ผู้เขียน | นพวิชญ์ เอี่ยมสืบทัพ |
---|
ตั้งแต่ที่รัฐบาลไทย-จีน ออกมาตรการยกเลิกการตรวจลงตราเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกัน หรือวีซ่าฟรี เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ โดยให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานในประเทศจีนทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง เฉิงตู และกวางโจว ติดตามผลตอบรับ หลังการดำเนินมาตรการจากนักท่องเที่ยวจีน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นมา ซึ่งพบว่ามีปริมาณเที่ยวบินไทย-จีน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยยะ
รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน มีนโยบายมุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทย พร้อมกับยกระดับ/เพิ่มศักยภาพด้านการบินของประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค ดังนั้น กระทรวงคมนาคม หนึ่งในหน่วยงานรัฐเล็งเห็นถึงความจำเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเตรียมพร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งภาคขนส่งทางอากาศถือเป็นปัจจัยสำคัญในการรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ
ซึ่งระหว่างการนำคณะเยือนเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 4-7 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดย สุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าตามภารกิจดันไทยเป็นฮับการบินของภูมิภาค และเช็กสถานการณ์ภาคท่องเที่ยวหลังชาวจีนบินมาท่องเที่ยวไทยในอัตราที่สูงต่อเนื่องไว้ว่า ได้มอบหมายให้ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ทำการปรับปรุงพัฒนาระบบเทคโนโลยี บริการการเดินอากาศด้วยมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด เตรียมพร้อมรองรับการเติบโตของเที่ยวบิน ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการบินของภูมิภาค
ซึ่งเป้าหมายคือ 1.การเพิ่มและขยายขีดความสามารถในการรองรับของสนามบิน 2.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการห้วงอากาศและเส้นทางบิน 3.เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ 4.เพิ่มประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ และการนำเทคโนโลยีเข้าใช้งาน และ 5.เพิ่มประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ สายการบิน และสนามบิน โดยแบ่งเป็นแผนพัฒนาระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
“ผมพร้อมจะสนับสนุนโครงการต่างๆ และขับเคลื่อนการลงทุนและพัฒนาในทุกด้าน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการบินของประเทศ สนับสนุนนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมให้ไปสู่เป้าหมาย สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างขีดความสามารถให้ประเทศชาติต่อไป”
สำหรับภาพรวมจีน-ไทยขณะนี้พบว่า เที่ยวบินระหว่างไทย-จีน มีสัดส่วนสูงสุดถึง 20% ของปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมด จากสถิติที่ทำการรวบรวมช่วง 8 เดือน ตั้งแต่ตุลาคม 2566-พฤษภาคม 2567 พบว่าเที่ยวบินไทย-จีน รวม 55,433 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 213% คาดว่าทั้งปี 2567 จะมีปริมาณเที่ยวบิน 86,150 เที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้น 126% ปัจจุบันเที่ยวบินจากจีนจอดในไทยมีที่สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ สมุย และกระบี่ เป็นทั้งขนส่งสินค้าและเที่ยวบินโดยสาร ยกเว้น ดอนเมืองและสมุย เป็นตารางการบินล่วงหน้าเท่านั้น
สุรพงษ์ระบุต่อว่า ตอนนี้หลายสายการบินกลับมาให้บริการในเส้นทางบินไทย-จีน มีการขอเพิ่มเที่ยวบินไปจุดหมายปลายทางที่เป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญอย่างเฉิงตู จึงต้องเตรียมขยายตลาดการบินรองรับนักท่องเที่ยว สำหรับเฉิงตูเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่สำคัญด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ชาวเฉิงตูมีศักยภาพด้านการใช้จ่าย สนใจท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น ถือเป็นการขยายตลาดการบินที่คุ้มค่าการลงทุน และจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาล ดูจากสถิติเที่ยวบินไทย-เฉิงตูผ่านที่สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และสมุย ระยะ 8 เดือนที่ผ่านมา รวม 5,896 เที่ยวบิน คาดทั้งปี 2567 เที่ยวบินไป-กลับเฉิงตู รวม 8,850 เที่ยวบิน หรือเพิ่มถึง 265%
