สรท. มั่นใจส่งออกไทยปี 67 โต 1-2% หลังสอบผ่านเห็น 6 เดือนแรกพลิกบวก เฝ้าระวังครึ่งปีหลัง จับตาค่าระวางเรือสูงขึ้นอีก วอนรัฐควบคุมสินค้าของนักลงทุนต่างชาติ ดูแลสินค้าต้นทุนต่ำทะลัก
วันที่ 6 สิงหาคม นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนมิถุนายน 2567 พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 24,796.6 หดตัว 0.3% คิดเป็นมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 892,796 ล้านบาท ขยายตัว 5% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย หดตัว 1.6% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 24,578.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.3% มีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 895,256 ล้านบาท ขยายตัว 5.6% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมิถุนายน 2567 เกินดุลเท่ากับ 218 ล้านเหรียญสหรัฐ และขาดดุลในรูปของเงินบาท 2,489 ล้านบาท โดยสินค้าปัจจัยบวกการส่งออกในขณะนี้เหลือเพียงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเท่านั้น ทำให้หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นจะทำให้การส่งออกไม่เหลือปัจจัยบวกช่วยสนับสนุนแล้ว
“ครึ่งปีแรกปิดการเติบโตของส่งออกกว่า 2% มีมูลค่า 145,290 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าทำได้ดี และสอบผ่าน ท่ามกลางปัจจัยท้าทายที่เข้ามาจำนวนมาก ส่วนส่งออกครึ่งปีหลัง ถือว่ายังมีความท้าทายอยู่มาก หลายปัจจัยรุมเร้าทุกตัว โดยเฉพาะปัญหาต้นทุนการขนส่งที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งต้องจับตาค่าระวางเรือที่อาจกลับมาสูงขึ้นกว่าอีก แต่ทั้งปี 2567 ก็ยังมั่นใจว่าส่งออกไทยจะโตได้ 1-2% เป็นปีแรกที่เห็นมูลค่าการส่งออกในรูปแบบเงินบาทแตะถึง 10 ล้านล้านบาท แม้ภาคการผลิตของทั้งโลกยังไม่ค่อยดี อยู่ในระดับต่ำ ไม่ได้มีปัจจัยเกื้อหนุนในการเพิ่มกำลังการผลิตทั้งในช่วงที่ผ่านมา และช่วงต่อไปในอนาคตด้วย ทำให้ส่งออกช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มไม่สดใสตามที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้” นายชัยชาญ กล่าว
นายชัยชาญ กล่าวว่า 6 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-มิถุนายน) การส่งออก เติบโตที่ 2% มีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 5,191,014 ล้านบาท ขยายตัว 7.4% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย ขยายตัว 3.1% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 150,532.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3% มีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 5,437,480 ล้านบาท ขยายตัว 8.3% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยสะสม 6 เดือน ขาดดุลเท่ากับ 5,242.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นการขาดดุลในรูปเงินบาท 246,466 ล้านบาท
นายชัยชาญ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังในครึ่งปีหลังที่สำคัญ ได้แก่ 1.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อ อาทิ สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามอิสราเอล-ฮามาส สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่จะมีผลต่อการค้าและเศรษฐกิจโลกในภาพรวม โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งผู้สมัครทั้งสองฝ่ายมีนโยบายหาเสียงที่แตกต่างกันและอาจส่งผลต่อมาตรการทางการค้าและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม 2.ปัญหาสหภาพแรงงานสหรัฐ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งการหยุดการผลิตและกระทบต่อการนำเข้าสินค้าในภาคการผลิตได้ 3.ต้นทุนค่าระวางเรือ ค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) ยังคงทรงตัวในระดับสูง 4.ปัญหาสินค้าล้นตลาดจากประเทศจีนที่ระบายออกสู่ตลาดโลก ส่งผลให้สินค้าต้นทุนต่ำเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศ รวมถึงเข้าไปแย่งส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ และ 5.การเข้าถึงสินเชื่อของภาคการผลิตมีปัญหาต่อเนื่อง ทำให้ขาดสภาพคล่องในการดำเนินการ
นายชัยชาญ กล่าวว่า ข้อเสนอแนะที่สำคัญ ได้แก่ 1.เร่งปรับโครงการสร้างการส่งออกของไทย เพื่อรองรับการแข่งขันและการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว โดยมุ่งเน้นให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Trading Nation 2.เร่งส่งเสริมกิจกรรมส่งเสริมการขายในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดใหม่ๆ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์และสร้างโอกาสให้สินค้าไทยในสายตาคู่ค้าและผู้บริโภคในต่างประเทศ 3.ผู้ส่งออกต้องวางแผนการขนส่งด้วยการจองระวางเรือล่วงหน้า รวมถึงการเจรจากับคู่ค้าเพื่อปรับอัตราค่าขนส่งให้สอดคล้องกับค่าระวางในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกเส้นทาง รวมถึงต้องบริหารจัดการสต็อกสินค้าให้เหมาะสม 4.รัฐต้องกำกับดูแลสินค้าการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ต้องเอื้อประโยชน์ให้กับซัพพลายเชนในประเทศรวมถึงกำกับดูแลสินค้าต้นทุนต่ำที่ทะลักเข้ามาในประเทศก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศโดยเฉพาะเอสเอ็มอี เพื่อให้ปัญหาการจ้างงานลดลง และ 5.สนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้เพียงพอต่อการหมุนเวียนกระแสเงินสดและการผลิตเพื่อการส่งออก