สทนช. ตั้งศูนย์ฯน้ำส่วนหน้า สุโขทัย บูรณาการหน่วยงานรับมือน้ำหลากลุ่มน้ำยม-น่าน
สทนช. ลงพื้นที่ จ.สุโขทัย จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคเหนือ บูรณาการหน่วยงานผนึกกำลังเตรียมรับมือน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน บริหารจัดการน้ำอย่างเป็นเอกภาพและสอดคล้องสถานการณ์ พร้อมจัดรถโมบายเคลื่อนที่ให้บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำแบบเรียลไทม์ เร่งสร้างเครือข่ายภาคประชาชน หวังการแจ้งเตือนภัยสู่ระดับชุมชนอย่างทั่วถึง
วันที่ 10 สิงหาคม ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำยม-น่าน และประชุมคณะทำงานอำนวยการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำยม-น่าน ครั้งที่ 1/2567 โดยมี ผู้แทนจากจังหวัดสุโขทัย จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิจิตร จังหวัดลำปาง จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดพะเยา จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดนครสวรรค์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกรมประชาสัมพันธ์ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมศรีนคร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
หลังจากนั้น ลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อมการรับมือในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในเขตอำเภอเมืองสุโขทัยตามจุดต่างๆ บริเวณสะพานพระร่วง ถนนจรดวิถีถ่อง ตำบลปากแคว, บริเวณสะพานพระแม่ย่า หน้าวัดศรีเสวตวนาราม ตำบลธานี, ระบบระบายน้ำแม่น้ำยมในบริเวณอำเภอเมืองสุโขทัย ได้แก่ ปตร.คลอง DR ทะเลหลวง (แก้มลิง) บริเวณตำบลบ้านกล้วย และโครงการท่อระบายน้ำคลองบางคลอง บริเวณตำบลปากแคว รวมทั้งแนวคันกั้นน้ำ บริเวณหมู่ 1 ตำบลปากแคว ตามลำดับ
เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางและมีร่องมรสุมกำลังปานกลาง ทำให้เกิดหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ประกอบกับปัจจุบันมีระดับน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ของลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน จึงได้สั่งการให้ สทนช. ลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัย เพื่อจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำยม-น่าน ตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ในมาตรการที่ 6 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย เพื่อติดตามสถานการณ์และบูรณาการหน่วยงานในระดับพื้นที่ ในการเชื่อมโยงข้อมูล วิเคราะห์คาดการณ์พื้นที่เสี่ยง
พร้อมระดมสรรพกำลังเข้าประจำจุดเพื่อป้องกันและแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ สทนช. ยังได้นำรถโมบายหรือหน่วยติดตามสถานการณ์น้ำเคลื่อนที่ของ สทนช. ที่สามารถติดตามรายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำได้แบบเรียลไทม์ไปประจำการ ณ บริเวณสะพานพระร่วง ถนนจรดวิถีถ่อง ตำบลธานี และบริเวณหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย เพื่อให้บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำ การคาดการณ์ปริมาณฝนและระดับน้ำ ให้กับหน่วยงานปฏิบัติและประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง นอกจากการประชุมคณะทำงานฯ แล้ว ได้มีการลงพื้นที่จุดต่าง ๆ ในช่วงบ่ายก็เพื่อรับฟังข้อมูลและสภาพปัญหาในพื้นที่จริง รวมถึงข้อเสนอโครงการที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ เพื่อไปขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมต่อไป
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม เนื่องจากมีปริมาณฝนตกหนักด้านบนจากจังหวัดแพร่ ไหลลงสู่จังหวัดสุโขทัย ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำยมเพิ่มสูงขึ้น บริเวณสถานี Y4 อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ต่ำกว่าตลิ่ง 1.51 เมตร โดยมีจุดเสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง 3 จุดที่เฝ้าระวังคือ ตำบลยางซ้าย ตำบลปากแคว อำเภอเมืองสุโขทัย และบริเวณสะพานสิริปัญญารัต ตำบลวังใหญ่ อำเภอศรีสำโรง ทั้งนี้ สทนช. ได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อำเภอศรีสำโรงและอำเภอเมืองสุโขทัย ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา
โดยปริมาณน้ำที่ไหลผ่านอำเภอเมืองสุโขทัยในวันนี้ (10 ส.ค.67) อยู่ที่ 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุมไม่เกิน 460 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2567 ภาพรวมระดับน้ำท่าในลุ่มน้ำน่าน ระดับน้ำยังคงต่ำกว่าตลิ่งและมีแนวโน้มลดลงทุกสถานี โดยที่สถานี N.64 แม่น้ำน่าน บ้านผาขวาง อำเภอเมือง ต่ำกว่าตลิ่ง 6.90 ม. มีแนวโน้มลดลง สถานี N.1 แม่น้ำน่าน บริเวณสะพานพัฒนาภาคเหนือ อำเภอเมือง ต่ำกว่าตลิ่ง 4.50 ม. มีแนวโน้มลดลง สถานี N.13A แม่น้ำน่าน บ้านบุญนาค อำเภอเวียงสา ต่ำกว่าตลิ่ง 3.44 ม. และสถานี N.75 ลำน้ำว้า บริเวณสะพานท่าลี่ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ต่ำกว่าตลิ่ง 7.00 ม. ในห้วงระยะนี้สถานการณ์น้ำในแม่น้ำน่านถือว่าสถานะอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยถึงปกติ และสามารถรองรับน้ำหลากที่จะมาถึงในช่วงเดือน ก.ย. – ต.ค. นี้ได้ นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำห้วยแฮต จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเกินความจุ อยู่ที่ 5.06 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 101%
“สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการการดำเนินงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 อย่างเคร่งครัด เพื่อรองรับสถานการณ์ในฤดูฝนปีนี้ โดยเฉพาะมาตรการที่ 6 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ และมาตรการที่ 8 สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์ ซึ่งการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าชั่วคราวฯ เป็นการทำงานในเชิงป้องกันล่วงหน้าเพื่อให้หน่วยงานปฏิบัติในพื้นที่ได้เตรียมความพร้อมรับมือและบริหารจัดการมวลน้ำอย่างเป็นเอกภาพและสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน สามารถแก้ไขสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มและอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยม-น่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับมาสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว
อีกทั้งการนำรถโมบาย สทนช. ไปประจำการเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชน จะเป็นการสร้างองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยด้านน้ำต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงคนในชุมชนได้อย่างทั่วถึง และช่วยลดความวิตกกังวลใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนกักเก็บน้ำไว้สำรองใช้ในช่วงฤดูแล้งที่จะถึง เนื่องจากในช่วงปลายปีแนวโน้มสภาวะลานีญาจะลดลง อาจทำให้ปริมาณฝนไม่มากอย่างที่คาดการณ์ไว้ จึงต้องเร่งเตรียมการเพื่อมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้งด้วย ทั้งนี้ สทนช. จะติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรายงานให้รัฐบาลได้รับทราบอย่างต่อเนื่องต่อไป”