“สมคิด”จุดพลุ”4.0″ มอง”เลือดใหม่”ไทยแลนด์ ตอบรับ”สตาร์ตอัพ”

แฟ้มภาพ

หมายเหตุ – นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงแนวคิดการผลักดันประเทศไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ผ่านผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (สตาร์ตอัพ) จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในอนาคตต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

สตาร์ตอัพจะเข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างไร

สมัยก่อนผู้มีบทบาทสำคัญจะเป็นรายใหญ่จากนักลงทุนของต่างชาติ การเริ่มต้นทุกอย่างจึงมาจากบริษัทขนาดใหญ่ มีการจ้างแรงงาน ระบบการศึกษาผลิตเพื่อป้อนองค์กรเหล่านั้น ที่เหลือก็เป็นเอสเอ็มอี แต่เอสเอ็มอีในอดีตเป็นเอสเอ็มอีผูกกับบริษัทใหญ่ แต่พอผ่านไปจริงๆ แล้ว หัวใจพัฒนาประเทศต้องสร้างอองเทอเพรอนัวร์ อีโคโนมี (Enterpreneur Economy) คือระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการ เปรียบเทียบเหมือนปลูกต้นไม้ต้องปลูกเป็นป่า เศรษฐกิจจะแข็งแรงไม่ใช่ปลูกต้นไม้ไม่กี่ต้น ที่เหลือเป็นหญ้าแพรก เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก จอดป้ายกันทั้งประเทศ

เราเคยมีบทเรียนแล้วเมื่อปี 2540 ตอนนั้นบริษัทขนาดใหญ่เดี้ยงหมด แต่ประเทศอิตาลี จีน ไต้หวัน หรือฮ่องกง มีบริษัทขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ ผลกระทบจะไม่มาก

Advertisement

ระบบเศรษฐกิจแท้จริงต้องผลักดันให้เกิดบริษัทใหม่มากที่สุด ถ้าบริษัทเกิดใหม่จะเป็นแองเจิลออฟโกลด์แห่งอนาคต แต่ละบริษัทที่เกิดขึ้นเป็นตัวของตัวเอง คิดทำอะไรเป็นธุรกิจขึ้นมาได้ โดยไม่ผูกอยู่กับรายใหญ่ เมื่อสมัย 15 ปีก่อน ผมเรียกกลุ่มนี้ว่าสแตนด์อโลน (stand alone) ยืนด้วยตนเอง ตอนนั้นผมทำแคมเปญ โลกของคนตัวเล็กŽ คือสร้างกลุ่มเอสเอ็มอีขึ้นมา

แต่ผ่านมา 10 ปีทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม เอสเอ็มอีก็ยังอ่อนแอ มันก็ไม่เกิด

ขณะเดียวกันโลกเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ระบบอินเตอร์เน็ต ทำให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น แม้อยู่ในจุดทุรกันดารก็สามารถค้าขายผ่านเว็บไซต์ได้ ฉะนั้น การสร้างอองเทอเพรอนัวร์ อีโคโนมี จึงทำได้ เกิดได้ ยุคนี้การแข่งขันได้ไม่ใช่ดูแค่ต้นทุน แต่ต้องมีอินโนเวชั่น (innovation) ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ อินโนเวชั่นจากวิเคราะห์วิจัยรีเสิร์ซ (research) จากเทคโนโลยีและโนว์ฮาว

Advertisement

ดังนั้น จึงตั้งธงว่าอนาคตของประเทศไทย ต้องเน้นการมีอินโนเวชั่น ผลักดันให้คนทำให้อินโนเวชั่นเกิดขึ้น และเกิดการค้าจากอองเทอเพรอนัวร์ อีโคโนมี ในวันข้างหน้า 2 ตัวนี้ต้องมาคู่กัน

ยกตัวอย่างของสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จ

การเข้ามาบริหารประเทศตอนนี้ก็เพื่อต้องการสร้างอินโนเวชั่นและอองเทอเพรอนัวร์ ในส่วนอินโนเวชั่นจะเกิดได้ต้องมีคลัสเตอร์ ได้ให้นโยบายกับบีโอไอ (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ว่าต่อจากนี้การลงทุนจากต่างประเทศ ไม่ต้องการแค่มาตั้งโรงงาน มาใช้แรงงานถูกๆ ในการประกอบ เมื่อเห็นว่าประเทศใดแรงงานถูกกว่าก็ย้ายไป

ผมต้องการให้เข้ามาลงทุนเป็นแพคเกจคลัสเตอร์ คือต้องมีรีเสิร์ซ มีโรงเรียนวิจัย แล้วจ้างผลิตนวัตกรรม และทุกคลัสเตอร์ต้องมี 3 เสาหลักในนั้น ส่วนที่หนึ่งภาครัฐให้การสนับสนุน ส่วนที่สองเอกชน และส่วนที่สามมหาวิทยาลัยด้านวิจัย ไม่ว่าเป็นคลัสเตอร์กลุ่มอาหาร คลัสเตอร์กลุ่มอีโคโนมี กลุ่มยานยนต์หุ่นยนต์ เป็นต้น

ผมไปเกาหลีใต้ เขาบอกเองว่า จีดีพีประเทศประมาณ 20% มาจากธุรกิจของบริษัทซัมซุง ในอนาคตมีสิทธิน็อกได้ง่าย แนวคิดจึงเริ่มเปลี่ยนเขาไม่ยึดบริษัทใหญ่ พยายามสร้างอีโคโนมิกเซ็นเตอร์ให้บริษัทใหญ่เป็นเสาหลัก เพื่อให้คนหนุ่มสาวเข้าไปใช้ได้คิดค้น ต่อมาก็สนับสนุนการเงิน หรือร่วมทุนจนเกิดธุรกิจสตาร์ตอัพ

นโยบายต่อจากนี้ต้องการสร้างสตาร์ตอัพทั่วประเทศ แต่สตาร์ตอัพไทยจะแตกต่างจากประเทศอื่น ของไทยไม่ใช่เทคโนโลยีอย่างเดียว แต่เราต้องรวมศิลปวัฒนธรรมและบริการ ไทยเราแข็งมากในด้านนี้ ที่ประเทศอื่นไม่มี ดังนั้น สตาร์ตอัพไทยไม่ใช่แค่เทคโนโลยีเบสสตาร์ต อัพอย่างเดียว เรารวมเป็นครีเอทีฟสตาร์ตอัพ

ตอนนี้ทุกวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ เมื่อมีโอกาสผมจะไปต่างจังหวัด เพราะได้มีการกระจายงบประมาณไปยังกลุ่มจังหวัดต่างๆ จะไปดูเรื่องการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญช่วยการเกิดของสตาร์ตอัพได้มาก ล่าสุดไป อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน คนนำทางพาเข้าทางลัดเส้นบ้านสะลวงนอก เส้นทางนี้ผมได้เห็นอาร์ติสต์ฝังตัวอยู่มาก ได้เข้าไปร้านกาแฟรายหนึ่ง เจ้าของเป็นคนรุ่นใหม่อายุไม่ถึง 40 ปี จบวิศวเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เบื่องานในเมืองก็กลับมาบ้าน ก่อนเปิดร้านกาแฟ ก็เริ่มจากบ่มชา มีหลากหลายรสชาติทั้งกล้วย ทุเรียน รับซื้อจากกลุ่มชาวบ้านใกล้เคียงเพื่อส่งออก แล้วต่อยอดด้วยการเปิดร้านกาแฟและขายชา

ผมว่าเป็นชาที่อร่อยที่สุดในโลก ร้านก็มีการตกแต่งได้น่ารัก ดึงลูกค้าซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวเข้ามา

อีกตัวอย่าง ร้านอาหารที่มี 4 หนุ่มรุ่นใหม่ช่วยกันดูแล ร้านนี้จะรับลูกค้าแค่ 2 กลุ่มเท่านั้น ไม่มีเมนูให้เลือกแต่ทางร้านจะจัดเตรียมเมนูแต่ละวันไว้ให้บริการ ต่อคน 6 เมนู มีการตกแต่งเป็นอาหารตาได้อย่างสวยงาม ในเส้นทางนี้ยังได้เห็นคนรุ่นใหม่มาทำปศุสัตว์เลี้ยงแกะ แปรรูปเพื่อส่งออก เหมือนฟาร์มที่ฮอกไกโด ด้านที่พักก็มีหลายแห่งที่โรแมนติก ทำให้เห็นว่าสตาร์ตอัพทำให้คนกลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด แต่ที่แย่คือขากลับต้องนั่งรถกว่า 2 ชั่วโมง เพื่อมาขึ้นเครื่องบิน ก็คุยกับการบินไทย มีสายการบินตั้ง 2 สาย จะทำอะไรให้สามารถดึงนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวได้มากขึ้น ตามนโยบายผลักดันเศรษฐกิจกลุ่มจังหวัด

มีแนวทางจะกระตุ้นคนรุ่นใหม่คิดเป็นสตาร์ตอัพอย่างไร

ปีก่อนผมได้สั่งรัฐมนตรีอุตตม (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม) ทำไทยแลนด์สตาร์ตอัพ เพื่อปลุกให้คนรู้ว่าคุณทำธุรกิจได้ รัฐพร้อมช่วยคุณแต่ต้องมีไอเดีย ต่อมาให้ธนาคารออมสินจัดประกวดผลงานสร้างสรรค์ ล้วนเป็นหนุ่มสาวอายุไม่ถึง 30 ปีทั้งนั้น ตอนนี้ก็จะเห็นธนาคารต่างๆ ออกแนวคิดส่งเสริมสตาร์ตอัพออกมาต่อเนื่อง

แต่ต้องดึงการท่องเที่ยวมาช่วยเพื่อให้เกิดการรับรู้ไปทั่วโลก เรื่องเรายังขาด ทำให้ต้องมีเน็ตหมู่บ้าน เป็นโครงสร้างพื้นฐาน และเพื่อให้ไทยเป็นดิจิทัลฮับ ดังนั้น จึงต้องลงทุนอินเตอร์เน็ต นั่นคือทุกหมู่บ้านต้องมีอินเตอร์เน็ต วางเป้าหมายเป็นฮับกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) งบประมาณเตรียมให้แล้วแต่ดำเนินงานยังไม่คืบ

