จับตา คลัง ยกเครื่อง ‘ภาษีที่ดิน’ ท้องถิ่น ชงรื้ออัตราใหม่สกัดเลี่ยง

จับตา คลัง ยกเครื่อง ‘ภาษีที่ดิน’ ท้องถิ่น ชงรื้ออัตราใหม่สกัดเลี่ยง

กำลังเป็นที่จับตา หลังกระทรวงการคลัง ส่งสัญญาณจะรีวิวกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ หลังบังคับใช้ครบ 5 ปี โดยตั้งเป้าเขย่าให้เสร็จในปี 2567 ยังไม่รู้ท้ายที่สุดฉบับเวอร์ชั่นใหม่ เนื้อหาจะเปลี่ยนไปจากเดิมขนาดไหนและจะหยิบข้อเสนอคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ประกอบการพิจารณาด้วยหรือไม่

ย้อนดูรายละเอียดข้อเสนอ ในระยะสั้น อาทิ 1.อัตราภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของให้เช่า ควรเก็บภาษีในอัตราอื่นๆ ไม่ใช่อยู่อาศัย เพราะเป็นการพาณิชย์ และเดิมการให้เช่าลักษณะนี้ มีการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินอยู่แล้ว 2.ปรับปรุงอัตราการจัดเก็บภาษีให้มีความเหมาะสม เพราะภาษีกิจการบางประเภทลดลงมาก เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า โดยอาจเพิ่มอัตราอื่นๆ จากเริ่มต้นร้อยละ 0.3 เป็นร้อยละ 0.5 เพื่อให้เทียบเคียงกับฐานรายได้เดิมที่ อปท.เคยจัดเก็บได้

3.ควรกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามควรแก่สภาพให้ชัดเจน เพื่อลดปัญหาการเลี่ยงภาษี และมิให้ที่ดินรกร้างปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่การเกษตรที่ไม่เป็นจริง หรือออกกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 4.ควรกำหนดคุณสมบัติของเจ้าของที่ดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรมให้ชัดเจน เพื่อลดช่องโหว่ของกฎหมายที่ถูกใช้ไปในการหลีกเลี่ยงภาษี และเกิดความเป็นธรรมกับผู้ที่เป็นเกษตรกรจริง

Advertisement

5.เสนอให้กรมธนารักษ์กำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ครอบคลุมทรัพย์สินที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีทุกประเภท ทุกแปลง ให้เป็นปัจจุบันและมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ 6.เสนอให้กรมธนารักษ์กำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของแต่ประเภทของบัญชีรายการสิ่งปลูกสร้างให้ชัดเจนมากขึ้น และต้องจำแนกประเภทรายละเอียดมากขึ้นตามลักษณะสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่

7.ทรัพย์สินที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทางอากาศ เฉพาะส่วนของที่ดินที่เป็นทางขึ้น-ลง อากาศยาน ทางขับลานจอดอากาศยานหลุมจอดอากาศยานระยะไกล ปัจจุบันมีการลดภาษีร้อยละ 90 ควรลดให้ต่ำกว่าร้อยละ 90 8.ควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ปิดพักกิจการ เนื่องจากประสบปัญหาโควิด-19 ปัญหาเศรษฐกิจ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ เช่น โรงแรม

Advertisement

9.ให้กรมที่ดินเพิ่มชื่อเป็นภาษาอังกฤษตามพาสปอร์ตของชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน เพื่อยืนยันตัวบุคคลในการเก็บภาษี 10.กำหนดการลดหย่อนภาษีร้อยละ 90 ให้กับผู้เสียภาษีที่ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรในพื้นที่โฉนด 11.กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมใน พ.ร.ฎ.กำหนดอัตราภาษีให้มีการจัดเก็บภาษีสำหรับชาวต่างชาติสูงกว่าอัตราภาษีผู้มีสัญชาติไทย

ส่วนข้อเสนอระยะยาว เป็นการปรับแก้ข้อกฎหมายในมาตราต่างๆ อาทิ มาตรา 5 ควรกำหนดนิยามสิ่งปลูกสร้างให้ชัดเจน ครอบคลุมสิ่งปลูกสร้างที่เข้าข่ายจะต้องเสียภาษีสำหรับทรัพย์สินบางประเภทที่เคยเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน เช่น เสาสัญญาณโทรศัพท์ กังหันลม แผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น รวมทั้งลานดิน ลานคอนกรีต เพื่อให้ อปท.มีรายได้ภาษีมากขึ้นใกล้เคียงกับภาษีโรงเรือนและที่ดิน

มาตรา 9 แก้ไขเป็น “ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างหรือเป็นผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐอยู่ในวันที่ 1 มกราคมของปีใด เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีสำหรับปีนั้น…” เพื่อให้สอดคล้องกับนิยาม “ผู้เสียภาษี” ตามมาตรา 5

มาตรา 9 ให้สำนักทะเบียนกลาง ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีหน้าที่แจ้งข้อมูลตัวบุคคลเกี่ยวกับชื่อ ชื่อสกุล ที่อยู่ ข้อมูลอื่นที่จำเป็น ณ วันที่ 1 มกราคม ให้ อปท. ภายในวันที่ 15 มกราคมของทุกปี เพื่อให้การแจ้งประเมินภาษีครบถ้วน ถูกต้องทำนองเดียวกับมาตรา 10 ที่กำหนดให้กรมที่ดินจัดส่งข้อมูลให้ อปท.

