บสย.รับนโยบายค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี 5 หมื่นล้าน เทน้ำหนักอุ้ม3กลุ่ม7หมื่นราย จ่อ’คลัง’เคาะแพลน

บสย.รับนโยบายค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี 5 หมื่นล้าน เทน้ำหนักอุ้ม3กลุ่ม7หมื่นราย จ่อ’คลัง’เคาะแพลน

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการและเอสเอ็มอีรายใหม่ ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจสั่งการ ว่า ก่อนหน้านี้ บสย.ได้ขอขยายวงเงินตามมาตรการการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (PGS11) วงเงิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และรอการพิจารณาเห็นชอบของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) คาดว่าจะมีความคืบหน้าในการประชุมครม.สัปดาห์หน้า พร้อมกันนี้ บสย. ได้เตรียมจัดทำรายละเอียดและแผนงานค้ำประกันเพื่อให้เอสเอ็มอีรายใหม่เข้าถึง ซึ่งจะมีทั้งการค้ำประกันแบบเดิมที่บสย. ดำเนินการอยู่แล้ว และเตรียมแบบใหม่ๆที่เป็นแพคเกจที่เหมาะสมกับเอสเอ็มอีรายเล็ก และรายใหม่ พร้อมกับหารือและลงนามความร่วมมือกับพันธมิตรธนาคารต่างๆ เพื่อผลักดันโครงการนี้ และน่าจะเริ่มได้เร็วที่สุดไม่เกินเดือนมิถุนายนนี้

นายสิทธิกร กล่าวว่า เบื้องต้น บสย. มองไว้ 3 กลุ่มที่ต้องมีการช่วยเหลือต่อเนื่อง คือ 1. กลุ่มที่ประสบปัญหาและยังไม่ฟื้นได้ดีนักตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 2. ธุรกิจที่เริ่มฟื้นแล้วแต่ต้องการขยายธุรกิจแต่ยังขาดเงินทุน ซึ่งตอนนี้มีหลายธุรกิจที่ยื่นขอให้บสย.ค้ำประกัน อย่างล่าสุดเฟอร์นิเจอร์รายหนึ่ง พอเขาได้เงินลงทุนเพิ่มโรงงาน สามารถสร้างยอดขายเพิ่มถึง 300 ล้านบาท เป็นต้น 3. กลุ่มเปราะบางและอาชีพอิสระ จากเดิมที่ต้องพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบก็จะช่วยให้เข้าระบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง และขอบคุณแทนเอสเอ็มอีทุกกลุ่ม ซึ่งมาตรการให้ค้ำประกัน 30% เราอาจปรับเกณฑ์ให้เหมาะสมมากที่สุด บางกลุ่มอาจค้ำให้ 22% บางรายดันถึง 40% วงเงินปล่อยกู้มีทั้งแต่ 2-3 แสนบาทถึง 40-100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แนวทางที่บสย. เตรียมไว้ ก็ต้องเสนอให้กระทรวงการคลังและครม.เศรษฐกิจเห็นชอบก่อน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่รัฐต้องการให้เร่งค้ำประกันเป็นอันดับแรก

” ซึ่งเงิน 50,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถค้ำประกันและส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ประมาณท 70,000 ราย โดยทุก 1 บาท ตามหลักหมุนเวียนในระบบได้ 4 เท่า ดังนั้น 5 หมื่นล้านบาท ก็จะสร้างเงินในระบบประมาณ 2 แสนล้านบาท ที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจ ” นายสิทธิกร กล่าว

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image