ผมสั่งต้องเสร็จภายในปีนี้ รัฐมนตรีดีอี (พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) เดือนมีนาคมนี้ ต้องประมูลเรื่องวางเครือข่ายให้เสร็จ และกลางปีต้องจัดงานใหญ่ของดิจิทัลไทย จะท้าทายประเทศคู่แข่งให้สะเทือน ได้เชิญซีแอลเอ็มวีมาร่วมงานด้วย

ตอนนี้มี 2 เจ้าใหญ่มาร่วมแล้ว คือ อาลีบาบาŽ เว็บไซต์ขายส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ หัวเว่ยŽ ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมและอุปกรณ์เครือข่ายชั้นนำของจีน ยังมีค่าย อื่นๆ อีกที่จะร่วมงาน

อีกทั้งให้ตั้งสถาบันใหม่ที่กระทรวงพาณิชย์ คือสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (นิว อีโคโนมี อคาเดมี) จะเป็นจุดเริ่มต้นฝึกธุรกิจให้รู้เรื่องดิจิทัลและทำอีคอมเมิร์ซเป็น เป้าหมายผมไม่ใช่คนอยู่ในเมืองใหญ่ แต่มุ่งเป็นกลุ่มสมาร์ทฟาร์มเมอร์ หรือเกษตรกรให้สามารถใช้อีคอมเมิร์ซในการค้าขาย อาลีบาบาเข้ามาช่วยเรื่องอบรมและขึ้นเว็บไซต์ เขาได้ช่วยจีนอยู่ 2 หมื่นหมู่บ้าน ทำให้เกษตรกรจีนมีเงินใช้ร่ำรวย ตอนนี้อาแปะจีนยังทำอีคอมเมิร์ซเป็นเลย

เมื่อโครงสร้างพื้นฐานพร้อม สตาร์ตอัพคนรุ่นใหม่แยะขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรม มีงบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท จะส่งเสริมสตาร์ตอัพเอสเอ็มอีที่กำลังเกิดให้มีทักษะมีเงินทุนต่อยอดทำธุรกิจ

สมัยก่อนสตาร์ตอัพเกิดน้อย เพราะธนาคารไม่ปล่อยกู้ ตอนนี้ช่วยทุน เติบโตก็เข้าตลาดหลักทรัพย์ อีกทางเอกชนรายใหญ่ก็มีพื้นที่ให้เด็กรุ่นใหม่ไม่มีออฟฟิศของตนเอง ได้เข้าไปใช้ เชื่อว่าบ้านเมืองไทยนิ่งสัก 2-3 ปี จะเกิดกลุ่มครีเอทีฟคนไทยอย่างรวดเร็ว

อย่างร้านกาแฟทุกวันนี้ใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารหรือติดต่อค้าขายได้หมดแล้ว

ตอนนี้สังคมรับรู้และตื่นตัวเรื่องสตาร์ตอัพ แต่ยังต้องขับเคลื่อนผ่านราชการทางปฏิบัติระบบจะช้ากว่าเอกชน เชื่อว่า 3-5 ปีข้างหน้า ที่ทำวันนี้จะไปตามเป้าหมาย การแข่งขันจะช่วยกระตุ้นให้สตาร์ตอัพได้เกิดเร็วขึ้น จึงมีหลายเรื่องที่จะมีการปฏิรูป รวมทั้งเรื่องการศึกษาด้วย

เมื่อไหร่ก็ตาม สตาร์ตอัพลงไปสู่การศึกษาระดับอาชีวะ พวกนี้มีฝีมือ จบออกมาจะทำงานที่ตนชอบ เช่น ผลิตนาฬิกาเก๋ๆ ทำเครื่องหนังดีๆ มีดีไซน์ของตนเอง การศึกษาจึงต้องตามตลาดให้ทัน ตอนนี้อเมริกาไม่ใช่เน้นด้านหลักสูตรบริหารแล้ว แต่เน้นสายอาชีพจะเห็นการเกิดของคนค้าขายเต็มไปหมด

ประเด็นน่าเป็นห่วงในปี 2560

ไม่มีอะไรน่าห่วง ถ้าไม่มีข่าวหรือสถานการณ์อะไรที่จะมากดดันความน่าเชื่อถือของประเทศ ขอให้ประเทศนิ่ง การบริหารงานมีความต่อเนื่อง ชัดเจน จะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างชาติเอง

บทสัมภาษณ์นี้เป็นเพียงบางส่วนที่รัฐบาลจะกระตุ้นการเกิดสตาร์ตอัพอย่างไร ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ในงานเสวนา มติชนก้าวที่ 40 ก้าวคู่ประเทศไทย 4.0Ž ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมพูลแมน รางน้ำ เวลา 08.30-12.30 น. ที่นั่งมีจำกัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image