กว่า 7 ปีที่ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เครือสหพัฒน์ ผู้นำการจำหน่ายสินค้าแฟชั่นในประเทศและต่างประเทศ ร่วมกัน ร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานของ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ อย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ภายใต้การดูแลของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เพื่อร่วมสืบสานพระปณิธานตามแนวบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
จากการดำเนินงานร่วมกันมาของบริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิอุทกพัฒน์ นับตั้งแต่ ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ในโครงการเพื่อการบริหารจัดการน้ำ ให้กับชาวเกษตรกรในพื้นที่ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง จ.เพชรบุรี ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกร สามารถผันตัวเป็นผู้ประกอบการได้อย่างเต็มตัว มีผลผลิตทางการเกษตรที่ยั่งยืน สามารถบริหารจัดการงานได้อย่างเป็นระบบ ทั้งในเรื่องผลผลิตที่ต่อเนื่องและหลากหลาย สถานที่แพคผลิตผลและการจัดเก็บผลผลิตที่ได้มาตรฐาน ช่วยยืดอายุความสดใหม่ และสามารถส่งผลผลิตจำหน่ายในร้าน Golden Place เองได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง
โดยปี 2566 บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ร่วมสนับสนุนงบประมาณ 878,700 บาท พัฒนาโครงสร้างเชื่อมโยงระบบน้ำในพื้นที่เพิ่มเติม และติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับอาคารบรรจุและเก็บรักษาผลผลิตปีที่ 7 ต่อยอดความยั่งยืนผ่านการปลูกป่า
ในปี 2567 จะเข้าสู่ปีที่ 7 เพื่อเป็นการต่อยอดความยั่งยืนสู่พื้นที่ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหาร นำโดย สมพล ชัยสิริโรจน์ กรรมการ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และพนักงานจิตอาสา กว่า 100 ชีวิต ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ลงพื้นที่ปลูกต้นไม้ร่วมกับ และเกษตรกรในพื้นที่ของชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
โดยปลูกหญ้าแฝกรอบสระจำนวน 25,000 กล้า และปลูกต้นไม้ 160 ต้น โดยเลือกปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ไม้ใช้งานหรือไม้เศรษฐกิจ หรือไม้สร้างบ้าน/ไม้กิน หรือไม้ผล/ไม้ฟืน โดยชนิดของต้นไม้ได้แก่ โพธิ์ ตะแบก ประดู่ ไม้แดง พยูง ยางนา และสักทองในส่วนของไม้ผล เลือกปลูกต้นมะม่วงสายพันธุ์ เขียวเสวยเบา และแก้วขมิ้น ทั้งนี้ พร้อมติดตั้งระบบกระจายน้ำที่ใช้ดูแลต้นไม้ทุกต้นได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูบริเวณพื้นที่รอบสระระยะทาง 700 เมตร ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่นำไปใช้ทำการเกษตรของสมาชิกชุมชน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว รักษาหน้าดิน ป้องกันการพังทลายของตลิ่งและช่วยให้พื้นที่สระโดยรอบร่มรื่น
ดร.สุเมธกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จัดกิจกรรมครั้งนี้ อยากจะให้ประชาชนมีจิตสำนึกที่ดี ตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ ๙ และสิ่งสำคัญที่สุดคือ น้ำคือชีวิตควรรักษาน้ำไว้กินไว้ใช้และส่วนที่เหลือก็ไว้สำหรับการปลูกทำการเกษตรและผลิตพืชผลไว้จำหน่ายต่อไปให้ดีก่อนแล้วอย่างอื่นก็จะดีตามมา
