กรมประมง ส่งหนังสือถึงกานาขอตรวจดีเอ็นเอปลาหมอคางดำ พร้อมส่งผลสอบถึงเกษตรฯแล้ว
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ทางกรมประมง ได้ส่งเอกสารรายงานผลการตรวจสอบตามคำสั่งของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องตรวจสอบสาเหตุการระบาดของปลาหมอคางดำ ตามคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำเข้าปลาหมอคางดำ โดยมีนายประยูร อินสกุล เป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 ที่ต้องเร่งดำเนินการให้ชัดเจนภายใน 7 วัน มายังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ล่าสุดทางกรมประมงได้ส่งหนังสือไปยังประเทศกานา เพื่อขอชิ้นเนื้อหรือตัวอย่างสารพันธุกรรม (DNA) ของปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นต้นทางที่ภาคเอกชนขออนุญาตนำเข้ามาวิจัยในประเทศไทยในปีพ.ศ. 2553 โดยจะนำมาให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบสายพันธุกรรมเทียบเคียงกับปลาหมอคางดำที่แพร่กระจายใน 17 จังหวัดได้แก่ ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา สงขลา ตราด ชลบุรี และนนทบุรีและยืนยันว่า กรมประมงไม่หยุดดำเนินการในอำนาจหน้าที่ที่จะตรวจสอบหาสาเหตุของการแพร่กระจายของสัตว์น้ำต่างถิ่น (Alien Spicies) ที่รุกรานระบบนิเวศและสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรไทย
นายบัญชา กล่าวว่า จากการที่สภาทนายความเตรียมฟ้องกรมประมงและบริษัทที่ขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคำ ขอยืนยันทางกรมว่าจะทำทุกอย่างตามอำนาจหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหา และกอบกู้ความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำในระบบนิเวศกลับมาจากปลาหมอคางดำให้ได้
ทั้งนี้ วันที่ 6 สิงหาคม กรมประมงและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีการจัดแถลงข่าวในหัวข้อ “ปลาหมอคางดำ ทำอย่างไร ให้ Hygienic พร้อมแปรรูปสู่ ปลาร้าไทย เกรียงไกรตลาดโลก” ซึ่งจะเป็นอีก 1 วิธีในการแก้ไขปัญหาการระบาดของ ปลาหมอคางดำ ตามมาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ ภายใต้แผนปฏิบัติ การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ 2567 – 2570 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ กรมประมง เชพชุมพล แจ้งไพร ประธานอนุกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)