ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เจาะบทบาท”กสทช.” พาคนไทยก้าวสู่4.0

ยุคนี้ถือเป็นยุคที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการประกาศนโยบายของรัฐบาลในการก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0ที่จะมีการสนับสนุนการเกิดของนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ อย่างเต็มตัว

ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถือเป็นอีกหน่วยงานสำคัญ ที่มีภารกิจการช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของประเทศ

“มติชน” มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ นายฐากร ตัฑณสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ซึ่งเป็น 1 ในแขกรับเชิญพิเศษที่จะขึ้นพูดในงาน “ก้าวที่ 40 มติชน ก้าวคู่ประเทศไทย 4.0” ในหัวข้อเสวนา “สตาร์ต (อัพ) แบบไหน พลิกโฉมเศรษฐกิจไทยสู่ 4.0” ว่าในมุมของ กสทช.จะมีการถ่ายทอดเรื่องราวในมุมใดออกมาบ้าง

นายฐากรกล่าวว่า แนวทางที่จะพูดในงาน “ก้าวที่ 40 มติชน ก้าวคู่ประเทศไทย 4.0” จะพูดถึงประเทศไทยเมื่อเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึงทุกพื้นที่จะเป็นอย่างไร จะมีธุรกิจใดบ้างที่จะต้องปรับตัว รวมทั้งแนวทางของธุรกิจเกิดใหม่ หรือกลุ่มสตาร์ตอัพ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยจะเดินไปในทิศทางใด ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำนักงาน กสทช.ได้มีการทำบทวิจัยออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นขอยกตัวอย่าง 3 ธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย

Advertisement

1.ธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะเอเยนซี่กรุ๊ปทัวร์ เนื่องจากคนสมัยนี้มีแนวโน้มการซื้อทัวร์เพื่อไปท่องเที่ยวยังที่ต่างๆ น้อยลง เพราะเพียงแค่หาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ก็สามารถจัดโปรแกรมท่องเที่ยวที่ตรงใจของตนเองได้ ต่างจากบริษัททัวร์ที่จะมีบางสถานที่ที่เราอาจจะไม่อยากไปเท่าใดนัก ส่วนการเดินทางการสามารถหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตได้เช่นกัน ว่าการจะไปสถานที่ต่างๆ ทำได้อย่างไรบ้าง อีกทั้งยังสามารถเปิดกูเกิลแมปแผนที่บนโทรศัพท์มือถือประกอบการเดินทางได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยก่อนการจองตั๋วเครื่องบินหรือที่พักอาจต้องพึ่งพาบริษัททัวร์ แต่ยุคนี้สามารถเลือกและซื้อตั๋วสายการบิน เลือกช่วงเวลาที่ต้องการเดินทาง และเลือกจองที่พักได้ด้วยตนเองผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น

2.ธุรกิจการแพทย์ เนื่องจากในอนาคตเมื่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไปถึงทุกพื้นที่ จะทำให้แพทย์ที่อาศัยอยู่ในชนบท สามารถติดต่อสื่อสารกับแพทย์ที่อยู่ในเมือง หรือแพทย์เฉพาะทาง เพื่อช่วยวินิจฉัยหรือจ่ายยาให้แก่คนไข้เคสยากๆ ได้ ซึ่งจะส่งผลให้คนในชนบทหรือที่ห่างไกลไม่ต้องเดินทางเข้าไปรักษายังโรงพยาบาลในเมือง ทำให้ตามโรงพยาบาลจะลดความแออัดลง แต่ในทางกลับกันในส่วนจองตัวรายได้ก็จะลดลงตามไปด้วย

3.ธุรกิจสถาบันการเงิน
เนื่องจากทุกวันนี้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้ทุกที่ทุกเวลา ส่งผลให้ความจำเป็นในการเดินทางไปทำธุรกรรมยังธนาคารลดน้อยลง จึงส่งผลให้อนาคตอันใกล้นี้ธนาคารต่างๆ จะมีสาขาลดน้อยลง ซึ่งเป็นกระแสที่ทยอยเกิดขึ้นแล้วทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ในงาน “ก้าวที่ 40 มติชนก้าวคู่ประเทศไทย 4.0” จะมีการพูดให้แนวคิดเรื่องการปรับตัวของภาคธุรกิจในส่วนต่างๆ เพื่อความอยู่รอด เช่น ภาคการเงิน ควรเริ่มที่จะเดินหน้าสนับสนุนการเกิดของสตาร์ตอัพด้านการเงิน หรือฟินเทค เพื่อให้บริการทางการเงินที่สอดรับกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน

Advertisement

สำหรับบทบาทของ กสทช.ในการสนับสนุนการเดินก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ประกอบด้วย การสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมประเภทอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่ง กสทช.ได้รับหน้าที่จาก คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดดีอี) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้ดำเนินการติดตั้งโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน ไปยัง 18,820 หมู่บ้าน แบ่งเป็นพื้นที่ชนบท 14,900 หมู่บ้าน และพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน โดยเป็นใช้งบจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.)

