รู้ไว้ใช่ว่า – 6 เทคนิครู้ได้ไงรถ ‘เสียศูนย์’

อาการเสียศูนย์ของรถยนต์เป็นสิ่งต้องระมัดระวัง เพราะอาจทำให้การเคลื่อนที่ของรถมีปัญหา จนเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเกิดความสูญเสียรุนแรงได้

ยานยนต์ “มติชน” มีข้อแนะนำการสังเกตได้ด้วยตนเอง เพราะบางครั้งอาจเกิดอาการกินซ้าย หรือกินขวา หรือเรียกอีกอย่างว่า “เสียศูนย์”

สามารถสังเกตได้ดังนี้

1.ขณะขับทางตรง รถเกิดอาการเบนออกไปทางซ้ายหรือขวา ทำให้ผู้ขับต้องขืนพวงมาลัยตลอดเวลา

Advertisement

2.ขณะวิ่งเข้าโค้ง รถยนต์จะเสียการทรงตัวง่ายกว่าปกติ

3.การสึกของยางผิดไปจากเดิม หรือที่เรียกว่ายางสึก

4.ขณะวิ่งรอยล้อหลังจะไม่วิ่งไปทับรอยล้อหน้า

Advertisement

5.รัศมีวงเลี้ยวทางด้านซ้ายและขวาไม่เท่ากัน

6.ขณะเหยียบเบรกจะเกิดอาการปัดไปด้านใดด้านหนึ่ง

อาการเหล่านี้หากไม่รุนแรง ผู้ขับขี่สามารถนำรถเข้ารับการเช็กที่ศูนย์บริการใกล้บ้าน เพื่อให้ช่างปรับตั้งศูนย์ล้อใหม่ แต่ถ้าหากอาการดังกล่าวอยู่ในขั้นรุนแรง ควรนำรถเข้าซ่อมทั้งระบบทันที อาจจะต้องเปลี่ยนลูกหมากทั้งชุด ปรับแต่งองศาปีกนกและส่วนอื่นๆ ให้ได้ค่าองศามาตรฐานตามเดิมที่ออกมาจากโรงงานผลิต และควรเลือกศูนย์บริการมาตรฐาน ช่างมีความชำนาญและประสบการณ์สูง เพราะหากซ่อมไม่ถูกวิธี หรือใช้เครื่องดึงตัวถังไม่ได้มาตรฐาน องศาหรือค่ามาตรฐานของโครงสร้างตัวถังจะเสียไป จะส่งผลต่อการยึดเกาะถนนด้อยลง

ฉะนั้น ผู้ขับขี่รถจึงควรดูแลรักษาระบบช่วงล่าง รวมทั้งลูกหมาก คันชักคันส่ง เมื่อเสื่อมสภาพไม่ควรฝืนใช้งานไปเรื่อยๆ เพราะจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่บนถนนขรุขระ หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ไม่ควรใช้ความเร็วสูง ควรชะลอความเร็ว และหลีกเลี่ยงหลุมขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม แม้บางคนเอารถยนต์ไปตั้งศูนย์มาแล้ว ทำไมยังวิ่งไม่ตรงอีก ความจริงรถมีอาการกินซ้ายหรือขวา อาจเกิดจากปัจจัยอื่นอีก เช่น

1.ชิ้นส่วนอะไหล่ช่วงล่างหลวม ช่วงล่างของรถยนต์ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยบอลจอยต์ หรือลูกหมาก และบู๊ตอาร์มต่างๆ เพื่อยึดลิงก์ต่างๆ ให้เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ถ้าจุดยึดเหล่านี้หลวมจะทำให้มุมล้อหรือศูนย์ล้อควรจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามการเคลื่อนไหว ดังนั้น การตั้งศูนย์อย่างมีประสิทธิภาพทุกครั้งจะต้องอยู่บนพื้นฐานของช่วงล่างที่แน่น ไม่หลวม เพื่อให้มุมล้อเป็นไปตามที่ตั้งไว้

2.เกิดจากการชน หรืออุบัติเหตุหนัก อาจทำให้จุดยึดต่างๆ ของช่วงล่างเกิดการเปลี่ยนตำแหน่ง ทำให้มุมล้อเปลี่ยนไปจากมาตรฐานมากจนไม่สามารถปรับตั้งได้

3.อุปกรณ์ส่วนควบในระบบบังคับเลี้ยว รถยนต์รุ่นใหม่บางคันใช้ระบบบังคับเลี้ยวเป็นแบบไฟฟ้า หรือแร็กไฟฟ้าแทนระบบน้ำมัน หากแร็กไฟฟ้าทำงานผิดปกติ ทำให้รถยนต์ดึงไปทางใดทางหนึ่งได้ จะต้องแก้ไขจุดนี้ก่อนถึงทำการตั้งศูนย์ปกติได้ หรือเกิดจากเสื้อกระบอกแร็กเคลื่อนตัวไปมาตามการเลี้ยวได้ ทำให้แร็กเพาเวอร์ไม่อยู่ในตำแหน่งตรงกลาง มีผลให้พวงมาลัยตกซ้ายที ขวาที หรือความผิดปกติของลูกปืนเบ้าโช้กอัพไม่อิสระ ทำให้จังหวะพวงมาลัยคืนตรงแล้ว แต่ยังมีแรงฝืดต้านจากจุดหมุนบนเบ้าโช้กทำให้ล้อคืนไม่ตรง 100% ต้องวิ่งไปสักพักถึงจะตรง

4.เกิดจากแรงดึงของหน้ายาง เวลาล้อรถยนต์หมุนจะมีแรงกระทำที่หน้ายางหลายทิศทาง ถ้าขนาดของแรงใกล้เคียงกันไม่มีปัญหา หักล้างกันไป แต่ถ้าขนาดของแรงไม่เท่ากัน จะทำให้รถยนต์ถูกดึงไปในด้านที่แรงน้อยกว่า

5.เกิดจากลมยางไม่เท่ากัน และความสูงไม่เท่ากัน

6.เกิดจากเบรกติด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image