวังเพิ่มประสบการณ์แรงงาน

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้สัมภาษณ์ หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ นัดแรก ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ว่า คงจะเป็นที่ทราบกันดีว่าเศรษฐกิจบ้านเรา ผลประกอบการณ์เป็นอย่างไร จีดีพีเท่าไหร่ ก็ผลของไตรมาสแรกนั้น ตามที่ได้รายงานการประชุมครม.ครั้งที่แล้วนั้น ต่ำกว่าที่คาด จาก 2.7 ก็คาดว่า จะเหลือ2.5 ก็ต้องมานั่งคุยกันว่าปัญหาคืออะไร ปัญหาเพิ่งเกิดหรือเกิดนานแล้ว และวันนี้ควรเอาปัญหาทั้งหมดมาดูเรา จะได้เริ่มว่า อะไรบ้างที่ต้องแก้ไขเชิงโครงสร้างระยะยาว อะไรต้องแก้ไขระยะกลาง อะไรต้องแก้ไขเฉพาะหน้า เพราะว่ามันรอเวลาไม่ไหว วันนี้ก็มีการรายงานว่า จีดีพีเราไม่ได้เพิ่งจะตก มันตกมา 10 กว่าปีแล้ว มันตกมาตามลำดับ ปีที่แล้วก็อยู่ที่ 1.9 ไตรมาสแรกของปีนี้ก็อยู่ที่1.5

นายพิชัย กล่าวว่า ข้อที่น่าสนใจก็คือว่า เมื่อดูศักยภาพนั้นประเทศไทยก็มีศักยภาพที่ดี อยู่ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีพื้นฐานที่ดี มันไม่น่าจะต้องอยู่ที่ 1 กว่าหรือ 2 กว่า อย่างน้อยก็ควรจะ 3.5 ขึ้นไป เราอยู่ต่ำกว่า 3.5 มาตลอด อันนี้เป็นสัญญาณที่หนึ่ง สัญญาณที่สอง เมื่อเราลองดูเพื่อนบ้านหรือคู่ค้าคู่แข่งใกล้นี้นั้น จีดีพีโตกว่าเราหมดเลย ส่วนใหญ่อยู่ที่ 4-6 เป็นเครื่องยืนยันว่า ของเรานั้นมีปัญหา เราก็มาดูว่า อย่างไรดี

อย่างที่ทราบว่า ระบบเศรษฐกิจก็ผลักดันด้วยระบบการผลิต ซึ่งนำไปสู่การจ้างงาน และการบริโภคเป็นวงจรไปตามลำดับ ทีนี้เมื่อมาดูพบว่า ใช้กำลังการผลิตเหลือแค่ 57.2% ซึ่งเดิมอยู่ที่ 60 กว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งแม้แต่ 60 กว่าก็ยังต่ำเกินไป ก็ต้องมาดูว่า ทำไมถึงผลิตต่ำ ก็พบว่า ผลิตต่ำ เพราะผู้บริโภคไม่ซื้อ เพราะไม่มีรายได้ พันกันเป็นวงจรไปอีกเช่นกัน เราก็มาดูว่า จะทำอย่างไรที่จะกระตุ้นการผลิต และกำลังซื้อขึ้นมาได้ โดยเราไล่คุยกันทีละอุตสาหกรรมเลย ไม่ว่าจะการเกษตร เทคโนโลยี รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่อุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการผลิตอย่างการท่องเที่ยว ภาคพลังงาน เราก็ดูทั้งหมดมาแล้ว พบว่า ท่องเที่ยวค่อยๆฟื้น ใกล้จะกลับมาสุดจุดที่เราเคยเป็น

Advertisement

นายพิชัย กล่าวต่อว่า เมื่อมาดูด้านอุตสาหกรรม ทำอย่างไรให้เกิดการผลิตก็พบว่า รายใหญ่ยังสู้ไหว ยังพอไปได้อยู่ แต่รายย่อยนั้นสู้ไม่ไหว เพราะเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน เพราะว่าเศรษฐกิจไม่ดี ขายไม่ดี ลามมาถึงครัวเรือน พอเห็นอย่างนี้เรา จึงหยิบปัญหาทั้งหมดมาดูว่า เราจะแก้อะไรบ้าง แต่ที่แน่ๆ เราจะต้องแก้ปัญหาสภาพคล่องเป็นปัญหาเร่งด่วน แต่ในภาคการผลิตนั้น เป็นปัญหาที่จะต้องค่อยๆแก้ไปในระยะยาว แต่งานทุกอย่างไม่ได้ทำกระทรวงเดียวเสร็จ เราก็บอกวันนี้ เรามาเจอกัน เราก็จะมาตั้งว่า งานไหนที่จะทำกี่กระทรวงและตั้งคนประสานงานขึ้นมา