“เราจะมาปลูกต้นไม้กัน ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ไม้ถิ่นเพราะแต่ละแห่ง แต่ละสถานที่ก็มีข้อดีของตัวเอง โดยจะต้องคำนึงถึง “สังคม ภูมิประเทศ ธรรมชาติ” เพราะทุกวันนี้เราทุกคนกำลังทำลายโลกอยู่ ยุคนี้อยู่อย่างสบายพอสมควร ยึดความสุขเป็นที่ตั้ง การส่งต่อแผ่นดินนี้ให้ลูกเราต่อและเค้ารักษาต่อเพื่อส่งต่อไปไม่รู้จบ อันนั้นคือความยั่งยืนนะครับ” ดร.สุเมธกล่าว
พื้นที่ชุมชนเพชรน้ำหนึ่งแห่งนี้ถือเป็นสถานที่ที่ประสบความสำเร็จจนกลายเป็นวิสาหกิจชุมชนและมีกิจกรรมที่จัดกันมา อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทไอซีซี ทำกิจกรรมเพื่อคืนกำไรสู่สังคม และ ดร.สุเมธมองอนาคตถึงการเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่มาจากผลผลิตทางเกษตรไม่ว่ามาจากต้นไม้ที่ปลูกไป หรือที่ปลูกเป็นประจำอยู่แล้วก็จะนำผลผลิตไปพัฒนาต่อยอดใน การแปรรูปเป็นสินค้าอุปโภคและบริโภคสำหรับการส่งออกมากขึ้นเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง
⦁เสียงจากเกษตรกรระบบกระจายน้ำพลิกชีวิต
อภิชัย ชาติเอกมัย ประธานวิสาหกิจชุมชนสหพันธ์เกษตรกรเพชรน้ำหนึ่ง กล่าวว่า พื้นที่ชุมชนเพชรน้ำหนึ่งแต่เดิมเป็น ที่ดินสนามกอล์ฟร้าง และเป็นพื้นที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) สำหรับนำไปจัดสรรให้ประชาชนใช้เป็นที่ทำกิน แต่เนื่องจากที่ดินบริเวณนั้นยังไม่มีการพัฒนาโครงสร้างน้ำ และการวางระบบการนำน้ำไปใช้ผ่านเครื่องสูบน้ำกับสภาพดินในพื้นที่แห้งแล้งเป็นดินปนกรวดผสมลูกรัง โดยหลังจากที่ทาง บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ทั้งมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) และกลุ่มทหารช่างที่เข้ามาร่วมช่วยกันขุดสระ ทำรางน้ำ ทำให้มีความเจริญ ทำให้ความสะดวกมีเข้ามาในพื้นที่ โดย หลังจากที่มีการทำเรื่องระบบกระจายน้ำ ก็ทำให้สมาชิกในชุมชนได้ใช้น้ำอย่างสะดวก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ไม่ต้องไปใช้ น้ำมันเครื่องเพื่อสูบน้ำหาปลา รวมถึงทางบริษัท ไอ.ซี.ซี. ได้เข้ามาการติดตั้งระบบน้ำเป็นโซลาร์เซลล์ ก็ยังสามารถลด ต้นทุนได้มากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า จากปกติเดือน 8000 บาทลดลงมาเหลือเพียงเดือนละ 1200 บาท และช่วยขยายพื้นที่การเพาะปลูกได้ และหลังจากที่ขยายพื้นที่ได้แล้ว ก็ยังทำให้ดินอุดมสมบูรณ์พร้อมทำการเกษตร
“การทำเกษตร ปัจจัยหลักที่สำคัญก็คือ ‘น้ำ’ ถ้ามีน้ำคนก็อยู่ได้ ผักก็อยู่ได้ พืชผลก็อยู่ได้” อภิชัยกล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนการสร้างเศรษฐกิจในชุนชน อภิชัยเผยว่าสำหรับเรื่องของรายได้ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละครัวเรือน ทางเกษตรกรจะมีใบสั่งซื้อส่งผักตามออเดอร์ ถ้าสมาชิกคนไหนปลูกผักได้เยอะ ก็ได้เงินจำนวนเยอะ แต่ถ้ามีศักยภาพปลูกได้น้อย ก็จะได้เงินน้อยไปด้วย ยกตัวอย่าง บางครัวเรือนได้อาทิตย์ละ 2,000-3,000 บาท,บางครัวเรือนได้ 7,000 บาท หรือ 10,000 บาท ขึ้นอยู่ตามกำลังในการปลูก โดยปัจจุบันมีสินค้าประเภทผัก ที่ทางกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรเพชรน้ำหนึ่งส่งให้ Golden Place จำนวนมากกว่า 20 รายการ เช่น พริกขี้หนูสวน ชะอม แตงกวา มะเขือม่วง มะเขือเปราะและกะเพรา เป็นต้น โดยหลังจากโครงการนี้สำเร็จ ก็ส่งผลให้เกษตรกรชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและสามารถประกอบอาชีพทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอย่าง อภิชัย เมื่อก่อนนั้นก็มีหนี้สินที่ต้องชำระจ่ายแต่หลังจากที่ทาง บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯเข้ามาช่วยปรับระบบน้ำ ก็สามารถทำการเกษตรได้ดีขึ้นและมีผลผลิตส่งออกต่อเนื่อง จนปัจจุบันสามารถปลดหนี้สินได้ทั้งหมดแล้ว