นายฐากรยังกล่าวถึงขั้นตอนการวางโครงข่ายอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านของ กสทช.ว่า ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการจ้างให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ที่จะติดตั้งโครงข่ายทุกจุดว่าแต่ละพื้นที่ เหมาะสมแก่การใช้เทคโนโลยีใด พร้อมทั้งกำหนดราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างผู้มาดำเนินการรับงานติดตั้งโครงข่าย คาดจะสามารถออกประกาศจัดซื้อจัดจ้างได้ในเดือนมีนาคม ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ในเดือนมิถุนายน และสามารถติดตั้งโครงข่ายได้แล้วเสร็จ เร็วที่สุดคือเดือนธันวาคม

นอกจากนี้บทบาทของ กสทช.ในการช่วยขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 อีกประการหนึ่ง คือ การขยายโครงข่ายไร้สาย โดยการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งจากนี้ กสทช.มีแผนจะจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ โดยคลื่นความถี่ย่านดังกล่าว กสทช.จะเริ่มเจรจากับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าของคลื่นความถี่ทันทีที่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. …. (พ.ร.บ.กสทช.) ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมีการประกาศใช้ ลงในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะสามารถจัดการประมูลอย่างเร็วที่สุดคือเดือนธันวาคม 2560 จากนั้นจึงจะมีการจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 850 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ หลังหมดสัญญาสัมปทานในปี 2561 และคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ในปี 2568 ตามลำดับ ทั้งนี้ในการจัดสรรใบอนุญาตแต่ละคลื่นความถี่ หากอ้างอิงราคาเมื่อครั้งประมูล 4จี ทาง กสทช.เชื่อว่าจะนำเงินเข้าประเทศได้ไม่ต่ำกว่าใบอนุญาตละ 40,000 ล้านบาท รวมทั้งเมื่อมีการจัดสรรคลื่นความถี่ไปแล้ว ภาคเอกชนจะมีการลงทุนโครงข่าย ทำให้เกิดการจ้างงานต่างๆ และเกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ราว 40,000 ล้านบาทต่อใบอนุญาตเช่นกัน

“ยอมรับว่าปัจจุบัน คลื่นความถี่ที่มีให้บริการอยู่ในตลาดเวลานี้เมื่อนำของผู้ประกอบการทุกค่ายรวมกันจำนวน 360 เมกะเฮิรตซ์ ถือได้ว่ามีไม่เพียงพอ เพราะสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ประกาศมาแล้วว่า คลื่นความถี่ในการให้บริการเชิงพาณิชย์แก่ประชาชนควรมีไม่ต่ำกว่า 700 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อรองรับพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้งานโทรศัพท์ที่ใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น เทคโนโลยี 5จี และ Internet of Things หรือไอโอที (เทคโนโลยีสมองกลฟังตัวในอุปกรณ์ต่างๆ) แต่จากกรณีดังกล่าว หาก กสทช.ดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่ได้ตามแผนงาน ในปี 2563 ประเทศไทยจะมีคลื่นความถี่ไว้ให้บริการในเชิงพาณิชย์มากกว่า 800 เมกะเฮิรตซ์ ที่มากพอจะให้รองรับพฤติกรรมการใช้งานที่เปลี่ยนไปและเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งจะดันประเทศไทยสู่การเป็นอันดับ 1 ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน”

นายฐากรกล่าวปิดท้ายด้วยว่า ในแง่การปรับตัว อยากให้คนไทยเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อเทคโนโลยีในยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างใกล้ชิด เพราะหลังจากนี้ในช่วง 4-5 ปี โลกจะเข้าสู่ช่วงที่เทคโนโลยีจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการมาของเทคโนโลยีไอโอทีที่จะเปลี่ยนอุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ รอบตัวเราให้เป็นอุปกรณ์อัจฉริยะทั้งหมด อาทิ ที่ประเทศเยอรมนี ขณะนี้มีการทดลองรถไร้คนขับแล้ว หรือในประเทศ

อื่นๆ มีการทดลองตู้เย็นอัจฉริยะ ที่สามารถตรวจสต๊อกของภายในตู้เย็น เช่น หากน้ำดื่มหมดตู้เย็นจะประมวลผลและทำการสั่งซื้อไปยังร้านค้า เพื่อนำน้ำดื่มมาส่งแบบอัตโนมัติ หรือในบางประเทศมีการทดลองการสั่งการปิด-เปิดไฟฟ้าที่บ้านได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เราต้องเตรียมพร้อมปรับตัวให้ดี

ข้อมูลที่เลขาธิการ กสทช.เกริ่นให้ฟังนั้นนับเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าในยุคต่อจากนี้ไปควรปรับตัวเช่นไรจึงจะอยู่รอดได้ ผู้ที่สนใจอยากฟังข้อมูลเต็มๆ ไปพบคุณฐากร เลขาธิการ กสทช. ตัวจริงเสียงจริงได้ที่งาน “ก้าวที่ 40 มติชนก้าวคู่ประเทศไทย 4.0” วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ เวลา 08.30 น. ที่โรงแรมพูลแมน รางน้ำ ลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ www.matichon.co.th

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image