กกร. ห่วงค้าโลกทรุด ซ้ำเติมไทย ฝากรัฐบาลกระตุ้น เอกชนกำลังเอาตัวรอด

กกร. ห่วงค้าโลกทรุด ซ้ำเติมไทย ฝากรัฐบาลกระตุ้น เอกชนกำลังเอาตัวรอด

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า การค้าโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่ต้นทุนและระยะเวลาการขนส่งเพิ่มขึ้น เป็นผลจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่รุนแรงมากขึ้น และผู้ประกอบการบางส่วนเร่งสั่งซื้อสินค้าก่อนมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐ ต่อจีน ที่จะมีผลภายในปีนี้ ส่งผลให้ค่าระวางเรือล่าสุดปรับตัวขึ้น 95% เมื่อเทียบจากเดือนเมษายน 2567 ขณะที่ใช้ระยะเวลาในการขนส่งนานขึ้นตามภาวะขนส่งคับคั่งและขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมต่อภาคการผลิตและการส่งออกของโลกในระยะข้างหน้า โดยคาดการณ์การส่งออกทั้งปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.8-1.5% จากเดิม 0.5-1.5% การเติบโตจีดีพี อยู่ที่ 2.2-2.7%

นายผยง กล่าวว่า การส่งออกไทยเผชิญความเสี่ยงจากสงครามการค้าของสหรัฐและจีน การขึ้นภาษีของสหรัฐต่อสินค้าจีนรอบใหม่ ที่อาจกระทบสินค้าส่งออกไทยที่เป็นห่วงโซ่อุปทานให้แก่จีน ซึ่งประเมินว่าสินค้าเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วน 19.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปจีน โดยสินค้าที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมาก อาทิ ยางแผ่น ยางแท่ง เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ แต่อาจมีปัจจัยบวกชั่วคราวจากการเร่งสั่งซื้อสินค้าและการปรับเปลี่ยนมาส่งออกจากไทย คาดว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปีปรับดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังมีประเด็นฉุดรั้งจากเรื่องต้นทุนจากการขาดแคลนเรือและตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงระยะเวลาการขนส่งที่เพิ่มขึ้น

ADVERTISMENT

นายผยง กล่าวว่า ความกังวลต่อปัญหานี้มีมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมและจำกัดความสามารถในการส่งออกของไทยที่อยู่ในภาวะเติบโตต่ำ จึงขอให้ภาครัฐมีมาตรการหรือแนวทางเร่งด่วน เพื่อรับมือกับสถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ที่มีแนวโน้มลากยาวตลอดช่วงที่เหลือของปี รวมถึงลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการผลิตจากการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน การชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์ กระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทย อุปสงค์ในประเทศยังเปราะบาง และมีความกังวลถึงต้นทุนด้านพลังงานด้วย

“ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในโลก ซึ่งโมเมนตัมเศรษฐกิจโลกมีความวุ่นวายสูง การทำอะไรที่โดดออกมาจากภาพรวมของโลกคงลำบาก เครื่องยนต์เศรษฐกิจของไทย อย่างเรื่องส่งออกที่มีความท้าทาย แต่ถือว่ายังมีโอกาส เพราะบางภาคส่วนได้ประโยชน์จากการปรับปรุงใหม่ของซัพพลายเชนและการสั่งสินค้า ขณะที่สินค้าแบบเดิมในการส่งออกถูกผลกระทบ อาทิ การส่งออกสินค้าไปจีน แต่จีนเองก็มีการปรับปรุงสินค้าใหม่ ถือเป็นพลวัตที่เกิดขึ้น โดยระบบเศรษฐกิจในประเทศ มีนโยบายระยะสั้น กลาง และยาว ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่แล้ว ส่วนข้อเสนอแนะมีการทบทวนสมุดปกขาวที่จะยื่นให้รัฐบาลอีกครั้ง เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีหลายปัจจัยที่พลิกผันไป ทำให้ต้องพิจารณาใหม่ระหว่างเอกชน 3 สถาบัน” นายผยง กล่าว

ADVERTISMENT

นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ขณะนี้ปัญหาการขีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย ในฐานะผู้ส่งออกสินไปจำหน่ายในจีน แม้มีซัพพลายส่งไปที่อื่นได้ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ภาพจึงถือเป็นสัญญาณที่อันตรายมากๆ ทั้งภายในก็แย่ ภายนอกมีแรงกดดันหนัก ทำให้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีแรงงานเกิน 70% ที่ไม่ได้ต้องการให้ปรับขึ้นค่าแรง รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงถึง 3 ครั้งต่อปี ยิ่งไม่มีเหตุผล จึงไม่ต้องการให้เกิดการชี้นำจากฝ่ายใด โดยเฉพาะภาครัฐบาล เนื่องจากอุตสาหกรรมจะต้องเดินหน้าไปด้วยกันให้ได้ หากมีการปรับขึ้นค่าแรงผสมกับสัญญาณอัตรายจากปัจจัยต่างประเทศ โอกาสที่อุตสาหกรรมขนาดเล็ก อย่างเอสเอ็มอีจะถูกกระทบจนล้มหายไปก่อนได้ ขอฝากถึงรัฐบาลให้ไตร่ตรองให้ดี อย่ากดดันภาคอุตสาหกรรม

“ฝากคำถามถึงรัฐบาลว่า ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรจะออกมาบ้าง เพราะหากถามเอกชนก็ตอบไม่ได้ ทำเพียงแต่เอาตัวให้รอดด้วยตัวเองก่อนเท่านั้น” นายทวีกล่าว

ด้าน นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหา ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อมีปัญหาระยะสั้นเกิดขึ้น รัฐบาลจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อมาช่วย แต่หอการค้าไม่แน่ใจว่าปรับขึ้นมาซ้ำเติมหรือมาช่วย เพราะตอนนี้แค่ประกาศว่าจะมีการปรับขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ หลายธุรกิจก็ไปไม่รอดแล้ว ทางออกมองว่ารัฐบาลจะต้องพยายามสร้างงาน เพื่อให้คนมีงานทำ มีรายได้ โรงงานเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตเพราะส่งออกได้ สะท้อนถึงเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งเงื่อนไขที่จะทำให้ภาพนี้เกิดขึ้นได้ในตอนนี้ยังไม่มีอะไรมาสนับสนุน อาทิ ต้นทุนพลังงาน และหากมีการปรับขึ้นค่าแรงมาเพิ่มต้นทุน จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่มีกลไกตามธรรมชาติอยู่แล้ว หากมีการฝืนกลไกจะส่งผลให้เกิดปัญหามากกว่า

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image