“ผมมอบหมายให้ บวท.เร่งขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน โดย บวท.จัดสร้างเส้นทางการบินใหม่ให้เป็นเส้นทางแบบคู่ขนาน (Parallel Route) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศ โดยอาศัยเทคโนโลยี Performance Based Navigation (PBN) เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการจราจรทางอากาศ เพิ่มขีดความสามารถรองรับเที่ยวบินให้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ลดระยะทางการบิน เป็นการลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย และเน้นย้ำให้ บวท.เตรียมความพร้อมของระบบการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ และจัดเตรียมสถานติดตั้งระบบใหม่ รองรับปริมาณเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต คาดว่าจะมีเที่ยวบินประมาณ 2 ล้านเที่ยวบินในปี 2581” สุรพงษ์ระบุในตอนท้าย
พร้อมกันนี้ เสก นพไธสง กงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู เผยว่า ในแง่ของภาพใหญ่จีน-ไทย เสริมว่า ปี 2568 ครบ 50 ปีของความสัมพันธ์ไทยกับจีนจริงแล้วความสัมพันธ์สองประเทศนับร้อยปี ตั้งแต่ชาวไทยเชื้อสายจีนย้ายมาตั้งรกรากในไทย เป็นส่วนหนึ่งช่วยพัฒนาประเทศและนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ไทยจนถึงวันนี้ อีกทั้งสถาปนาเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านจีน-ไทย มาแล้วกว่า 12 ปี เชิงการค้า จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุด เป็นแหล่งการลงทุนสำคัญของไทย ตลอด10 ปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทย-จีนปี 2566 มีมูลค่าเกือบ 105,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรใหญ่สุดของไทย และเป็นตลาดส่งออกสินค้าอันดับ 2 รองจากสหรัฐ
คุณเสกเล่าต่อว่า ศักยภาพของมณฑลเสฉวน เฉิงตู เคยเป็นเมืองหลวงเก่าของจีน เป็นชัยภูมิสร้างแว่นแคว้นมาตั้งแต่สมัยโบราณ คนเสฉวนมีลักษณะนิสัยคล้ายคนไทย มีความเป็นมิตร นิยมใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์คล้ายแพนด้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของที่นี่ ชอบอาหารรสเผ็ดจัดจ้าน เช่น หม้อไฟหมาล่าที่คนไทยกำลังนิยม คนเสฉวนมีเศรษฐกิจดี มีกำลังซื้อ นิยมท่องเที่ยวในและนอกประเทศ สะท้อนจากคนเสฉวนเป็นนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศจีนที่ใช้จ่ายในไทยเฉลี่ย 7,300 หยวน หรือประมาณ 37,000 บาทต่อคน รองจากชิงเต่า ใช้จ่ายเฉลี่ย 8,000 หยวนต่อคน
อีกความสำคัญคือ มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งเป็นเมืองที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง วางตัวเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมโลจิสติกส์และจุดเชื่อมต่อของซัพพลายเชน ระหว่างภาคตะวันตกของจีนกับอาเซียน เอเชียกลาง และยุโรป โดยทางรถไฟเป็นต้นทางของเส้นทางระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (ILSTC) เชื่อมต่อข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมทางภาคเหนือของจีน เส้นทางเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 และรถไฟจีน-ลาว รวมถึงเชื่อมต่อกับท่าเรือในอ่าวเป่ยปู้ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งมีเส้นทางขนส่งสินค้าเชื่อมลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์
ในแง่นโยบายของรัฐบาลไทย ประกาศวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND 8 ด้าน พบว่า กว่าครึ่งมีความเกี่ยวข้องกับจีนโดยตรง ได้แก่ 1.ศูนย์กลางการท่องเที่ยว เป้าหมายจีนเป็นนักท่องเที่ยวอันดับหนึ่งเยือนไทย ซึ่งตั้งแต่ต้นปีนี้ชาวจีนเยือนไทยแล้วกว่า 3 ล้านคน และมีเป้าทั้งปีรวม 8 ล้านคน เป็นประเทศแรกๆ ใช้นโยบายวีซ่าฟรี 2.ศูนย์กลางการเกษตรและอาหาร ด้วยจีนเป็นประเทศที่ไทยส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรเป็นอันดับหนึ่งโดยเฉพาะทุเรียน 3.ศูนย์กลางการผลิตรถยนต์แห่งอนาคต ปัจจุบันมีบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของจีนเข้าลงทุนในไทย อาทิ BYD ที่เพิ่งฉลองการผลิตรถครบ 8 ล้านคัน หรือบริษัทฉางอัน จากนครฉงชิ่ง จะช่วยให้ไทยรักษาการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาค 4.ศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคที่ไทยจะร่วมมือกับจีนในโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของจีน ซึ่งนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลจีน การสร้างรถไฟจีน-ลาวเริ่มใช้งานแล้ว ส่วนไทยกำลังก่อสร้างจะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ เติมเต็มด้านโลจิสติกส์และขนส่ง โดยเฉพาะไทยเข้าภาคตะวันตกของจีนและเชื่อมต่อจากจีน ไปเอเชียกลางและยุโรป
สำหรับศูนย์การบิน โดยเฉพาะการบินสองประเทศเป็นที่ประจักษ์ นครเฉิงตู มีสายการบินเกือบ 10 สายการบิน รวมทั้งการบินไทย บินตรงระหว่างกรุงเทพฯ-เฉิงตูทุกวัน และเฉิงตู-ภูเก็ตทุกวัน บินตรงเชียงใหม่และสมุยทุกสัปดาห์ รวมทั้งชาวมณฑลเสฉวนเดินทางเข้าไทยเพิ่มสูงอย่างมีนัยสำคัญ
“ขอยกถ้อยคำของประธานาธิบดี ‘สี จิ้นผิง’ เห็นพ้องกับนายกรัฐมนตรีเศรษฐาที่พบกันเดือนตุลาคมปีก่อนว่า ไทยจะทำงานร่วมกับจีนเพื่อสร้างประชาคมจีน-ไทย ที่มีอนาคตร่วมกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น ดังนั้น การเยือนครั้งนี้ถือเป็นการแสดงความจริงใจของรัฐบาลไทยในการร่วมมือกับจีนในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะโครงการ BRI และนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาลไทยอย่างเป็นรูปธรรม” คุณเสกกล่าว
