เชฟรอนหนุนเกษตรกรสวนยาง จ.สงขลา ขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ

เชฟรอนหนุนเกษตรกรสวนยาง จ.สงขลา ขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ

น.ส.พรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยภายหลังนำคณะสื่อมวลชนดูงานโครงการเพื่อสังคมของบริษัทฯ ในจังหวัดสงขลา ว่า ในฐานะบริษัทพลังงาน ที่ผู้บุกเบิกและพัฒนาธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในไทยมากว่า 6 ทศวรรษ เชฟรอนมีนโยบายดำเนินธุรกิจควบคู่กับการทำงานร่วมกับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน ผ่านการทำโครงการเพื่อสังคมที่มีกลยุทธ์ใน 4 ด้าน ได้แก่ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน การพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต การส่งเสริมการศึกษา และการเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม

โดยจังหวัดสงขลาเอง เปรียบเหมือนบ้านหลังที่สองของเชฟรอนที่ผูกพันกันมายาวนานกว่า 40 ปี ทั้งนี้ ในการทำโครงการเพื่อสังคม เรามุ่งให้ความสำคัญกับการทำงานแบบบูรณาการ ผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้อย่างตรงจุด และสามารถพัฒนาต่อยอดได้อย่างยั่งยืน โดยโครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการระยะยาว ที่เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างต้นแบบ และพัฒนาพลังคน อาทิ โครงการก๊าซชีวภาพสหกรณ์ยางพาราสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การสนับสนุนหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา และโครงการอนุรักษ์ย่านเมืองเก่าสงขลา ซึ่งล้วนเห็นผลความสำเร็จเป็นรูปธรรม สามารถร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสงขลาได้อย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปปฏิบัติในพื้นที่อื่นได้

ADVERTISMENT

ล่าสุดได้เดินหน้าเสริมศักยภาพเกษตรกรสวนยาง พร้อมเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ ในจังหวัดสงขลา ซึ่งคนในชุมชนส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรยางพาราเป็นอาชีพหลัก และการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของจังหวัดได้เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี การผลิตยางแผ่นรมควันซึ่งใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ทำให้มีต้นทุนที่สูงและบางครั้งไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ อีกทั้งกระบวนการผลิตยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นและน้ำเสียส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบสหกรณ์อีกด้วย

ในปี พ.ศ. 2558 บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบพลังงาน (PERIN) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงจัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเปลี่ยนน้ำเสียให้เป็นก๊าซชีวภาพ และใช้ก๊าซชีวภาพไปรมควันยางแผ่นเพื่อช่วยประหยัดเชื้อเพลิงไม้ฟืน ตลอดจนนำระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในการผลิตยางแผ่นและการดำเนินงานของสหกรณ์ โดยนำร่องต้นแบบ ณ สหกรณ์บ้านทรายขาว และสหกรณ์ยูงทอง ตอบโจทย์การพัฒนาสงขลาของภาครัฐที่มุ่งให้เป็นเมืองเกษตรกรรมสีเขียวมูลค่าสูง และสอดคล้องกับหลักการของแบบจำลองโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน BCG

ADVERTISMENT

ศาสตราจารย์ ดร. สุเมธ ไชยประพัทธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบพลังงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนจากเชฟรอนมาเป็นระยะเวลา 10 ปีแล้ว โดยเรามุ่งเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราและกรรมการบริหารสหกรณ์ฯ อย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่แน่ใจว่าอุปกรณ์และเทคโนโลยีเหมาะสมกับวิถีการดำรงอยู่ของวิสาหกิจชุมชนยางพารานี้ เมื่อทุกระบบทำงาน แต่ละสหกรณ์สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 425 ตัน/ปี หรือประมาณร้อยละ 31 และการนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ช่วยลดการใช้ฟืน ส่งผลให้ประหยัดเงินของสหกรณ์ฯ ได้ 130,000-180,000 บาทต่อปี ซึ่งตอนนี้ สหกรณ์ยางแผ่นรมควันยูงทองเป็นต้นแบบในการส่งต่อความรู้ให้กับสหกรณ์อื่นๆ ในพื้นที่ต่อไป

นอกจากนี้ เรายังต่อยอดสู่ ‘โครงการก๊าซชีวภาพสหกรณ์ยางพาราสู่สังคมคาร์บอนต่ำ’ โดยผลักดันให้สหกรณ์ยูงทองขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของยางแผ่นรมควัน (Carbon Footprint of Product) ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของสหกรณ์ยางแผ่นรมควันของประเทศ ซึ่งปัจจุบัน อยู่ระหว่างดำเนินการขอรับรองการจดทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (Carbon Footprint for Organization) และดำเนินการประเมินความเป็นไปได้ในการทำคาร์บอนเครดิตของสหกรณ์ ตามเงื่อนไขขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ของประเทศไทย เพื่อนำสหกรณ์ยางแผ่นรมควันยูงทองไปสู่องค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) แห่งแรกของประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image