ธรรมนัส แจง ‘เอาอยู่ 1 เดือน’ คือ ประเมินผลดำเนินงาน มั่นใจ 7 มาตรการ ยังไงก็เอาอยู่
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังร่วมพูดคุยกับสื่อมวลชนในงาน ‘ครอบครัวเกษตรฯ พบ สื่อ’ OAE Open House 2024 ถึงประเด็นที่ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน คณะอนุกรรมาธิการ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในการ พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหารวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย (กมธ.) ชี้ว่าทางกระทรวงเกษตรฯ นั้นเบี่ยงเบนหาต้นตอการระบาดปลาหมอคางดำ พร้อมกล่าว เอาอะไรมามั่นปราบปลาหมอคางดำอยู่หมัด ว่า ทางกระทรวงเกษตรฯ นั้นพร้อมรับฟังความเห็นสองมุม ส่วนเรื่องที่บอกว่าเอาอยู่ 1 เดือนคือ การประเมินผล ไม่ใช่ การกวาดหมดภายใน 1 เดือน
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า นายณัฐชา เปรียบเสมือน น้องชายของตน ซึ่งทุกครั้งที่ลงพื้นที่ ตนก็ได้เชิญนายณัฐชา ร่วมลงพื้นที่ร่วมกันตลอด และเชื่อว่าทาง นายณัฐชา ก็ถือว่าเป็นตัวแทนของกระบอกเสียงอีกมุมมองที่แตกต่างซึ่ง เป็นเรื่องที่ดี และ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ต้องฟังเสียงความเห็นจากหลายฝ่ายเช่นกัน ไม่ใช่ฟังแต่มุมด้านชมเชยอย่างเดียว
กรณีที่ตนได้กล่าวไปล่าสุดว่า จะสามารถคุมสถานการณ์ ปลาหมอคางดำ อยู่ ภายใน 1 เดือนนั้น มีสื่อมวลชนบางสำนักมีการนำเสนอข้อมูลผิด ทำให้มีการสื่อสารเข้าใจผิด คำว่า เอาอยู่ 1 เดือน ตนหมายถึง ทางกระทรวงเกษตรฯ จะมีการประเมินผล 1-2 เดือน หลังเริ่มใช้ มาตรการปราบ ปลาหมอคางดำ ว่าได้ผลหรือไม่ รวมถึงสิ่งที่หน่วยงานนำไปแปรรูปต่างๆนั้น เกิดผลหรือไม่ ซึ่งทางกรมประมงก็ต้องจะติดตามผลดำเนินงานตรงนี้อย่างใกล้ชิด ไม่ใช่เป็นการกวาดล้างให้เกลี้ยงภายใน 1 เดือน ซึ่งถ้าหากต้องรอ 8-9 เดือนค่อยประเมินผลนั้น พี่น้องประชาชนรอไม่ไหวและค่อนข้างเดือดร้อน
“กรมประมง จำเป็นต้องมีการประเมินทุก 1 เดือน ประเมินว่า 1-2 เดือน นั้น เห็นผลหรือไม่ ถ้า 90 วันแล้ว มาตรการไม่ได้ผล แสดงว่า กระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้เรื่อง เพราะ ถ้าต้องรอ 8-9 เดือนแล้วประเมิน พี่น้องประชาชนเดือนร้อนรอนานไม่ไหว ดังนั้นถือว่า เป็นเรื่องสำคัญ” ร.อ.ธรรมนัส กล่าว
นอกจากนี้ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตนเชื่อมั่นใน 7 มาตรการ โดยมี นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคาง เพราะ นายอรรถกร เองก็เป็นชาวลุ่มน้ำเค็ม แปดริ้ว ดังนั้น ตนเชื่อว่า 7 มาตรการที่นำมาแก้ปัญหานั้น ยังไงก็เห็นผลและแก้ได้ มั่นใจว่าตนก็เอาอยู่ และการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำนั้นเริ่มตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งเหตุการณ์ผ่านรัฐบาลมาหลายสมัย และพอตนมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ก็เริ่มประกาศทำสงครามในการปราบปลาหมอคางดำ ดังนั้นที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะที่ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการก็ไม่ได้ปล่อยปะละเลยปัญหาตรงนี้ เพียงแต่เราต้องนำเสนอข้อมูลที่ชัดเจนให้พี่น้องประชาชนเข้าใจ
ทั้งนี้ สำหรับประเด็นที่ว่าใครเป็นผู้ร้องเรียนหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กรมประมง ไปยังศาลปกครองสูงสุด เรื่อง การปล่อยปะละเลยการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำนั้น
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ไม่ขอระบุว่า บุคคลใด หรือ หน่วยงานใดเป็นคนฟ้อง แต่ทางหน่วยงานก็ไม่ได้กังวลและพร้อมพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อศาลปกครอง