มาตรา 37 กำหนดอัตราภาษีสำหรับผู้เสียภาษีชาวต่างชาติให้มีอัตราภาษีสูงกว่าอัตราที่กำหนด ในมาตรา 37 มาตรา 40 ลดการยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีให้ต่ำกว่า 50 ล้านบาท โดยปรับขึ้นเป็นสัดส่วนตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของกรมธนารักษ์ กรณีเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาใช้ประโยชน์ประกอบเกษตรกรรมและมาตรา 41 กรณีเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษี เพื่อให้เป็นไปตามความสามารถในการจ่ายภาษี เป็นธรรมกับผู้ที่ต้องเสียภาษีอยู่อาศัยหลังที่ 2 ซึ่งแม้มูลค่าฐานภาษีจะไม่สูง

มาตรา 40 การยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีให้ครอบคลุมผู้เสียภาษีที่มีเอกสารสิทธิในที่ดินประเภทอื่น ที่ไม่ใช่เฉพาะเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ รวมทั้งผู้ถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรในพื้นที่โฉนดชุมชนตลอดจนให้คลอบคลุมถึงผู้เสียภาษีที่เป็นผู้ครอบครอง หรือทำประโยชน์ในทรัพย์สินของรัฐ ด้วยให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีกลุ่มต่างๆ และอาจต้องปรับแก้มาตรา 41 กรณีเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาและเจ้าของในพื้นที่โฉนดชุมชนใช้เป็นที่อยู่อาศัยควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ได้รับยกเว้นภาษีกรณีบ้านหลังหลักด้วย ส่วนการยกเว้นภาษีในมาตรา 40 และมาตรา 41 ไม่รวมผู้เสียภาษีชาวต่างชาติ ขณะที่มาตรา 42 กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นของต่างเจ้าของกัน สิ่งปลูกสร้างหลายหลังบนที่ดิน ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกัน และเจ้าของสิ่งปลูกสร้างเป็นเจ้าของเดียวกัน ให้คำนวณมูลค่าสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดรวมกันเป็นฐานภาษี เพื่อให้เกิดความชัดเจนเช่นเดียวกับกรณีที่ดิน

มาตรา 44 ให้เจ้าของทรัพย์สินมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีต่อเจ้าหน้าที่ที่ อปท. หรือยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือยื่นทางไปรษณีย์ทุกปี หากพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่เห็นด้วยกับแบบแสดงรายการให้มีอำนาจสำรวจเพิ่มเติมและทำการประเมินเรียกเก็บภาษีต่อไป จะทำให้ไม่มีปัญหาการเลือกแจ้ง ไม่แจ้งประเมินภาษี ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการส่งจดหมายประเมินได้

มาตรา 46 กรณี อปท. แจ้งประเมินภาษีภายหลังเดือนกุมภาพันธ์ให้ผู้เสียภาษีมีหน้าที่ชำระภาษีภายใน 60 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน มาตรา 47 แก้ไขให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้มีหน้าที่ชำระภาษีแทนผู้เสียภาษี กรณีเป็นบุคคลล้มละลาย หรือถูกศาลสั่งให้ทรัพย์สินอยู่ในบังคับแห่งคดี

มาตรา 53 แก้ไขให้ อปท.ประเมินภาษีย้อนหลังได้ไม่เกิน 6 ปี รองรับปัญหาการประเมินที่อาจตกหล่น ทำให้ อปท.ไม่สูญเสียรายได้ แก้ไขมาตรา 55 และมาตรา 81 ปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคืนแก่ผู้เสียภาษีที่มาขอรับเงินคืนจากร้อยละ 1 ต่อเดือน เป็นร้อยละ 0.5 ต่อเดือน และให้เพิ่มเติมว่า การจ่ายดอกเบี้ยแก่ผู้เสียภาษีเป็นกรณีที่ อปท.ประเมินภาษีผิด ไม่รวมกรณีผู้เสียภาษีมิได้ตรวจสอบ ไม่แจ้งแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนั้นควรปรับลดเงินเพิ่มในมาตรา 70 ด้วย เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกัน เป็นต้น

เป็นข้อเสนอ อปท.ที่ส่งถึงกระทรวงการคลัง ส่วนจะมีการแปลงร่างต่างจากนี้
แค่ไหน คงต้องติดตาม!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image