ด้าน พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า บวท.เตรียมความพร้อม และกำหนดมาตรการให้บริการจราจรทางอากาศ ความพร้อมบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ ที่จะรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้น และอำนวยความสะดวกทุกเที่ยวบินที่เข้ามาในน่านฟ้าไทย
พร้อมกับฉายแผนงาน บวท. ประกอบด้วย แนวทางวิธีปฏิบัติการให้บริการจราจรทางอากาศ เพิ่มขีดความสามารถของสนามบิน ตามโครงการพัฒนาและขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะ 2 ได้แก่ เปิดใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินรองระยะไกล หลัง 1 (SAT-1) และการใช้งานทางวิ่งเส้น 3 จะเปิดบริการเดือนกันยายนนี้ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานทางวิ่ง(HIROs) การจัดระยะห่างของอากาศยานขาเข้าและขาออกให้เทียบเท่าสนามบินชั้นนำของโลก จะทำให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินได้สูงสุดเท่าที่ขีดความสามารถของสนามบินรองรับได้
อีกทั้งนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการเที่ยวบินขาเข้า คือ ระบบ Arrival Manager (AMAN) และจัดการเที่ยวบินขาออกด้วยระบบ Intelligent Departure (iDep) เพิ่มขีดความสามารถการบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ ทำให้บินตรงเวลาตามตารางการบิน รองรับปริมาณเที่ยวบินได้มากที่สุด มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการการเดินอากาศ และเพิ่มศักยภาพการให้บริการการเดินอากาศ บริหารห้วงอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านโครงการความร่วมมือกับจีนและลาว สร้างเส้นทางบินใหม่แบบคู่ขนาน (Parallel Route) ช่วยแก้ไขปัญหาคอขวด จากเดิมตรวจสอบพบว่าเส้นทางการบินเข้า-ออกระหว่างประเทศไทยกับจีนมีปัญหาคอขวดบริเวณประเทศลาวที่จะเข้าไทย บวท.จึงหารือกับทางจีนและลาว สร้างกรอบความร่วมมือแก้ไข ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำเส้นทางบินคู่ขนานทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อบริหารจัดการจราจรทางอากาศ มุ่งหน้าไปสนามบินหลักคือ เชียงใหม่ และเชียงราย รวมทั้งเส้นทางบินแยกย่อยไปสนามบินภาคเหนือ รวมถึงเชื่อมต่อเส้นทางบินระหว่างประเทศ รองรับปริมาณการจราจรทางอากาศจากจีน จะทำให้สามารถเชื่อมโยงไปเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของจีน เช่น เฉิงตู คุนหมิง กุ้ยหยาง ฉงชิ่ง และซีอาน ทั้งนี้ ในการประชุม The First Airspace Management Cooperation Meeting ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หน่วยงานการบินของจีน เสนอหลักการสร้างเส้นทางบินคู่ขนาน เส้นทางบิน LPB-ELASU (จีน-ลาว) โดยมีข้อเสนอแนวทางการสร้างเส้นทางบินใหม่ และเส้นทางบินแบบ Conditional Route รวม 2 เส้นทางบิน ซึ่ง บวท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบในหลักการและจะจัดทำแผนดำเนินการ คาดแล้วเสร็จปี 2569
ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวถึงการส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางการบินของ บวท.ไว้ว่า ได้ดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ระยะเริ่มต้น (Phase 0) เน้นการขนส่งสินค้าทางอากาศจากเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะเที่ยวบินจากจีน พัฒนาส่งเสริมให้ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในอนาคต และเกิดศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจ โดยเฉพาะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation ซึ่งนำแนวคิด Aerotropolis มาจากต้นแบบสนามบินนานาชาติเฉิงตู เทียนฟู่ ซึ่ง บวท.ต้องให้บริการระดับสากล จำเป็นต้องมาศึกษาเรียนรู้ข้อมูล การพัฒนาเทคโนโลยีการบริหารจัดการสนามบินเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดบริการทุกด้าน
สำหรับท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตู เทียนฟู่ เป็นสนามบินระดับ 5 ดาวแห่งแรกของ SKYTRAX ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เป็นสนามบินหลักของคลัสเตอร์สนามบินระดับโลกเฉิงตู-ฉงชิ่ง เปิดให้บริการวันที่ 27 มิถุนายน 2564 ระยะแรกลงทุนประมาณ 75 พันล้านหยวน แนวคิดการออกแบบได้แรงบันดาลใจจากลักษณะเฉพาะของ “นกเทพสุริยัน” ของเมืองเฉิงตู เป็นสนามบินขนส่งพลเรือนใหญ่ที่สุดในจีนช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 13 และเป็นสนามบินศูนย์กลางใหญ่สุดฝั่งตะวันตกของจีน
ซึ่งการเยือนครั้งนี้จะนำไปสู่การยกระดับการให้บริการทุกด้าน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจไทย ตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค