‘ทุนจีน’ ทะลักแสนล้าน บุก ‘อสังหาฯไทย’ กวาด ‘บ้านหรู’

‘ทุนจีน’ ทะลักแสนล้าน
บุก ‘อสังหาฯไทย’ กวาด ‘บ้านหรู’

ภาพการไหลบ่าของ “กลุ่มทุนจีน” ที่เข้ามาลงทุนธุรกิจในประเทศไทย ยิ่งนานวัน ยิ่งมากขึ้นทวีคูณ เรียกว่าแทบครอบคลุมเกือบทุกธุรกิจ จากสินค้าราคาถูก ร้านอาหาร การขนส่ง รับเหมาก่อสร้าง รวมไปถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่กลุ่มทุนจีนให้ความสนใจไม่น้อย

จากเดิมซื้อเพื่ออยู่อาศัยและลงทุนปล่อยเช่า ล่าสุดลุยพัฒนาโครงการเอง ผ่านบริษัทร่วมทุนกับคนไทย โดยโฟกัสพื้นที่เมืองเศรษฐกิจและเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม ไม่ว่ากรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่

ล่าสุดบุกย่านสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี ผุด “คฤหาสน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา” บนเนื้อที่ 30 ไร่ อยู่ติดถนนสนามบินน้ำและแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้ชื่อบริษัท เหลียนเซิง จำกัด ซึ่งก่อตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,500 ล้านบาท ทำธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จัดสรรที่ดินและบ้าน ซื้อขายบ้านเดี่ยว อาคารพาณิชย์ ที่พักอาศัยติดแม่น้ำเจ้าพระยา การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเอง เพื่อการพักอาศัย

ADVERTISMENT

ปัจจุบันโครงการกำลังเดินเครื่องก่อสร้าง รูปแบบเป็นเดี่ยวหรู 5 ชั้น ทุกหลังมีห้องใต้ดิน สระว่ายน้ำ มีจำนวน 60 หลัง ราคาเริ่มต้นประมาณหลังละ 100 ล้านบาท ยังมีอาคาร 2 ชั้นเป็นอาคารพาณิชย์และสำนักงาน รวมถึงท่าเรือ โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เป็นนักธุรกิจชาวจีนที่ต้องการมีบ้านหลังที่ 2 ในเมืองไทย

“สุรเชษฐ กองชีพ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด กล่าวว่า การเข้ามาของทุนจีนทั้งในรูปแบบของนักลงทุนรายย่อยไปจนถึงรูปแบบของบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้ามาพร้อมเงินลงทุนมหาศาล ยังพร้อมที่จะแข่งขันในด้านของราคาด้วยโดยรูปแบบนี้เป็นการเข้ามาลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่ซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภค และเข้าไปสร้างผลกระทบรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกมาตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึงประเทศไทยด้วย

ADVERTISMENT

“สุรเชษฐ” กล่าวว่า แต่ที่ต้องจับตามองและให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ การเข้ามาลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่อาจจะเข้ามาใน 2 รูปแบบ 1.แบบลงทุนเอง 100% จดทะเบียนนิติบุคคลเป็นนิติบุคคลต่างชาติแล้วหาผู้ร่วมทุน ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือคนทั่วไปที่เป็นชาวไทยแล้วจัดตั้งนิติบุคคลใหม่ในสัดส่วน 51:49 ตามกฎหมายประเทศไทย แต่อำนาจในการบริหารหรือเงินลงทุน อยู่ในการตัดสินใจของคนจีน และ 2.แบบร่วมทุนโดยการเข้ามาในรูปแบบของนักลงทุนแบบบุคคลทั่วไป ซึ่งกลุ่มนี้อาจมีธุรกิจอื่นๆ ในประเทศไทยแล้วขยายมายังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยการร่วมทุนกับคนไทยแล้วจัดตั้งนิติบุคคลใหม่ตามกฎหมายประเทศไทย กลุ่มนี้มีความยืดหยุ่นในเรื่องของการบริหารมากกว่ากลุ่มที่ 1 แม้ว่าอำนาจในการบริหารจะอยู่ในกลุ่มผู้บริหารคนจีนเหมือนกัน

“สุรเชษฐ” กล่าวว่า การลงทุนของกลุ่มนักลงทุนจากจีน อาจอยู่ในรูปแบบของการร่วมทุนเป็นรายโครงการแล้วจบ ไม่ต่อเนื่องเหมือนการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการไทยกับญี่ปุ่นที่ต่อเนื่องกันหลายปีและมีโครงการลงทุนร่วมกันมากกว่า 1 แสนล้านบาท เพราะรูปแบบการบริหารแบบจีนที่ค่อนข้างรวบมาเป็นของตนเองทั้งหมด ไม่ถูกใจผู้ประกอบการไทย ที่มีตัวเลือกที่การต่อรองที่ดีกว่า ดังนั้นการร่วมทุนระหว่างไทยและจีน จึงมักจบเพียงแค่ 1 โครงการ แต่บริษัทหรือกลุ่มของนักลงทุนจีนยังคงเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง เพียงแต่หาการร่วมทุนใหม่ๆ ในทุกๆ โครงการ หรืออาจจะใช้บริษัทเดิมแล้วลงทุนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

