สนามบินกระบี่คึก แอร์ไลน์ต่างชาติแห่เปิดบินพรึ่บ รับไฮซีซั่น
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน นายณรงค์ อรุณภาคมงคล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมกิจการท่าอากาศยาน เป็นผู้แทนจากกรมท่าอากาศยาน พร้อมเจ้าหน้าที่กลุ่มจัดสรรเวลาท่าอากาศยาน เข้าร่วมการประชุมการจัดสรรเวลาของสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ครั้งที่ 154 (154 nd IATA Slot Conference) (27 ตุลาคม 2567 – 29 มีนาคม 2568) ณ กรุงโบโกตา สาธารณรัฐโคลอมเบีย ระหว่างวันที่ 11 – 13 มิถุนายน 2567 เพื่อจัดสรรเวลาเที่ยวบินในกำหนดการบินประจำฤดูหนาว 2567/2568
การประชุม IATA Slot Conference ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ท่าอากาศยานและสายการบิน ได้ประชุมร่วมกันเพื่อเจรจาตารางบิน จัดสรรเวลาหรือขอปรับเปลี่ยนเวลาที่จะทำการบินเข้า/ออก ท่าอากาศยานต่าง ๆ
โดยครั้งนี้ กรมท่าอากาศยานได้เข้าร่วมเจรจาและจัดสรรเวลาเที่ยวบินในกำหนดการบินประจำฤดูหนาว 2567/2568 (27 ตุลาคม 2567 – 29 มีนาคม 2568) ซึ่งมีสายการบินได้ทำการนัดหมายประชุมกับคณะผู้แทนกรมท่าอากาศยาน จำนวน 9 สายการบิน เพื่อขอจัดสรรเวลาหรือขอปรับเปลี่ยนเวลาเข้า/ออก ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ ให้สอดคล้องกับการจัด Network และ Rotation ตามแผนของสายการบิน และสอบถามข้อมูลศักยภาพการพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินของท่าอากาศยาน
โดยภายหลังจากการประชุมคณะผู้แทนจากกรมท่าอากาศยาน สามารถจัดสรรได้ตามเวลาที่สายการบินต้องการหรือเวลาที่ยอมรับได้ รวมทั้งนำเสนอข้อมูลแผนพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ที่จะดำเนินการในปี 2567ให้สายการบินทราบความคืบหน้าในการพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินเพิ่มมากขึ้น
โดยข้อมูลการจัดสรรเวลาที่เสร็จสิ้นแล้วนั้น ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่สามารถนำไปใช้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับเที่ยวบินที่จะทำการบินมาในกำหนดการบินประจำฤดูหนาว 2567/2568
ทั้งในส่วนของความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้โดยสารและสายการบิน ด้านบุคลากร และหน่วยงานเกี่ยวข้องภายในท่าอากาศยาน เพื่อให้การรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพรวม
นอกจากนี้ คณะผู้แทนของกรมท่าอากาศยานได้นำเสนอข้อมูลของท่าอากาศยานนานาชาติสุราษฎร์ธานีและท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน เพื่อให้สายการบินนำข้อมูลไปพิจารณาในการจัดทำแผนการเปิดทำการบินในโอกาสต่อไป
โดยในการเข้าร่วมประชุมมีสายการบินขอเข้ารับการจัดสรรเวลา ดังนี้
1. สายการบินที่ขอปรับเปลี่ยนเวลาทำการบิน ได้แก่
- 1. สายการบินFlydubai (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) เส้นทาง ดูไบ-กระบี่ และกลับ 2. สายการบิน Scoot Tigerair (สาธารณรัฐสิงคโปร์) เส้นทาง สิงคโปร์-กระบี่ และกลับ 3. สายการบิน LOT Polish Airlines (สาธารณรัฐโปแลนด์) เส้นทาง วอร์ซอ-กระบี่ และกลับ
- 4. สายการ TUI Fly (ราชอาณาจักรสวีเดน) เส้นทาง สต๊อกโฮล์ม-กระบี่ และกลับ 5. สายการ Jetstar Asia Airways (สาธารณรัฐสิงคโปร์) เส้นทาง สิงคโปร์-กระบี่ และกลับ 6. สายการบิน Thai AirAsia เส้นทาง เชียงใหม่-กระบี่ และกลับ 7. สายการบิน Bangkok Airways เส้นทาง เชียงใหม่-กระบี่-กรุงเทพฯ
2. สายการบินที่มีการสอบถามข้อมูลท่าอากาศยานที่อยู่ในความดูแลของกรมท่าอากาศยานเพื่อนำไปทำแผนการทำการบิน ได้แก่
- 1. สายการบิน Eastar Jet (สาธารณรัฐเกาหลี) สอบถามข้อมูลขีดความสามารถของท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่
- 2. สายการบิน Spring Airlines (สาธารณรัฐประชาชนจีน) สอบถามข้อมูลของเพิ่มเติมของ ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ และท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี และท่าอากาศยานอุดรธานี
- 3. สายการบินที่ขอจัดสรรเวลา เข้า / ออก ณ ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ ในกำหนดการบินประจำฤดูหนาว 2567/2568
เที่ยวบินประจำระหว่างประเทศ จำนวน 6 สายการบิน ได้แก่
1.สายการบิน AirAsia Berhad เส้นทางกัวลาลัมเปอร์ – กระบี่ และกลับ (จำนวน21 เที่ยวบินต่อสัปดาห์)
2.สายการบิน Flydubai เส้นทางดูไบ – กระบี่ และกลับ (จำนวน 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์)
3.สายการบิน Scoot Tigerair เส้นทางสิงคโปร์ – กระบี่ และกลับ (จำนวน 10 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ )
4. สายการบิน Jetstar Asia Airways เส้นทางสิงคโปร์ – กระบี่ และกลับ (จำนวน 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์)
5. สายการบิน Shanghai Airlines เส้นทาง เซี่ยงไฮ้ – กระบี่ และกลับ (จำนวน 6- 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์)
6. สายการบิน China Eastern Airlines เส้นทาง อุรุมฉี – เหอเฟ่ย – กระบี่ และกลับ (จำนวน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์)
ส่วนเที่ยวบินเช่าเหมาระหว่างประเทศ จำนวน 3 สายการบิน ได้แก่
1. สายการบิน TUI fly – เส้นทาง สตอกโฮล์ม – กระบี่ และกลับ (จำนวน 23 เที่ยวบิน)
– เส้นทางโคเปนเฮเกน – กระบี่ และกลับ (จำนวน 15 เที่ยวบิน)
– เส้นทาง เฮลซิงกิ – กระบี่ และกลับ (จำนวน 14 เที่ยวบิน)
2 สายการบิน LOT Polish Airlines – เส้นทาง ปราก – กระบี่ และกลับ (จำนวน 22 เที่ยวบิน)
– เส้นทาง วอร์ซอ – กระบี่ และกลับ (จำนวน 14 เที่ยวบิน)
3. สายการบิน Neos Airlines (NEW) – เส้นทาง ปราก – กระบี่ และกลับ (จำนวน 12 เที่ยวบิน)
การเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก การได้พบปะกับสายการบินทำให้สามารถเสนอข้อมูลที่ตรงตามความต้องการ รวมถึงได้แลกเปลี่ยนข้อมูล และเชิญชวนสายการบินที่สนใจทำการบินกับท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน รวมถึงได้นำข้อมูลข้อเสนอแนะของสายการบินมาปรับปรุงการดำเนินการและเตรียมความพร้อมในการวางแผนพัฒนาท่าอากาศยานอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเปิดเส้นทางบินใหม่ สายการบิน และเที่ยวบินที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต