ลุ้นกดปุ่ม‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ปั๊ม ศก.ไทย เผชิญเหลื่อมล้ำถ่าง-หนี้ท่วม

ลุ้นกดปุ่ม‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ปั๊ม ศก.ไทย เผชิญเหลื่อมล้ำถ่าง-หนี้ท่วม

แม้วันเวลาจะเปลี่ยนแปลง หลายสิ่งหลายอย่างได้รับการพัฒนา แต่ปัญหาที่หมักหมมและซุกซ่อนอยู่ในประเทศไทย คือ คุณภาพชีวิตของคนไทยก่อเกิดความเหลื่อมล้ำที่ถ่างขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับความเจริญทางวัตถุ ทั้งถนน รถไฟฟ้ามากมาย เทคโนโลยีต่างๆ สัญญาณอินเตอร์เน็ตที่เจริญก้าวหน้าขยายครอบคลุมทั่วประเทศ

สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อไทยเดือนมิถุนายน 2567 สูงขึ้นอัตราชะลอตัวที่ 0.62% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจุบันเงินเฟ้อไทยอยู่ระดับต่ำเป็นอันดับสองเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ค่าครองชีพสวนทาง สูงลิบ ไม่ว่าจะค่าอาหาร ค่าเดินทาง ราคาน้ำมัน และค่าไฟฟ้าที่กำลังจะปรับตัวขึ้น

⦁รายได้คนไทยสะท้อนเหลื่อมล้ำ
ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนไทยทรงตัวสูงมาก สัดส่วนระดับมากกว่า 90% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) คิดเป็นมูลหนี้กว่า 16 ล้านล้านบาท เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดทับกำลังซื้อของประชาชน

อีกปัญหาที่เจอคือ การเติบโตแทบกระจุกตัวและไม่ทั่วถึง โดยกลุ่มรายได้สูงอยู่แล้วจะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่า ข้อมูลปี 2566 พบว่า 40% ของการบริโภคมาจากกลุ่มรายได้สูงสัดส่วน 10%

ADVERTISMENT

ข้อมูลสำคัญจากงานสัมมนาประจำปี 2567 แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไรให้ยั่งยืน จัดโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่า ภาคครัวเรือนอีสาน มีรายได้เติบโตต่ำกว่ารายได้ของประเทศ

โดย ธปท.คาดการณ์จีดีพีไทยปี 2567 อยู่ที่ 2.6% ต่อปี และคาดการณ์จีดีพีของภาคอีสาน ติดลบ 0.2-0.8% ส่วนปี 2568 จีดีพีไทยอยู่ที่ 3.0% ส่วนจีดีพีภาคอีสานจะขยายตัวที่ 0.9-1.9%

ADVERTISMENT

ขณะเดียวกัน ครัวเรือนอีสาน ยังมีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายมากถึง 5,396 บาทต่อเดือน เป็นพื้นที่ที่มีช่องว่าง(gap) สูงที่สุด เมื่อเทียบกับภาคอื่นในประเทศ และยังมีการขยายตัวอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2556ที่รายได้น้อยกว่ารายจ่ายที่ 2,338 บาทต่อเดือน

รวมทั้งยังมีการพึ่งพาเงินช่วยเหลือมากที่สุดที่ 5,024 บาทต่อครัวเรือน และครัวเรือนอีสานมีสัดส่วนรายได้ที่ไม่ได้มาจากการทำงานหรือผลิตเองสูงถึง 31% ของรายได้คนอีสานเฉลี่ยต่อปี แถมยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ แรงงานอีสานมากกว่า 50% อยู่ในภาคการเกษตร ทำให้โอกาสที่รายได้จะเติบโตไม่มากนักเนื่องจากพึ่งพารายได้เพียง 1 รอบต่อปี และเกษตรกรอีสานกว่า 93% เป็นหนี้ และในส่วนนี้เองมากกว่า 53% เป็นหนี้เรื้อรัง สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศที่อยู่ราว 49.7%

