‘หมอชิต-คูคต’ทำเลทองคอนโด
บิ๊กอสังหาแข่งผุด-ที่ดินพุ่งวาละ 1.8 ล้าน
ด้วยอานิสงส์รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วง “หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” ทำให้ภาพของทำเล “กรุงเทพโซนเหนือ” มีการพลิกโฉมขึ้นเรื่อยๆ ตามการพัฒนาโครงการใหม่เกิดขึ้นในแต่ละปีที่กระจายไปตามสถานีของรถไฟฟ้า
จะว่าไปแล้ว ย่านนี้คึกคักมาตั้งแต่ก่อนหน้าที่รถไฟฟ้าจะตอกเข็ม มีบิ๊กแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ เข้าไปปักหมุดลงทุนรอล่วงหน้าแทบจะทุกค่าย อย่าง บมจ.เอพี ไทยแลนด์ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น บมจ.แสนสิริ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ บจ.แกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ บมจ.แอสเซทไวส์ บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์บมจ.ริชี่ เพลซ 2002 เป็นต้น
ซึ่งทำเลไฮไลต์อยู่ในรัศมีสถานีห้าแยกลาดพร้าว รัชโยธิน เสนานิคม เกษตรศาสตร์ พหล59 สายหยุด และคูคต คิดเป็นมูลค่าการลงทุนหลายหมื่นล้านบาท
ล่าสุด หลังรถไฟฟ้าเปิดบริการ เริ่มเห็นบิ๊กแบรนด์ดาหน้าลงทุนเพิ่มอีกระลอก โดย อภิสิทธิ์ สุนทรชูเกียรติประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมบริษัท ออริจิ้น เวอร์ติเคิล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เครือ บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทเข้าไปลงทุนคอนโดแนวสายสีเขียวช่วงหมอชิต-คูคต รวม 15 โครงการ กว่า 5,600 ยูนิต รวมมูลค่า 19,500 ล้านบาท ล่าสุด วันที่ 13-14 กรกฎาคมที่ผ่านมา เปิดขาย “ดิ ออริจิ้น พหล 57” เนื้อที่ 6 ไร่ ใกล้สถานีพหล 59 สูง 8 ชั้น 2 อาคาร กว่า 400 ยูนิต มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท เริ่มต้น 1.89 ล้านบาท และปี 2568 จะเปิดโครงการใหม่ติดสถานี คปอ.
ด้าน “เซ็นทรัลพัฒนา” หลังซุ่มซื้อที่ติดสถานีพหล 59 มานานแรมปี อยู่ระหว่างเตรียมนำที่ดินพัฒนาเป็นโครงการ “ฟีล พหล 59 สเตชั่น” คอนโด 14 ชั้น 1 อาคาร รวม 439 ห้อง ล่าสุดกำลังทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)
ขณะที่ “เอสซี” เป็นอีกค่ายที่ปักหมุดโซนนี้ในหลายสถานี ตั้งแต่ห้าแยกลาดพร้าว รัชโยธิน สถานีบางบัว โดยปลายปี 2566 เปิดตัว “โคปป์ เกษตร-ศรีปทุม” รัศมี 0 เมตร สถานีบางบัว มูลค่า 1,600 ล้านบาท ล่าสุด ซื้อที่ดินด้านหน้า ม.เกษตรศาสตร์ ขึ้นโครงการ “เรฟเฟอเรนซ์ เกษตร” สูง 21 ชั้น 1 อาคาร รวม 381 ห้อง และอาคารเพื่อการพาณิชย์ 2 ชั้น 1 อาคาร มีร้านค้า 10 ห้อง
ค่าย “พฤกษา” เป็นอีกค่ายที่ขยับอีกครั้ง หลังส่งคอนโดแบรนด์ “แชปเตอร์วัน” ปักหมุดทำเลเกษตรเมื่อ 11 ปีก่อน ล่าสุด เปิดขาย “แชปเตอร์วัน มอร์ เกษตร” คอนโด 8 ชั้น 3 อาคาร รวม 563 ยูนิต มูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท ตั้งอยู่ซอยพหลโยธิน 40 ชูทำเลมหาวิทยาลัย เหมาะลงทุนปล่อยเช่าและอยู่อาศัยเอง เปิดชมห้องตัวอย่างแล้ว เมื่อ 13-14 กรกฎาคมที่ผ่านมา เริ่มต้น 2.29 ล้านบาท หรือประมาณ 80,000 บาทต่อ ตร.ม. เป็นราคาเดียวกับเมื่อ 11 ปีที่แล้ว
ด้าน “เสนา” ทาง เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท กล่าวว่า หลังปิดการขาย “เสนาคิทท์ สะพานใหม่” ปัจจุบันกำลังเปิดขาย “โคซี่ สะพานใหม่” ต่อเนื่อง เป็นคอนโดออกแบบด้วยแนวคิดโลว์คาร์บอน สูง 8 ชั้น มี 3 อาคาร รวม 656 ยูนิต เริ่มต้น 1.29 ล้านบาท ซึ่งทำเลนี้ มียอดขายดีกว่าทำเลอื่น เพราะมีรถไฟฟ้าที่เดินทางเข้าเมืองสะดวกและราคาต่อยูนิตไม่ได้แพงมาก เมื่อเทียบกับโครงการในละแวกเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการนอกตลาดอย่าง “กลุ่มอัสสกาญจน์” แลนด์ลอร์ดโซนรามคำแหง-ศรีนครินทร์ ได้ทุ่มซื้อที่ดินติดถนนพหลโยธิน เป็นที่ตั้งเดิมของคลินิกทันตกรรม เนรมิตโครงการ “Exclusive Condo @ พหลโยธิน 59 สเตชั่น” คอนโดแนวสูง 3 อาคาร รวม 1,000 ยูนิต อยู่ระหว่างทำรายงานอีไอเอ
สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2558 พื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า มีคอนโดเปิดขายใหม่ต่อเนื่อง ในบางสถานีมีเปิดขายใหม่รวมกัน ในช่วงปี 2558-2559 ไม่ต่ำกว่า 2,000 ยูนิต เช่น สะพานใหม่ หรือรัชโยธินที่มีเปิดขาย 1,000 ยูนิต และยังคงเป็นพื้นที่ได้รับความสนใจต่อเนื่องจากผู้ประกอบการจนหาที่ดินในพื้นที่โดยรอบสี่แยกรัชโยธินได้ยากแล้ว ทำให้สถานีเสนานิคมเป็นทำเลที่ได้รับความสนใจเป็นลำดับถัดมา ปัจจุบันมีคอนโดเปิดขายรวมกัน 3,700 ยูนิต จากที่ไม่เคยมีมาก่อนเลยช่วง 10 ปีนี้
ขณะที่ “สถานีพหลโยธิน 24” มีคอนโดเปิดขายไม่ต่ำกว่า 2,100 ยูนิต อนาคตจะมีศูนย์การค้าเซ็นทรัลแห่งใหม่น่าจะพลิกโฉมบริเวณโดยรอบได้อีกไม่น้อย รวมไปถึงสถานีวัดพระศรีฯ ขึ้นไปถึงสถานีคูคต ก่อนหน้านี้อาจไม่ค่อยเป็นที่สนใจ เพราะมีข้อจำกัดด้านความสูง ห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 45 เมตร เนื่องจากใกล้สนามบินดอนเมือง ปัจจุบันเริ่มมีโครงการคอนโดเกิดขึ้นหลังรถไฟฟ้าเปิด
ปัจจุบันมีคอนโดในแนวเส้นทางจากหมอชิต-คูคตสะสมอยู่กว่า 33,390 ยูนิต และขายได้ 86% อาจดูว่าขายได้มาก แต่ยังมีเหลือขายอยู่ไม่ต่ำกว่า 4,000 ยูนิต แม้ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีคอนโดเปิดขายใหม่ไม่มาก แต่บางโครงการยังมียูนิตเหลือขายอยู่ไม่น้อย ราคาขายก็แตกต่างกัน ย่านห้าแยกลาดพร้าวราคาไม่ต่ำกว่า 150,000 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.) สถานีรัชโยธิน สถานีพหลโยธิน 24 ไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อ ตร.ม. สถานีเสนานิคมไปถึงสถานีบางบัวไม่ถึง 100,000 บาทต่อ ตร.ม. อาจมีเพียงบางโครงการที่เปิดขายได้ราคามากกว่า 120,000 บาทต่อ ตร.ม. หากเลยสถานีวัดพระศรีฯไปแล้ว เปิดขายต่ำกว่า 80,000 บาทต่อ ตร.ม.
ด้านความเคลื่อนไหวของราคาที่ดิน “สุรเชษฐ” กล่าวว่า การซื้อขายที่ดินเริ่มมีมากขึ้น ส่งผลต่อราคาปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน ในอดีตราคาที่ดินตลอดเส้นทางอาจเปลี่ยนแปลงไม่มาก เพราะมีข้อจำกัดการพัฒนา ทั้งที่ถนนพหลโยธินตั้งแต่ห้าแยกลาดพร้าวไปถึงคูคต มีศักยภาพสูงมาก มีทั้งสถาบันการศึกษา ศูนย์การค้า ชุมชนเก่า อาคารสำนักงาน หน่วยงานราชการ รวมถึงมีโครงข่ายถนนที่ทำให้การเดินทางไม่ลำบาก ยิ่งมีรถไฟฟ้ายิ่งส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น
“ราคาที่ดินก่อนปี 2560 รอบห้าแยกลาดพร้าวไม่เกิน 6 แสนบาทต่อ ตร.ว. จากนั้นปรับเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ถึงไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อ ตร.ว. หรืออาจถึง 1.2-1.3 ล้านบาทต่อ ตร.ว.ในปัจจุบัน ขณะที่บางพื้นที่ เช่น สถานีพหลโยธิน 24 รัชโยธิน บอกขายกันไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อ ตร.ว. ส่วนพื้นที่ไกลออกไป เช่น สถานีสะพานใหม่ มีบอกขายกันไม่ต่ำกว่า 4-5 แสนบาทต่อ ตร.ว.ไปแล้ว” สุรเชษฐกล่าว
มาที่ โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (AREA) ประเมินไว้ราคาที่ดินพหลโยธินช่วงต้นติด 1 ใน 10 ทำเลราคาสูงสุด โดยปรับเพิ่มขึ้นปีละ 1-1.3 แสนบาทต่อ ตร.ว. จากปี 2565 อยู่ที่ 1.57 ล้านบาทต่อ ตร.ว. ปี 2566 อยู่ที่ 1.7 ล้านบาทต่อ ตร.ว. ล่าสุดปี 2567 ราคาอยู่ที่ 1.8 ล้านบาทต่อ ตร.ว. ซึ่งมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอีก 3-5% ตามราคาซื้อขายในตลาดที่มีการปรับขึ้นทุกปี ตามความคืบหน้าการเปิดใช้รถไฟฟ้าสายใหม่นั่นเอง
จากข้อมูลข้างบน “กรุงเทพโซนเหนือ” เป็นอีกทำเล ที่การแข่งขันรุนแรงไม่น้อยหน้าโซนอื่นๆ