สำหรับการต่อยอดในอนาคต อภิชัยกล่าวว่า ตอนนี้ปริมาณน้ำที่อยู่ในสระ สามารถนำน้ำเหล่านั้นเข้ามาใช้ในแปลง เกษตรได้แล้วแต่ว่ายังไม่เพียงพอที่จะใช้ครบทุกแปลง ซึ่งในบางพื้นที่ก็ยังใช้เครื่องสูบน้ำ ซึ่งถ้าสามารถต่อยอดกระจาย การทำระบบน้ำผ่านโซลาร์เซลล์ไปยังหลายแปลงเกษตรในหลายพื้นที่ได้ก็จะช่วยต่อยอดในการทำเกษตรได้ดีขึ้นในอนาคต รวมถึงมีแผนการปลูกสมุนไพรเพิ่มขึ้น และมีแนวคิดทำตู้อบสมุนไพรสำหรับการแปรรูปส่งออก ซึ่งก็จะนำไปปรึกษากับทางผู้เชี่ยวชาญ และผู้สนับสนุนอย่าง บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ต่อไป
ดร.รอยล จิตรดอ เลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ กล่าวเสริมว่า แนวทางการบริหารจัดการน้ำให้ยั่งยืนสิ่งแรกสุด ถ้าจะให้เกิดความยั่งยืน เราต้องคิดทุกอย่างแบบภาพรวม ต้องคิดแบบหลายด้าน และเชื่อมต่อกัน เช่น น้ำมาเมื่อไหร่ จะเก็บน้ำยังไง จะนำไปใช้ปลูกพืชยังไง พืชที่ปลูกต้องใช้น้ำน้อย หรือใช้น้ำเยอะเพื่อให้เหมาะสม ปลูกแล้วจะขายยังไง จนถึงจะขนส่งยังไง ซึ่งต้องสร้างระบบความรู้ทั้งหมดนี้ให้ต้องมีการทำงานเป็นทีม ซึ่งถ้าทำได้ครบตามที่วางแผนมามันถึงจะเกิดเป็นความยั่งยืน
สำหรับการเพิ่มพื้นที่ป่าก็จะสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ถ้าเป็นเขตพื้นที่ราบ จำเป็นต้องมีป่า มีพื้นที่สีเขียวประมาณร้อยละ 40 มีพื้นที่เพาะปลูก กับที่อยู่อาศัยร้อยละ 60 แต่ถ้าเป็นพื้นที่บนเขา ควรมีพื้นที่ป่าสีเขียวประมาณร้อยละ 50-60 และมีที่อยู่อาศัย ที่ทำสวนร้อยละ40 และการปลูกป่า จะสามารถรักษาเสถียรภาพของอุณหภูมิให้ไม่เปลี่ยนวูบวาบ ตัวอย่าง ในพื้นที่ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง มีอุณหภูมิ 27 องศา ตื่นเช้าขึ้นมาอากาศเย็นแต่ลมไม่แรง ซึ่งต่างกับกรุงเทพฯตอนนี้ที่เจอต้นไม้ล้มจากลมพัดแรง ที่เกิดขึ้นมาจากอุณหภูมิที่สูง
ด้านสมพลกล่าวว่า สิ่งสำคัญในการจัดกิจกรรมปลูกป่าในครั้งนี้ ตนอยากให้พนักงานในเครือสหพัฒน์ที่มาร่วมกิจกรรมได้เห็น ได้มีส่วนร่วมและเข้าใจว่าการที่ช่วยให้ชุมชน หรือชาวเกษตรกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั้นจะต้องทำอย่างไร และมีความหมายอย่างไร จึงมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ควรรู้ว่าเราจะสามารถช่วยใครให้มีชีวิตยืนอยู่ทำมาหากินได้ ซึ่งจะทำให้สังคมดีขึ้น โลกดีขึ้นชีวิตคนดีขึ้น ธุรกิจเติบโตไปด้วยกันได้ และถือเป็น KPI ใหม่สำหรับธุรกิจทุกวันนี้ และกำลังจะเป็นเทรนด์ในอนาคต ที่ต้องดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืน มีประโยชน์กับสังคมและโลกไปพร้อมๆ กัน และจากนี้ในอนาคตทางองค์กรก็จะจัดกิจกรรมเพื่อสังคมแบบนี้อย่างต่อเนื่องและมากขึ้นต่อไป
ตลอด 7 ปี ที่ผ่านมา บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับชาวเกษตรกร “ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง จ.เพชรบุรี” ช่วยกันทำให้พื้นที่แห้งแล้งใน จ.เพชรบุรี กลายเป็นแหล่งอาชีพของเกษตรกรในการดูแลผลผลิตสำหรับการส่งออกสินค้าเกษตร และในอนาคตพวกเราทุกคนก็จะช่วยกันพัฒนาสิ่งนี้ ให้ยั่งยืนขึ้นกว่าเดิม
ซึ่งโครงการนี้ เป็นอีกต้นแบบที่ต้องนำมากล่าวถึง