ส่วนในเรื่องงานเฉพาะหน้าในส่วนเรื่องสภาพคล่อง ท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านก็เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจมี ทางฝ่ายที่ประชุมเลยรู้ว่า หากเราจะแก้พวกนั้นใช้เวลา ความจำเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจต้องมี ซึ่งทางรัฐบาลทราบอยู่แล้ว จึงต้องหางบประมาณมากระตุ้น ปีนี้เราเราก็มีแผนที่จะตั้งงบประมาณเพิ่มเติม 122,000 ล้านบาท และปีหน้าตั้งไว้อีก 160,000 ล้านบาท รวมเกือบ 300,000ล้านบาท ก็มาดูกันต่อไปว่า เราจะจัดอย่างไรให้อยู่ในวิสัยที่จะจัดได้ มีวินัยทางการเงินการคลัง ถึงจะตึงหน่อย แต่ก็ยังอยู่ในกรอบที่ทำได้

เพราะฉะนั้นเรื่องเงินต้องเร็ว ต้องทำเลย เพื่อให้ทุกคนตื่นฟื้นมา ท่านจะเห็นว่า เดี๋ยวธนาคารภาครัฐจะมีหลายโครงการเพื่อให้คนหลุดจากสภาพหนี้ที่ติดได้ แน่นอนว่า ภาครัฐต้องใช้เงินบ้าง และจัดโครงสร้างอะไรใหม่เพื่อให้เค้าหลุดออกมาได้ลืมตาอ้าปากและทำงานได้ ส่วนทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็บอกว่าในสำหรับสถาบันการเงินพาณิชย์ที่ไม่ใช่ภาครัฐอาจจะมามองดูถึงความยืดหยุ่น ก็มีทั้งระยะปานกลางที่ต้องมาปรับปรุงโครงสร้าง เพื่อเป็นส่วนที่จะมาช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้และต้นทุนถูกลง

Advertisement

สำหรับตัวที่จะช้าลงในเร็ววันนี้เราก็ต้องมีมาตรการบางอย่าง หลังจากพบท่านผู้ว่าฯวันนั้นจริงๆ ก็เตรียมนัดคุยกันอีก เราพบเรื่องหนึ่งที่เห็นว่า ค่าเงินเฟ้อต่ำผู้บริโภคอาจมองว่า ของแพง แต่ผู้ผลิตมองว่าถูกไป เราจึงต้องมาหาจุดที่พอดี ค่าเงินเฟ้อที่ทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคอยู่ได้ ตรงนี้ก็นำมาซึ่งอัตราดอกเบี้ยทางนโยบายนั่นเอง พอเราเข้าใจโจทย์ตรงกัน การคุยก็จะค่อยๆแคบเข้ามาเป็นคำตอบ

“ท่านนายกฯก็ได้ให้ข้อคิดเห็น และสรุปมาว่า อะไรที่ทำได้เลยก็ให้ไปทำและนำมา แต่ทุก 2 อาทิตย์ใครทำอะไรให้หยิบขึ้นมาแล้วมารายงานความคืบหน้า เพื่อให้เกิดการผลักดันขับเคลื่นเศรษฐกิจไปพร้อมกับระบบการเงินการคลังร่วมกัน ผมก็มีหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน ชี้ให้เห็นปัญหาและผลักดันให้เกิดขึ้นตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี” นายพิชัย กล่าว

เมื่อถามว่า จะมีการออกมาตรการเพื่อให้แต่ละหน่วยงานเห็นผลเป็นรูปธรรมหรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า ก็อย่างที่เรียนให้ทราบว่า มาตรการเฉพาะหน้าตอนนี้เลยคือ ทำให้คนที่ไม่ไหว ให้ออกจากสภาวะ NPL และกลับเข้าถึงแหล่งเงินทุน เรื่องอื่นๆต้องมาดูกันว่า หากเรากระตุ้นเศรษฐกิจเข้าไป ภาคการผลิตเพิ่มการบริโภคเพิ่ม ก็ต้องมีมาตรการการกระตุ้น เราก็ต้องมาคิดว่า การกระตุ้นปกติเป็นอย่างไร การกระตุ้นที่มีขนาดที่ได้ผลต่อเนื่องด้วยการขับเคลื่อนเรื่องๆอื่นก็จะมาประสานกัน เพราะหากกระตุ้นอย่างเดียวแล้วหยุดก็คงไม่เป็นผล