ขณะที่ภาพรวมของประเทศเองก็ไม่ต่างกัน มีการฟื้นตัวอย่างไม่เท่าเทียม อาทิ ข้อมูลจาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า สถานการณ์การปิดกิจการของโรงงานอุตสาหกรรม ช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) ในปี 2567 ปิดไปกว่า 600 โรงงาน มูลค่าเฉลี่ย 27 ล้านบาทต่อโรงงาน ส่วนในปี 2566 ปิดตัวลงไป 358 โรงงาน มูลค่าเฉลี่ย 110 ล้านบาท สะท้อนว่าผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี กำลังแข่งขันไม่ไหว การเข้าถึงแหล่งเงิน ธนาคารก็มีความเข้มงวดในการปล่อยกู้

ขณะที่สถิติเปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมใน 5 เดือนแรก มีทั้งสิ้น 1,009 โรงงาน มูลค่าเฉลี่ย 170 ล้านบาท เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 เปิดตัว 809 โรงงาน ขนาดโดยเฉลี่ย 78 ล้านบาทต่อโรงงาน สะท้อนให้เห็นว่าขนาดของโรงงานที่เปิดเป็นโรงงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

ข้อมูล ส.อ.ท.ระบุว่า ปัจจุบันเอสเอ็มอียังเป็นลองโควิด เปราะบางอย่างมาก มีโอกาสที่จะปิดตัวเพิ่มขึ้นอีก รวมถึงสินค้าส่งออกของไทยเองไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมานาน ภาครัฐควรเร่งดูแล ช่วยเหลือ ทั้งด้านต้นทุน การปรับกระบวนการผลิตไปสู่สินค้ามูลค่าสูง และกลุ่มสินค้าไฮเทค

⦁รีวิวมาตรการคลังเกือบ 1 ปี
ทั้งนี้ ตั้งแต่รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหาร เป็นเวลาราว 11 เดือน แล้วนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ได้แถลงต่อรัฐสภาถึง นโยบายแก้หนี้สิน เกษตรกร ประชาชน และภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี โดยรัฐบาลประกาศ นโยบายพักหนี้เกษตรกร เป็นนโยบายแรก ปัจจุบันกำลังจะขยายต่อเป็นระยะที่ 2 แต่เรื่องของผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการนี้ ยังไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการ

พร้อมกันนั้น รัฐบาลยังได้ออก มาตรการแก้หนี้กลุ่มข้าราชการ ครู และตำรวจ โดยให้กลุ่มเป้าหมาย ไปรีไฟแนนซ์หนี้กับธนาคารออมสิน และยังมีมาตรการแก้หนี้นอกระบบ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 17 กรกฎาคม 2567 มีประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบได้รับอนุมัติให้ความช่วยเหลือทางการเงินไปแล้วจำนวน 1.5 หมื่นราย ยอดอนุมัติรวมทั้งสิ้น 714 ล้านบาท

ขณะที่การช่วยเหลือเรื่องแหล่งเงินทุนนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงการคลังออกหลายมาตรการเพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นการออก สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารออมสิน วงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยธนาคารออมสินจะปล่อยสินเชื่อให้ธนาคารพาณิชย์ในอัตรา 0.01% และให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยต่อให้เอสเอ็มอี ในอัตราไม่เกิน 3.5%

ขณะเดียวกัน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ออกโครงการค้ำประกันสินเชื่อ พีจีเอส 11 วงเงินค้ำประกัน 5 หมื่นล้านบาท โดยจะค้ำประกันไม่เกิน 30% ของพอร์ตสินเชื่อที่เข้าร่วมโครงการ และคิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเฉลี่ยทั้งโครงการไม่เกิน 1.75%

นอกจากนี้ ยังมี มาตรการทางภาษี อาทิ ปรับปรุงโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การปรับลดอัตราภาษีสถานบันเทิง มาตรการลดหย่อนภาษี 1.5-2 เท่า สำหรับการท่องเที่ยว อบรม สัมมนาทั่วไทยจังหวัดท่องเที่ยวรอง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมงานศิลปะและรถยนต์โบราณ หนุนซอฟต์พาวเวอร์

รวมไปถึง นโยบายสุดพีค ที่เรียกกระแสนิยมได้ อย่าง โครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ (หวยเกษียณ) ที่มุ่งเน้นในเรื่องการจูงใจให้คนไทย โดยเฉพาะที่ทำงานนอกระบบ เก็บออมเงินมากขึ้น

⦁ชำแหละเงินดิจิทัล ลุ้นแจกจริง
อย่างไรก็ดี นโยบายใหญ่ที่หลายคนจับตา คงหนีไม่พ้น โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งที่ผ่านมา โครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง โดยเฉพาะเรื่องของเวลาเริ่มโครงการ เรื่องจำนวนคนได้สิทธิ และวงเงินในโครงการ และเรื่องแหล่งเงิน

โดยโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ช่วงเริ่มต้นหาเสียง เศรษฐา ระบุว่าถ้ามาเป็นนายกรัฐามนตรี จะเติมเงินก้อนนี้สู่ประชาชนทันที แต่เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว ด้วยขั้นตอนต่างๆ ทำให้ต้องขยับ ปรับเป็นเริ่มเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และเลื่อนมาเรื่อยๆ

ล่าสุด มีความชัดเจนแล้วว่าจะเริ่มเปิดลงทะเบียนร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต วันที่ 1 สิงหาคมนี้ และจะเริ่มใช้จ่ายเงินดิจิทัลได้ ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567

สำหรับ เรื่องของจำนวนคนกลุ่มเป้าหมายจะได้รับสิทธิในโครงการ เริ่มแรกจากช่วงหาเสียง จนถึงเริ่มจัดตั้งรัฐบาล เศรษฐา ยังยืนยัน เติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้กับประชาชนคนไทยตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไปซึ่งมีจำนวนกว่า 56 ล้านคน ให้เม็ดเงินกว่า 5.6 แสนล้านบาท

แต่จากข้อเสนอแนะ และการทักท้วงของหลายฝ่ายที่ว่าไม่ควรทำนโยบายแบบทั่วหน้า ทำให้ช่วงต้นปี 2567 มีการปรับเงื่อนไขครั้งใหญ่ จากแจกทุกคนที่อายุตั้งแต่ 16 ปี เป็นตัดกลุ่มฐานบนที่เข้าข่ายมีรายได้สูงออก โดยตัดผู้ที่มีรายได้เกิน 7 หมื่นบาทต่อเดือน และหรือ ผู้ที่มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท ทำให้กลุ่มเป้าหมายลดลงเหลือ 50 ล้านคน จาก 56 ล้านคนส่วนวงเงินเหลือ 5 แสนล้านบาท จากที่ตั้งไว้ 5.6 แสนล้านบาท

ล่าสุด ปรับลดขนาดวงเงินอีกครั้ง เหลือ 45 ล้านคนใช้วงเงินลดลงมาอยู่ที่ 4.5 แสนล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าจากสถิติของโครงการรัฐที่เคยทำมาตลอด ไม่ว่าจะโครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกันนั้น มีผู้ใช้สิทธิจริงๆ เพียง 80-90% ของกลุ่มเป้าหมายในโครงการ รวมถึงเป็นการเตรียมงบประมาณให้พอดีกับโครงการด้วย

ขณะที่เรื่องของแหล่งเงินที่จะมาทำโครงการนั้น มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขไปมาหลายครั้ง ถือเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอย่างมากเช่นกัน โดยเฉพาะจากนักวิชาการ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เริ่มแรกโครงการที่วงเงิน 5.6 แสนล้านบาทนั้น จะใช้งบประมาณ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะมาจากส่วนไหนบ้าง

ต่อมามีกระแสข่าวว่าจะใช้ผสมกับเงินนอกงบประมาณ คือ มาตรา 28 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง โดยจะเป็นธนาคารออมสินออกให้ก่อน แต่ก็ติดขัดเรื่องกฎหมาย พอปรับลดวงเงินเหลือ 5 แสนล้านบาท รัฐบาลก็ใช้แนวทางใหม่ คือการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งช่วงนั้นถือว่าท้าทายอย่างมาก เพราะข้อกฎหมายเองมีการจำกัด และการออกเงินกู้เพื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีคำถามจากหลายฝ่ายว่า เป็นการกู้เงินมาแจกหรือไม่

จุดเปลี่ยนใหญ่อีกครั้ง คือ การปรับกลับมาใช้งบประมาณแผ่นดินอีกครั้ง โดย 5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการบริหารจัดการงบประมาณปี 2567 ที่จำนวน 1.75 แสนล้านบาท การบริหารจัดการงบประมาณปี 2568 ที่ 1.52 แสนล้านบาท และจากการดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 28ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ 1.72 แสนล้านบาท

ไปๆ มาๆ สรุปจบไม่ลง โดยเฉพาะวงเงินมาตรา 28ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง โดย ธ.ก.ส. ซึ่งนับว่าเป็นเงินนอกงบประมาณ ปัญหาที่ถูกกล่าวถึง คือ วิธีการนี้ถูกกฎหมาย หรือจะซ้ำรอยโครงการเก่าของรัฐบาลเพื่อไทย อย่างจำนำข้าวหรือไม่ ขณะเดียวกัน มีอีกข้อห่วงใยคือ ธ.ก.ส.มีเม็ดเงินเพียงพอให้รัฐบาลถึง 1.72 แสนล้านบาท หรือไม่

ล่าสุด จึงปรับลดวงเงินมาอยู่ที่ 4.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 1.งบประมาณปี 2567 จำนวน 1.65 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท และงบประมาณจากการบริหารจัดการในปีงบ 2567 อีก 4.3 หมื่นล้านบาท และ 2.งบประมาณปี 2568 จำนวน 2.85 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณที่จัดสรรให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตไว้แล้ว 152,700 ล้านบาท และที่บริหารจัดการเพิ่มเติมในปีงบ 2568 อีก 132,300 ล้านบาท

โดยรัฐบาลยืนยันว่า ยังไม่ถึงขั้นตัดทางเลือก การใช้เงินจาก ธ.ก.ส.ออกไป เพราะถ้าหากมีประชาชนเข้าโครงการเกิน 45 ล้านคน ก็คงเลือกใช้เงินจาก ธ.ก.ส.มาเสริม อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามการแถลงใหญ่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ โดย นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ต่อไป

โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อกระจายไปถึงมือทุกคนจะมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและเป็นพลังกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้จริงหรือไม่ น่าติดตามอย่างมาก

⦁ลดเงินไม่กระทบตัวเลขเศรษฐกิจ
ขณะที่ ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุถึงกรณีที่คณะอนุกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต ลดวงเงินงบประมาณ จาก 5 แสนล้านบาท เหลือ 4.5 แสนล้านบาท ว่าการลดวงเงินส่วนนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เพราะวงเงินที่ตั้งไว้ 5 แสนล้านบาทถ้าลดมา 4.5 แสนล้านบาท หรือลดลงมา 5 หมื่นล้านบาทวงเงินส่วนนี้เมื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จะกระตุ้นได้เพียง 0.3% ของจีดีพีทั้งปี

ถ้าหากวงเงินหายไป 1-2 แสนล้านบาท จะมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ ดังนั้น 5 หมื่นล้านบาทที่รัฐบาลประหยัด จึงไม่มีผล ทั้งนี้ อยากให้นำส่วนนี้ไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ต่างๆ แทน

ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุอีกว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าอัดเม็ดเงิน 4.5 แสนล้านบาท ลงไปในระบบเศรษฐกิจ น่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึง 1% และถ้าเม็ดเงินยังเป็น 5 แสนล้านบาท จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 1.3% จึงถือว่าไม่ได้ห่างกันมาก

เรื่องสำคัญคือ ระยะเวลา ที่รัฐบาลต้องเร่งออกโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้ทันเดือนตุลาคม หรือไตรมาส 4 ปีนี้ เพราะจะกระตุกเศรษฐกิจให้มีความคึกคักทันที จากกรอบของเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่ให้ใช้ภายในอำเภอ ส่งเสริมการซื้อสินค้าในประเทศ และวัตถุดิบในพื้นที่ จะทำให้เม็ดเงินกระจายไปใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ

“ประเมินว่าผลจากเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะทำให้เศรษฐกิจมีความคึกคักในไตรมาส 4 ปี 2567 ต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ของปี 2568” ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทิ้งท้าย

โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะนิ่งจริง พร้อมเดินหน้าปั๊มเศรษฐกิจไทยที่กำลังป่วยกระเสาะกระแสะ หรือไม่ น่าติดตาม!!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image