ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่นักบวกกับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ได้สะท้อนมายังตัวเลขส่งออกของไทยที่ปี 2567 เติบโตไม่หวือหวา คาดการณ์ระดับ 1-2%
ประเมินปัจจัยเสี่ยงเฝ้าระวังครึ่งปีหลัง โดย ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ประเมิน 5 เสี่ยง คือ 1.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อ 2.ต้นทุนภาคการผลิต ทรงตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งพลังงาน อย่างน้ำมันและไฟฟ้า ค่าแรงขั้นต่ำที่อยู่ระหว่างพิจารณาปรับขึ้น
3.ต้นทุนค่าระวางเรือ ปรับตัวสูงขึ้นทุกเส้นทาง ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จากการเร่งผลิตและส่งออกของจีนส่งผลให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นกว่า 300% 4.การเข้าถึงสินเชื่อของภาคการผลิตมีปัญหาต่อเนื่อง ทำให้ขาดสภาพคล่อง และ 5.ภาคการผลิตรายสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวจำกัด
ด้วยสถานการณ์ข้างต้น สินค้าเกษตรไทย จึงเป็นอีกกลุ่มที่หลีกหนีความเสี่ยงดังกล่าวลำบาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การนำของ ร.อ.ธรรมนัสพรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเดินหน้าขยายตลาดทุกมิติ เพื่อเพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตรไทยให้มากที่สุด
ล่าสุด ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ บินตรงนครเซี่ยงไฮ้ ประชุมหารือกับ นายโจว หมินห้าว ประธานองค์กรส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน แห่งนครเซี่ยงไฮ้ (China Council for the Promotion of International Trade: CCPIT) และผู้บริหารระดับสูง เพื่อส่งเสริมและขยายโอกาสช่องทางการค้าสินค้าเกษตรในนครเซี่ยงไฮ้ รวมถึงการสร้างความร่วมมือด้านการลงทุนในเทคโนโลยีการเกษตร และการเข้าร่วมการจัดงาน CCPIT
ร.อ.ธรรมนัส ให้ข้อมูลว่า นครเซี่ยงไฮ้เป็นมหานครที่มีความทันสมัยและเป็นตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย เช่น ยางพารา สินค้าประมง และผลไม้ เป็นต้น โดยเฉพาะทุเรียนที่มีการนำเข้าสูงสุดในนครเซี่ยงไฮ้ รวมถึงมณฑลในเขตปากแม่น้ำแยงซี ได้แก่ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลอันฮุย
ปี 2566 ภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีมีการนำเข้าสินค้าเกษตรไทยรวมปริมาณ 4,101,220 ตันคิดเป็นมูลค่ากว่า 4,012 พันล้านเหรียญสหรัฐ สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยจำนวนมาก
“ผมได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าเกษตรและอาหาร ทั้งสินค้าพืช ประมง และปศุสัตว์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคชาวจีน” ร.อ.ธรรมนัสระบุ
พร้อมย้ำว่า กระทรวงเกษตรฯจะขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรในรูปแบบ E-Commerce บนแพลตฟอร์มต่างๆ ของจีน เพื่อเพิ่มช่องทางการขายสินค้า การพัฒนาทักษะความสามารถของผู้ประกอบการ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรตามนโยบายรัฐบาล โดย นายโจว หมินห้าว พร้อมสนับสนุนและให้คำแนะนำแก่กระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ด้าน Krungthai COMPASS โดยทีมนักวิเคราะห์ประกอบด้วย สุคนธ์ทิพย์ ชัยสายัณห์, กฤชนนท์ จินดาวงศ์, ปราโมทย์ วัฒนานุสาร และ อังคณา สิทธิการ วิเคราะห์ทิศทางการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญในปี 2567 ว่าแม้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2567 จะขยายตัวได้ แต่มีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนี้
-ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่เพิ่มขึ้น อาจกระทบต่อปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทย และต้นทุนค่าขนส่ง แม้ว่าปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารของไทย ส่งผลให้มีการเร่งนำเข้าเพื่อกักตุน เนื่องจากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร
อย่างไรก็ดี หากสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่านทวีความรุนแรงมากขึ้น จะทำให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทยต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าขนส่งที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และอาจทำให้การขนส่งสินค้าไปยังตะวันออกกลางหยุดชะงัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยที่พึ่งพาตลาดตะวันออกกลางในสัดส่วนที่สูง เช่น สินค้าในกลุ่มข้าว และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น
-ความท้าทายจากการแข่งขันในตลาดจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เนื่องจากหลายประเทศกำลังเร่งพัฒนาคุณภาพทุเรียนและต่อคิวขอใบอนุญาตส่งออกทุเรียนสดเข้าจีน โดยคาดว่ามาเลเซียอาจได้รับอนุญาตส่งออกทุเรียนสดเข้าจีนได้ภายในปี 2567 ซึ่งอาจทำให้การแข่งขันด้านราคาของทุเรียนสดในตลาดจีนรุนแรงมากขึ้น กระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทย
-ต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอาจกดดันต่ออัตรากำไรของผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหาร โดยล่าสุดรัฐบาลมีแผนจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาท โดยให้เริ่มมีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ซึ่งจะกระทบกับผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เป็นต้น
-ประเทศคู่ค้าที่มุ่งเน้นมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมุ่งเน้นความเป็นกลางทางคาร์บอน และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เช่น กฎหมายที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้เข้าสู่ตลาดของสหภาพยุโรป (EU Deforestation-free products) ที่จะเริ่มนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มยางพารา และน้ำมันปาล์ม
หลากปัจจัยที่ Krungthai COMPASS ถือเป็นโจทย์ที่รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ และเอกชน ต้องฟันฝ่าไปให้ได้!!