การทำงานก็จะออกมาในลักษณะนี้ บ้านเราจุดแข็งในอนาคตคืออุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งภาคนี้อาจจะต้องใช้เวลานิดนึงนอกเหนือจากการผลิต เพราะในต่างประเทศผลผลิตเหล่านี้ ไม่ว่า จะข้าวหรือมัน หรืออย่างอื่นในบางประเทศเริ่มขายกันที่กิโลกรัมละ 7 เหรียญสหรัฐ เขาสามารถใช้เทคโนโลยีต่างๆเข้ามาและขายได้ถึงกิโลละ 7 เหรียญ และบางอย่างหากทำยากมากๆอาจถึงกิโลละ 150 เหรียญ พวกนี้เริ่มเกิดแล้วเราก็ต้องใช้สิ่งเหล่านี้เข้ามาสู้ แต่แน่นอนว่า การขับเคลื่อนบนสินค้าปกติยังต้องไปก่อนก็คือเพิ่มผลผลิต วันนี้ผลผลิตเราต่อไร่ต่ำ ไม่ว่าจะเรื่องคุณภาพดิน ปริมาณน้ำแล้งก็ต้องแก้ไขตรงนี้ก่อน แต่แน่นอนว่า สินค้าที่จะอัพเกรดขึ้นมาเป็นราคาหลายๆเท่าก็จะค่อยๆเกิดขึ้นมาและมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมาก

เมื่อถามว่า ปีนี้จะเห็น GDP เกิน 2.5 ได้หรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า เราต้องทำทุกวิถีทาง แต่ส่วนตัวแล้วตนไม่พอใจแค่ 2.5 หรอก

เมื่อถามว่า อัตราดอกเบี้ยจะมีการประสานนโยบานก่อนการประชุมครม.ครั้งหน้าหรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า จริงๆมีตารางอยู่ ก็ไม่ไกล เพียงแต่ว่า การทำเรื่องนี้กลับมาที่เรื่องกรอบเงินเฟ้อ ถ้าอยากให้ของถูก ก็ทำให้ดอกเบี้ยแพงหน่อย ถ้าอยากให้ของแพงดอกเบี้ยก็ต้องลดลงมา ตรงนี้เราก็ต้องมาดูว่า ควรจะตั้งเท่าไหร่ ก็ต้องมานั่งคุยกัย เรามีกนง.ที่วิเคราะห์ข้อมูลอยู่ เราก็ต้องฟังว่ามีความคิดเห็นอย่างไร เพราะในที่สุดก็อยู่ที่จะทำมา ไม่นานหรอก วันนี้เอาข้อมูลทั้งหมดวางบนโต๊ะแล้ว เราเกิดอะไรขึ้นใน 15 ปีที่ผ่านมา ปัญหาคล้ายๆเดิมแต่มันรุนแรงขึ้น เห็นภาพเดียวกันแล้วตนติดว่า การคุยอันนี้จะใกล้ขึ้น ขอให้รอเวลาสักหน่อย

เมื่อถามถึง เม็ดเงินจากการลงทุนของธุรกิจต่างประเทศ นายพิชัยกล่าวว่า เม็ดเงินที่จะเข้ามา จริงๆเรื่องอุตสาหกรรมมี 2 ประเภท เรายังผลิตสินค้าเก่าอยู่ พวกนี้จะมานั่งดูกันว่า อันไหนที่ยังอยู่ได้ ส่วนเรื่องนี้ตนได้ดูจากข้อมูลของบีโอไอ มีคุยมาต่อแถวลงทุนอยู่มาก ยังค้างอยู่หลายแสนล้าน ส่วนใหญ่รอเรื่องความรวดเร็วของการทำธุรกิจ ซึ่งเราต้องปรับ อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องพลังงานสะอาด สีเขียว ก็จะอยู่ในแผนที่เราจะต้องทำให้เข้าโรงงานเหล่านี้ได้เลย

ส่วนความรวดเร็วนั้นคิดว่า จะพอดีกันกับการเข้ามาเซอร์เวย์และก่อสร้างโรงงานให้เกิดขึ้นได้พร้อมกันกับธุรกิจพอดี มันเพิ่งมาเกิดเราก็ต้องเร่งทำตามความต้องการของเค้าให้ได้ จากการเดินสายประเทศก็ทำให้เราเข้าใจว่า เค้าต้องการอะไร อีกเรื่องคือแรงงานที่เรารู้ว่า คนไทยมีความรู้เยอะแต่ขาดประสบการณ์ เราต้องมาคุยกันว่า ในการเรียนการสอนในสาขาใดอาจจะมีการฝึกงานให้มากขึ้นไม่ใช่ 3 เดือนแล้วกลับมารับปริญญา อาจจะต้องให้ฝึกกันเป็นปี รูปแบบของการสร้างคนก็จะต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย หากเราทำทุกอย่างได้ใน 10 เดือนก็คงจะเป็นผู้วิเศษ แต่อย่างไรก็ตาม ตนจะไม่ยอมรับเรื่องพวกนี้ยังไงก็ต้องเร่งสุดชีวิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image