ทั่วโลกในวันนี้ มีการตื่นตัวกับ “สังคมผู้สูงอายุ” ซึ่งมองว่ากำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงไปทุกมิติ และแม้วันนี้หลายประเทศเตรียมพร้อมและก้าวรับสังคมผู้สูงอายุเต็มตัวแล้ว แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่ตระหนักแต่ยังไม่ได้ลงมืออย่างเป็นรูปธรรมว่าจะต้องทำอย่างไร และหากประเทศใดก้าวไม่ทัน อาจก่อปัญหาเศรษฐกิจในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ โดย พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ เผยผลวิเคราะห์ของ สนค.ไว้ว่า จากปัญหาสังคมผู้สูงอายุของไทย มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศ ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดโดยกรมกิจการผู้สูงอายุ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 พบว่าจำนวนประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 13,064,929 คน สัดส่วน 20.08% ของประชากรทั้งหมด จากประชากรทั้งหมดของประเทศไทย 66,052,615 คน
และเป็นปีที่มีอัตราการเกิดของประชากรน้อยกว่าอัตราการตายต่อเนื่องเป็นปีที่สามนับจากปี 2564 สอดคล้องกับสถานการณ์ในหลายประเทศที่มีอัตราการเพิ่มของประชากรช้าลงพร้อมกับสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น
⦁ปัญหาศก.ที่มาพร้อมสังคมสูงวัย
ปัญหาของอัตราส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น อาจไม่ได้เป็นเพียงปัญหาในเชิงสัมคมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างประชากรเท่านั้น แต่ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจาก
1.ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้ประเทศไทยต้องอาศัยการนำเข้าแรงงานในภาคการผลิตจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแรงงานเหล่านี้มักส่งรายได้จากการทำงานกลับไปประเทศบ้านเกิดในสัดส่วนที่สูงทำให้เงินค่าจ้างในส่วนนี้ไม่ได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
2.ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและสวัสดิการของประเทศเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของผู้สูงอายุรัฐบาลต้องแบ่งงบประมาณส่วนหนึ่งมารองรับสถานการณ์ดังกล่าว คาดว่าต้นทุนจากการขยายสวัสดิการและสิทธิสำหรับผู้สูงอายุจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
3.ความน่าสนใจด้านการลงทุนของประเทศลดลง เนื่องจากสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่รายได้ต่อหัวของประชากรที่ลดลง ทำให้ความน่าสนใจของไทยในฐานะตลาดขนาดใหญ่ของภูมิภาคในสายตาของนักลงทุนถูกลดระดับความสำคัญลง
4.การสะสมทุนในประเทศลดลง เนื่องจากผู้สูงอายุหรือแรงงานในวัยเกษียณมักมีรายได้ลดลง และแนวโน้มในการใช้จ่ายด้านสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้มีการออมน้อย ภาวะการออมในประเทศที่ลดลง จะส่งผลต่อการสะสมทุน ทำให้การพัฒนาประเทศช้ากว่าที่ควร
หากพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.มาตรการด้านการให้เงินช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการดำรงชีพ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มาตรการให้เงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย และสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ
2.มาตรการส่งเสริมการทำงาน หรือการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพของผู้สูงอายุ ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยสามารถนำเงินเดือนมาหักภาษีได้สองเท่า และการจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีสถานที่รวมกลุ่มในการจัดกิจกรรมและบริการที่ครอบคลุมทุกมิติทางด้านสุขภาพ สังคม จิตใจ และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างรายได้และการมีงานทําที่เหมาะสมสําหรับผู้สูงอายุ
