อรรถกร เร่งเดินหน้า 7 มาตรการ เน้น กำจัด- ย้ำต้นตอ รอ กรมประมง แถลง

อรรถกร เร่งเดินหน้า 7 มาตรการ เน้น กำจัด- ย้ำต้นตอ รอ กรมประมง แถลง

เวลา 09.00 น. วันที่ 1 สิงหาคม ณ ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ประจำแขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ร่วมลงพื้นที่บริเวณคลองเกาะโพธิ์ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เพื่อพบปะพี่น้องประชาชนและมอบนโยบาย พร้อมร่วมกิจกรรมกำจัดปลาหมอคางดำ ณ คลองเกาะโพธิ์ และเยี่ยมชมการสาธิตแปรรูปเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ

นายอรรถกร กล่าวว่า หลังจากที่ได้ประกาศแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ 2567-2570 ทั้งหมด 7 มาตรการนั้น สิ่งที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งเดินหน้าหลังจากนี้คือ การเร่งใช้มาตรการแรก ในการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด

โดยการจับออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพ และกำจัดจากบ่อเพาะเลี้ยงด้วยกากชา ซึ่งจะต้องเร่งกำจัดเพื่อที่จะต้องลดปริมาณของปลาหมอคางดำที่ระบาดออกก่อน ซึ่งจะใช้ระยะเวลา 2-3 เดือนในการกำจัด จากนั้น มาตรการอื่นก็จะค่อยมาเสริมทัพตามลำดับ

ADVERTISMENT

“ผมไม่ได้รับเงินเดือนจากใคร หรือจากบริษัทไหน ผมรับเงินเดือนจากสำนักนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ดังนั้นหน้าที่ของผมที่ได้รับมอบหมายมา ผมก็จะต้องดูแลพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด และอิงแค่นโยบายจากท่านนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน และ ท่านร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่านั้น” นายอรรถกร กล่าว

ทั้งนี้ นายอรรถกร เผยว่า ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประชุมวางแผนการแก้ไขปัญหาการระบาดครั้งนี้ อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่มาพึ่งเริ่ม kick off หลังประกาศ 7 มาตรการ โดยได้หารือ กับทางกรมประมง และ 21 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาโดยตลอด ทั้งมาตรการ และ งบประมาณที่จะใช้ในการกำจัด

ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบจากการยางแห่งประเทศไทย 53 ล้านบาท และเงินส่วนนี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินกองทุนของการยางฯ ที่ใช้สำหรับการดูแลสมาชิกพี่น้องชาวสวนยางทั้งสิ้น และ งบ 450 ล้านที่จะได้รับจากความอนุเคราะห์จากทางคณะรัฐมนตรี ก็นำมาดำเนินการสำหรับ 7 มาตรการในการกำจัดปลาหมอคางดำต่อไป

นอกจากนี้ นายอรรถกร กล่าวว่า สำหรับข้อสรุปการหาต้นตอของการแพร่ระบาดปลาชนิดนี้ หลังครบ 7 วัน นั้น ทางกรมประมง จะเป็นฝ่ายออกมาแถลงความชัดเจนอีกที เนื่องจากตนยังไม่ได้รับเอกสารสำหรับการแถลง แต่ไม่ว่าจะเป็นทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือทางกรมประมงแถลง เอกสารก็จะมาจากฉบับเดียวกัน

ทั้งนี้ นายอรรถกร กล่าวว่า สำหรับกระแสที่จะมีการฟ้องร้องเอาผิดทางฐานปล่อยนายทุนนำเข้าปลาหมอคางดำนั้น ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้ซีเรียสอย่างไร และ มองว่าทางศาลก็คงทำตามหน้าที่ และคนถูกฟ้องก็ต้องมีสิทธิพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าผิดจริงตามที่ถูกฟ้องหรือไม่

“ก็เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะฟ้อง แต่คนถูกฟ้องก็มีสิทธิ์ที่จะต้องพิสูจน์ว่าผิดจริงหรือไม่ ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เขาก็ทำตามกระบวนการหน้าที่ของเขา เราก็มีหน้าที่ทำตามกระบวนการของเราเช่นกัน” นายอรรถกร กล่าว

นอกจากนั้น นายอรรถกร ได้มอบเครื่องมือประมงให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อใช้ในการจับปลาหมอคางดำ และ ร่วมลงเรือพร้อมคณะฯ ไปดูวิธีการสาธิตการจับปลาหมอคางดำจากชาวประมง พร้อมรับฟังข้อปัญหาต่างๆจากพี่น้องชาวประมง เขตบางขุนเทียน เพื่อที่จะนำมาปรับปรุงและดำเนินการแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป

ด้าน นายสุวัฐน์ กล่าวเพิ่มเติม เน้นย้ำว่า หากผู้ใดฝ่าฝืนทำการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้ใดพบเห็นเหตุดังกล่าว สามารถแจ้งสำนักงานประมงจังหวัดหรือสำนักงานประมงอำเภอในเขตท้องที่ทุกแห่ง หรือแจ้งเบาะแสพิกัดที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำผ่านระบบออนไลน์ได้ตลอดเวลาเช่นกัน