กลยุทธ์บริหารจัดการต้นทุน เพิ่มโอกาสรอดให้เอสเอ็มอี โดย สุพันธุ์ มงคลสุธี

กลยุทธ์บริหารจัดการต้นทุน เพิ่มโอกาสรอดให้เอสเอ็มอี

กลยุทธ์บริหารจัดการต้นทุน เพิ่มโอกาสรอดให้เอสเอ็มอี

นอกเหนือไปจากปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าแล้ว การลดต้นทุนก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญที่จะให้ช่วยธุรกิจ “ฝ่ามรสุม” เศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตช้าและกระจุกตัว จากกำลังซื้อที่อ่อนแอในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงน้อย ผมอยากเน้นย้ำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเร่งเครื่องสร้างความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจด้วย

เพื่อเพิ่มโอกาสการอยู่รอดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยนั่นก็คือ “กลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการต้นทุน” ที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปแค่การมุ่งเป้าลดต้นทุนที่เป็นเม็ดเงินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องลดในทุกๆ ด้าน

การทำ Cost Reduction หรือการลดต้นทุน เป็นสิ่งจำเป็นที่เอสเอ็มอีในทุกวันนี้ต้องให้ความสำคัญ ถือว่าเป็นแนวทางที่ช่วยทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานลดลงหลายๆ ส่วน หมายรวมถึงทรัพยากรที่สูญเสียไปในการผลิต หรือการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น เวลา บุคลากร เครื่องมือ เครดิตเทอม การสูญเสีย ทุกอย่างที่จะก่อให้เกิดต้นทุน นำมาปรับลดและเพิ่มศักยภาพของธุรกิจ

Advertisement

“เราต้องมาดูเรื่องต้นทุน เพราะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้วันนี้ยอดขายบริษัทไม่เพิ่มขึ้น และส่วนใหญ่ยอดขายลดลง สิ่งที่ต้องทำคือ จะทำอย่างไรที่จะลดค่าใช้จ่ายบริษัทของเราให้ลดลงได้บ้าง เพื่อทำให้เราลดต้นทุน หรือเพิ่มกำไร เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในภาวะเช่นนี้”

จริงอยู่ที่บางครั้ง การที่จะเพิ่มยอดขาย เพิ่มกำไร ของบริษัทจะต้องมีการลงทุนเพิ่ม เช่น ต้องลงทุนเรื่องกำลังคน สถานที่ เครื่องจักร ซึ่งกำลังคนก็คือ “ต้นทุนค่าแรงงาน” ที่ต้องบวกเพิ่มขึ้น แต่ทุกวันนี้สภาพเศรษฐกิจไม่อยู่ในภาวะที่จะทำได้โดยง่าย เพราะเป็นภาวะที่ “เศรษฐกิจกำลังถดถอย” จีดีพีเศรษฐกิจของประเทศไทยไตรมาสแรกในปีนี้ ก็โตต่ำกว่ากลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมดแค่ระดับ 1.5% ขณะที่ทั้งปี สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะโตแค่ 2.5% เท่านั้น เพราะฉะนั้น การเก็บเงินสดไว้ในมือเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนที่มีความเสี่ยง ถึงแม้จะมีค่าตอบแทนสูง ควรชะลอไว้รอเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติ

Advertisement

“สิ่งที่ต้องทำคือ จะต้องเก็บเงินไว้ และจะต้องลดต้นทุนลง ถ้าไม่จำเป็นจะต้องกู้ธนาคารก็อย่ากู้ อย่าเพิ่งขยายธุรกิจ จะต้องประคองธุรกิจยังไงให้มันอยู่รอดในช่วงปีนี้”

“วันนี้เอสเอ็มอีต้องหันหน้าต่อรองให้มากขึ้น ต่อรองเรื่องค่าเช่า การที่จะต้องจ่ายเงินช้าลง การเก็บเงินให้เร็วขึ้น ต้องเข้าอยู่ในโหมดที่ต้องดูแลสุขภาพของธุรกิจให้ดี อย่าประเมินว่าการขายของเราจะเหมือนเดิมฉะนั้นที่เราเคยประเมินว่าเคยขายได้เท่านี้ เคยจ่ายเท่านี้ มันต้องเปลี่ยนการประเมินใหม่ว่าการขายมันจะไม่เท่าเดิมแล้ว ยอดขายลดลง ค่าใช้จ่ายก็ต้องลดลงตามไปด้วย”

การเพิ่มโอกาสรอดให้ธุรกิจอีกกลยุทธ์ก็คือ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้เอสเอ็มอีสามารถลดต้นทุนได้ในระยะยาว ซึ่งการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ก็จะส่งผลดีอยู่แล้ว อย่างแรกเลยก็คือ ในเรื่องการตลาด การทำงานที่จะลดคน คำนวณเวลาการทำงานให้สอดคล้องแผนการลดต้นทุน