3.มาตรการส่งเสริมการออม หรือการจ่ายเงินสมทบเพื่อรองรับการเกษียณอายุ เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้ อาจยังไม่เพียงพอที่จะใช้รับมือกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุในอนาคต
⦁สร้างสภาพแวดล้อมผ่าน6ข้อ
ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุเพื่อรองรับปัญหาดังกล่าวโดยเร่งด่วน โดย
1.ขยายเวลาเกษียณอายุโดยสมัครใจ โดยเฉพาะในหน่วยงานที่ขาดแคลนบุคลากร เพื่อให้ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้ต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาผู้สูงอายุขาดรายได้ในการดำรงชีพ ขณะที่ต้องมีการให้แรงจูงใจภาคเอกชนเพื่อให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุมากขึ้น 2.เร่งปรับเปลี่ยนมุมมองของสังคมที่มีต่อผู้สูงอายุ จาก “ภาระที่ต้องแบกรับ” ให้เป็น “สินทรัพย์มากประสบการณ์” โดยให้ความสำคัญกับประสบการณ์ในการทำงานของผู้สูงอายุ 3.บูรณาการภารกิจระหว่างหน่วยงานเพื่อพัฒนาผู้สูงอายุ เพื่อสร้างระบบเพิ่มพูนทักษะในการประกอบอาชีพ หาตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ
4.นำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาช่วยในการบริหารศูนย์ธุรกิจสำหรับผู้สูงอายุ โดยให้บริการแก่ผู้สูงอายุที่ต้องการหารายได้เพิ่มเติมจากการรับจ้างทำงานประเภทต่างๆ ทำให้ผู้สูงอายุได้ใช้ทักษะที่มีความแตกต่างกันไปตามความถนัดของแต่ละคน ในขณะที่ผู้ที่ต้องการแรงงานสามารถกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นที่ต้องการ เช่นเดียวกับผู้สูงอายุที่สามารถระบุทักษะที่มี พร้อมงานที่ต้องการได้ โดยแพลตฟอร์มมีหน้าที่จับคู่ความต้องการของทั้งสองฝ่าย 5.ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ สำหรับงานที่ไม่ต้องใช้กำลังกายมาก และ 6.สร้างระบบนิเวศการจ้างงานผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบที่มีความยั่งยืน มากกว่าการเน้นพัฒนาทักษะอย่างเดียวโดยไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน
⦁อานิสงส์ดีต่อสินค้าส่งออกไทย
ตลาดนำเข้าและส่งออกก็กำลังบูม เรื่องนี้ ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยกตัวอย่าง การเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารเสริมในสหรัฐ ซึ่งเป็นโอกาสส่งออกสินค้าของไทยเข้าสู่ตลาดสหรัฐ โดยเผยว่า ปัจจุบันมูลค่าอุตสาหกรรมอาหารเสริมในสหรัฐ ปี 2566 อยู่ที่ 36,036 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก 34,954.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2565 หรือเพิ่ม 3.1% ปัจจัยหลักมาจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคชาวอเมริกันตระหนักรู้การดูแลรักษาสุขภาพ และต้องการอาหารเสริมสำหรับการออกกำลังกายมากขึ้น ซึ่งอาหารเสริมในตลาดสหรัฐแบ่งตามส่วนผสมสำคัญ ได้แก่ วิตามิน สารสกัดจากธรรมชาติ แร่ธาตุ โปรตีนและกรดอะมิโน ไฟเบอร์ กรดไขมันโอเมก้า โพรไบโอติกและอื่นๆ โดยวิตามินมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 30.11% ของยอดขายอาหารเสริมและอาหารเสริมอยู่ในรูปแคปซูลเป็นที่นิยม คิดเป็น 30.3% โดยรูปแบบเยลลี่ เริ่มเป็นที่นิยมเพราะน่ากินและย่อยง่าย
ขณะเดียวกันผู้ส่งออกไทยต้องเรียนรู้ตลาดและกฎระเบียบ เช่น ช่องทางจำหน่ายอาหารเสริมหลักในสหรัฐ 85.17% อยู่หน้าเคาน์เตอร์ เพราะหาซื้อได้เองโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ แต่หากเป็นยาและผลิตภัณฑ์ยา ต้องได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ก่อนวางจำหน่าย พร้อมมีหลักฐานว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยและฉลากของผลิตภัณฑ์ไม่มีการกล่าวอ้างที่เกินจริง ไม่ได้มีสารตัวใหม่เป็นส่วนผสม ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลกับ FDA ก่อนการวางจำหน่าย เป็นต้น