“มูลค่าลงทุนของนักลงทุนจีนในธุรกิจอสังหาฯ คาดว่าจะมากถึง 1 แสนล้านบาทในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรืออาจจะมากกว่านี้ เพียงแต่กลุ่มนักลงทุนจีน ไม่ค่อยเปิดเผยตัวตนหรือแสดงออกชัดเจนว่าเป็น กลุ่มนักลงทุนหรือผู้ประกอบการจากจีน เพราะคนไทยยังคงให้น้ำหนักกับกลุ่มนักลงทุนจีนน้อยกว่าผู้ประกอบการจากประเทศอื่นๆ” สุรเชษฐกล่าว

“สุรเชษฐ” กล่าวว่า ปัจจุบันมีบางบริษัทที่ไม่มีความเคลื่อนไหวแล้ว ขณะที่บางบริษัท เช่น ริสแลนด์, ไฮไชน์ฯ และเจอาร์วาย มีเปิดขายคอนโดมิเนียมอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่เหลียนเซิงซึ่งพัฒนาบ้านหรูราคาเริ่มต้น 100 ล้านบาท สำหรับบ้านเดี่ยว 5 ชั้นริมแม่น้ำเจ้าพระยาในทำเลสนามบินน้ำ กลายเป็นดาวเด่นที่คนในวงการอสังหาฯให้การจับตามองว่ารูปแบบของบ้านจะออกมาสวยงามแค่ไหนกับราคาขายขนาดนั้น

“บริษัทที่ยังอยู่ในตลาดอสังหาฯไทย ยังคงเดินหน้าโครงการต่อเนื่อง เพราะไม่ได้ใช้เงินจากจีนเป็นหลัก แต่ใช้เงินลงทุนที่อยู่ในไทย หรือขอสินเชื่อของแบงก์ไทย รวมถึงออกหุ้นกู้ ขณะที่บางบริษัทปรับตัวและเปลี่ยนแปลงภายในหลายอย่าง โดยเฉพาะการบริหารงาน เพราะผู้ประกอบการไทยต้องการผู้ร่วมทุนที่เป็นผู้ประกอบการจากจีน เพราะเชื่อว่ามีกลุ่มผู้ซื้อจากจีนแน่นอน” สุรเชษฐกล่าวย้ำ

“เค่อเจีย เตียว (ไมค์)” กรรมการผู้จัดการบริษัท ฮาร์วี่แลนด์ จำกัด กล่าวว่า นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยมานานแล้ว ทั้งลงทุนพัฒนาโครงการที่จัดตั้งบริษัทร่วมกับคนไทย เช่น โครงการคอนโดมิเนียมทีซีกรีน พระราม 9 และโครงการวัน ไนน์ ไฟว์ อโศก-พระราม 9 รวมถึงซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อลงทุนปล่อยเช่า ซึ่งตามกฎหมายต่างชาติสามารถซื้อคอนโดมิเนียมได้ 49% ของพื้นที่โครงการ แต่ขณะนี้ด้วยภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้ออสังหาฯ ในประเทศไทยยังไม่ค่อยดี จึงอาจจะมีการชะลอการซื้อหรือลงทุนไปบ้าง

“บริษัทเองได้ร่วมกับนักลงทุนชาวไทย จะนำที่ดินประมาณ 2 ไร่ ย่านกรุงเทพกรีฑา พัฒนาโครงการแนวราบ จำนวน 6 หลัง ราคาประมาณ 40-50 ล้านบาท มูลค่าโครงการรวมกว่า 300 ล้านบาท เน้นจับกลุ่มลูกค้าคนไทย แต่หากเป็นต่างชาติมาซื้อคงเป็นการขายในรูปแบบเช่าระยะยาว 30 ปี เพราะตามกฎหมายไทยต่างชาติไม่สามารถซื้อบ้านได้ ขณะนี้รอใบอนุญาตก่อสร้าง รวมถึงรอจังหวะตลาดและเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวมากกว่านี้ด้วย” เค่อเจีย เตียวกล่าว

“อาทิตยา เกษมลาวัณย์” หัวหน้าแผนกซื้อขายโครงการที่พักอาศัย ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน อสังหาฯในไทย ยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และหลายกลุ่ม แต่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทญี่ปุ่นและเป็นรายเดิมที่เข้าใจตลาดไทยอยู่แล้ว แต่ขยายการลงทุนไปบริษัทอื่นมากขึ้น

“มาซาอากิ คากาวะ” กรรมการผู้จัดการ อนาบูกิ โคซัน กรุ๊ป กล่าวว่า อนาบูกิ โคซัน กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจอสังหาฯในประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว 60 ปี และขยายการลงทุนไปหลายประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับในไทยได้ลงทุนมากว่า 5 ปี จำนวน 6 โครงการ ล่าสุดร่วมกับกลุ่มบริษัทเอ็นริช พัฒนาบ้านเดี่ยวราคา 15.9-28 ล้านบาท มูลค่า 2,400 ล้านบาท ย่านราชพฤกษ์-แจ้งวัฒนะ และยังสนใจจะลงทุนธุรกิจเวลเนสในไทยด้วย

เป็นเพียงบางส่วนที่เริ่มมีการเคลื่อนไหว เชื่อว่านับจากนี้คงได้เห็นนักลงทุนอีกหลายประเทศตบเท้าเข้ามาปักหมุดในไทยมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image