ผมคิดว่าการที่จะให้เอสเอ็มอีช่วยตัวเองท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้าเพียงลำพังคงเป็นไปได้ยาก เพราะจากข่าวสารต่างๆ ที่ออกมามีจำนวนไม่น้อยที่ต้อง “ปิดกิจการ” ลงไปตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมามากกว่า 2,000 แห่งแล้ว ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนอย่างจริงจังด้วย ควรจะมีอะไรที่มี Reaction มากกว่าเรื่องการทำ Up skill และ Re skill เพราะวันนี้ยอดขายเอสเอ็มอีก็ไม่เท่าเดิม

“ภาครัฐต้องช่วยเอสเอ็มอีลดต้นทุน” มีอะไรที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเรื่องภาษี ค่าธรรมเนียม ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ช่วยเขาแบบว่าไม่ต้องให้เขาซื้อทรัพย์สิน แต่ใช้วิธีเช่าแทน อย่างน้อยก็ลดการกู้หนี้ยืมสิน ช่วยเอสเอ็มอีในระหว่างเขารอออเดอร์ใหม่ได้ เพราะทุกวันนี้เขามีปัญหาไปรับออเดอร์ไม่ได้ เพราะไม่มีเงินไปซื้อวัตถุดิบ ไม่มีเงินไปจ้างคนเพิ่ม อันนี้คือสิ่งที่ต้องหาสถาบันการเงินมาเพิ่มเรื่องลิสซิ่งสำหรับรายย่อย”

ภาครัฐเองอาจจะตั้ง “กองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี” เพื่อพยุงภาคการผลิตของไทย ช่วยขยายตลาด การเพิ่มศักยภาพในการผลิต และมีวงเงินสำหรับฟื้นฟูเอสเอ็มอี ให้เขากลับมาต่อสู้ และทำให้เศรษฐกิจรากฐานมีความมั่นคง

อีกหนึ่งเรื่องที่อยากจะขอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเอสเอ็มอีก็คือ “มาตรการส่งเสริมด้านระบบบัญชี” เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้เอสเอ็มอีที่ขาดความเชี่ยวชาญด้านนี้ปรับตัวได้เร็วขึ้น ไม่ว่าการเข้าใจ และเข้าถึงเรื่องการใช้จ่ายทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน การสั่งซื้อสินค้า การสต๊อกสินค้า เรื่องของการที่จะเก็บเงินลูกหนี้ให้เร็วขึ้น การจ่ายหนี้ให้ช้าลง เป็นต้น

ระบบบัญชีต้องให้เอสเอ็มอีใช้ฟรี ให้ความรู้และฝึกอบรม สามารถเข้าถึงง่ายเพราะมันจะทำให้เขารู้ว่าต้นทุนเท่าไหร่ เขาจะปรับตัวยังไง วันนี้ระบบบัญชีเอสเอ็มอีต้องลงทุนเอง ภาครัฐน่าจะจัดทำระบบที่ไม่ใหญ่มาก ร่วมกับภาคเอกชน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ก็ได้ เพื่อให้เอสเอ็มอีใช้ฟรี เข้าถึงง่าย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เอสเอ็มอี มีระบบบัญชีที่ดี สามารถวิเคราะห์และแก้ปัญหาตัวเองได้ โดยรัฐกระตุ้นให้ยกเว้นภาษี 3 ปีให้เอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการ

ท้ายที่สุดวันนี้ภาครัฐจะต้องมาดูเรื่อง “อัตราส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก” หรือ Spread ที่สูงมากระดับ 7% ขณะที่หลายๆ ประเทศ เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย อยู่แค่ระดับ 4% เท่านั้น ซึ่งเอื้อต่อการทำธุรกิจมาก ด้วย “ต้นทุนทางการเงิน” ที่แข่งขันได้

ตอนนี้เศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วงและน่ากลัวมากเพราะมันอยู่ในช่วง “ขาลง” ที่ผ่านมาจากประสบการณ์ของผม การทำธุรกิจต้องผลักดันให้อยู่แบบ S-Curve ตลอด มีช่วงขาขึ้นและช่วงขาลงสลับกันไปมา แต่สุดท้ายต้องขยับกลับขึ้นมา แต่ทุกวันนี้มันปักหัวลงอย่างเดียว ดังนั้นเอสเอ็มอีต้องหาจังหวะธุรกิจของตัวเองให้ดี เพื่อรอจังหวะปรับตัวเองให้กลับมาสู่ภาวะปกติ และปรับขึ้นในวันข้างหน้า เพื่อให้ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจช่วงนี้ไปให้ได้

สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานกิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image