กรมประมง รับฟังความเห็น ร่างกำหนดชนิดสัตว์น้ำห้ามครอบครอง ปราบปลาหมอคางดำ
วันที่ 4 สิงหาคม 2567 เพจ ประชาสัมพันธ์ กรมประมง โดย กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมประมง ขอเชิญชวนประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง พ.ศ. 2567 สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ในแหล่งน้ำสาธารณะและบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำ และก่อความเสียหายให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผู้ประกอบอาชีพด้านประมงเป็นอย่างมาก เนื่องจากสัตว์น้ำดังกล่าวเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่แพร่ขยายพันธุ์เร็ว รวมทั้งเป็นสัตว์นักล่าที่แย่งอาหารและกินลูกพันธุ์สัตว์น้ำ โดยปัจจุบันได้แพร่ระบาดในพื้นที่ 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม และนนทบุรี
รวมทั้ง ประกอบกับปัจจุบันพบว่ามีการเคลื่อนย้ายปลาหมอสีคางดำทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตไปยังพื้นที่อื่น ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศในพื้นที่ที่ยังไม่พบการแพร่ระบาด จึงจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมมิให้มีการครอบครองปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 65 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 โดยการออกประกาศกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง
กรมประมง ระบุว่า สาระสำคัญของร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง พ.ศ. …. กำหนดห้ามบุคคลใด มีไว้ในครอบครองปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron) มีชีวิตและที่ไม่มีชีวิต นอกพื้นที่การแพร่ระบาดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด โดยมีข้อยกเว้นดังนี้
1. กรณีมีการครอบครองโดยการเคลื่อนย้ายปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิตซึ่งมีลักษณะดังนี้
1.1 การเคลื่อนย้ายในลักษณะที่มีการแช่เย็นด้วยน้ำแข็ง ซึ่งมีภาชนะบรรจุมิดชิด
1.2 การเคลื่อนย้ายในลักษณะที่มีการแช่แข็ง
1.3 การเคลื่อนย้ายในลักษณะที่มีการแปรรูปเบื้องต้นแล้ว เช่น การตัดหัว ควักไส้ แล่เป็นชิ้น หมักเกลือ เป็นต้น
2. กรณีการเคลื่อนย้ายปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิตเพื่อนำไปแปรรูปเป็นปลาป่น ต้องเคลื่อนย้ายแบบแห้ง และอยู่ในภาชนะบรรจุมิดชิด
3. กรณีการเคลื่อนย้ายปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิต เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบตาม โครงการของรัฐ เช่น การทำน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น ต้องเคลื่อนย้ายแบบแห้ง และอยู่ใน ภาชนะบรรจุมิดชิด
4. กรณีการเคลื่อนย้ายปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิตที่กระทำโดยทางราชการ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดและกำจัดออกจากที่จับสัตว์น้ำ
โดยประชาชนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นถึงร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครองได้ตั้งแต่วันที่ 1 – 7 สิงหาคม 2567