คลัง พร้อมฟังข้อกังวล แจก ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ดันหนี้สาธารณะเพิ่ม ยันโครงการไม่เอื้อนายทุน

‘จุลพันธ์’ พร้อมเปิดรับฟังความเห็น ข้อกังวลแจกเงินดิจิทัล ดันหนี้สาธารณะขึ้น ยันโครงการไม่ได้เอื้อนายทุน มีร้านในชนบทให้เลือกใช้จ่าย

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่กระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งรายงานเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) แนะรัฐบาลทำโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้รับความเห็น-ข้อสังเกตของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ว่ายังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ได้เข้าร่วมการประชุม ครม.

นายจุลพันธ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเราได้รับฟังความเห็นของหน่วยงานทุกครั้ง ไม่ว่าความเห็นจะเข้ามาที่คณะกรรมการ หรือเข้ามาที่ ครม.เพื่อพิจารณาดูว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ส่วนการปรับเปลี่ยนรายละเอียด ข้อจำกัดที่ผ่านมา เราก็ได้รับเข้ามาทำและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมเพื่อให้สอดคล้องกับข้อสังเกต

นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า ส่วนความเห็นของสภาพัฒน์ที่มองว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นในการกระตุ้นการบริโภคนั้น มองว่าอาจเป็นมุมมองที่แตกต่าง เรามองว่ากลไกดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่มิติเดียวที่เราทำ มีทั้งกลไกการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นอนาคต การพัฒนาฝีมือแรงงาน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และเป็นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจระยะยาวด้วย

Advertisement

ด้านข้อกังวลว่าจะเป็นภาระทางการคลังในระยะยาวนั้น นายจุลพันธ์กล่าวว่า การดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังมาโดยตลอด เรารับทราบและจะบริหารจัดการอย่างระมัดระวัง ซึ่งปัจจุบันหนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ 11.5 ล้านล้านบาท

“ถ้ามีการกู้ขาดดุลเพิ่มเติมสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอีก 5 แสนล้านบาท ก็จะเป็นการเติมหนี้เข้าไป ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าจะเข้าไปอยู่ในหนี้สาธารณะ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหนี้สาธารณะเพิ่มจาก 5 ล้านล้านบาท เป็น 10 ล้านล้านบาท แต่เราไม่มีกลไกในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเลย” นายจุลพันธ์กล่าว

Advertisement

นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า กรณีมีข้อกังวลว่าการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นการเอื้อกลุ่มทุนนั้น ยืนยันว่าเรามีกลไกหลายอย่าง เช่น การบังคับให้ใช้จ่าย 2 รอบ คือให้ประชาชนใช้จ่ายผ่านร้านค้าขนาดเล็ก และร้านค้าขนาดเล็กจะต้องไปใช้จ่ายกับร้านที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต), ภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นต้น

สำหรับการเปิดให้ประชาชนสามารถซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อได้เป็นร้านแรกนั้น นายจุลพันธ์ยืนยันว่า เซเว่น บิ๊กซีมินิ ประชาชนยังสามารถซื้อได้อยู่ และร้านสะดวกซื้อไม่ได้มีเท่านั้น ปัจจุบันมีร้านสะดวกซื้อที่อยู่ในชนบทจำนวนมาก หากจะตัดสิทธิทั้งหมดก็ต้องมาพิจารณา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image