ผู้เขียน | ทีมข่าวเศรษฐกิจ |
---|
ท่ามกลางความร้อนแรงของ “การเมืองเดือนสิงหา” มีกูรูด้านเศรษฐกิจหลายสำนัก นักวิชาการ รวมถึงนักธุรกิจแสดงความกังวลจะเกิดเอฟเฟ็กต์ต่อบรรยากาศ “เศรษฐกิจไทย” ในครึ่งหลังของปี 2567 ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะผลการตัดสินคดีใหญ่ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 สิงหาคม 2567
⦁นักวิชาการมองกระทบ‘จิตวิทยา’
สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง มองว่า หากนายกฯ เป็นคนเดิมไม่มีผลกระทบ หากมีการเปลี่ยนตัวจะกระทบเศรษฐกิจด้านจิตวิทยา อาทิ ตลาดหุ้นที่จะรู้สึกว่าเกิดความไม่แน่นอนขึ้นอีกแล้วการเมืองไทย แต่ผลกระทบอย่างนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลที่ทำร่วมกันจะมีน้อย เพราะนโยบายของนายกฯ เป็นนโยบายของพรรคในภาพรวมทั้งการเดินทางพบปะนักธุรกิจต่างชาติน่าจะมีความต่อเนื่องส่วนนโยบายที่เป็นประโยชน์ อาทิ ซอฟต์พาวเวอร์ ดึงคนเก่งเข้ามาทำงานในไทยผ่านมาตรการด้านภาษี คงไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเป็นนโยบายของพรรคร่วมอยู่แล้ว ที่สำคัญโครงการแลนด์บริดจ์ จะไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน
ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้าง แต่ส่งผลต่อตลาดหุ้นชั่วคราว รวมถึงนักลงทุนต่างประเทศและในประเทศ อาจหยุดรอดูบทสรุปนายกฯของไทยจะเป็นใคร ทำให้ความเชื่อมั่นที่ถูกสั่นคลอนระหว่างทางที่ยังไม่เห็นความชัดเจน ภาคการลงทุนโดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยอาจกระทบระยะสั้นบ้าง แต่ขณะนี้เริ่มเห็นการเข้าซื้อสะสมใหม่ สะท้อนผ่านดัชนีที่ปรับขึ้นและลงบ้าง เป็นเรื่องจิตวิทยา หากสุดท้ายมีความชัดเจนหรือไม่มีการเปลี่ยนแปลง ตลาดหุ้นจะตีกลับเร็วขึ้น แต่หากความไม่แน่นอนลากยาวออกไป ตลาดหุ้นจะตีกลับช้าลง เพราะมีช่วงชะลอการลงทุนอยู่บ้าง คาดแนวโน้มสิ้นปี 2567 ตลาดหุ้นจะตีกลับเชิงบวก เพราะเศรษฐกิจไทยจะได้อานิสงส์จากการใช้งบประมาณและการท่องเที่ยวที่เติบโตดี ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.4% หากมีดิจิทัลวอลเล็ตเข้ามาจะดันจีดีพีโต 3.4-3.5%
⦁นโยบายไม่นิ่ง‘นักลงทุน’เผ่นหนี
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า นักลงทุนมีความกังวล ห่วงเสถียรภาพทางการเมืองไทยมากพอสมควรว่าจะไปต่ออย่างไร โดยเฉพาะนโยบายที่ประกาศไว้ เช่น เงินดิจิทัล 10,000 บาท ความร่วมมือด้านการลงทุนที่เคยเดินสายไปยังประเทศต่างๆ ถ้านายกฯไม่อยู่แล้ว จะผลักดันต่อหรือไม่ ล้วนเป็นเหตุทำให้นักลงทุนไทยและต่างชาติ เกิดความกังวลต่อความเสี่ยงทางการเมืองที่ยังคาดเดาได้ยาก รวมถึงความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น ถ้าไม่มีเสน่ห์ด้านอื่นมาดึงดูดให้มาลงทุน กระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทยแผ่วลงแน่นอน
“สมัยก่อนปัญหาการเมืองอาจเป็นปัญหาเล็กๆ เพราะตลาดหุ้นยังดี ตอนนี้ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจด้อยลง ยังมีความเสี่ยงทางการเมืองเพิ่ม ทำให้มีความกังวลเกิดขึ้น หากปัจจุบันเศรษฐกิจไทยขยายตัวดี ถึงปัญหาการเมืองไทยจะมีมาก นักลงทุนก็ไม่แคร์ เพราะผลประกอบการยังดี จึงมองว่ายังน่าลงทุน แต่ภาพปัจจุบันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เศรษฐกิจไม่ดีขยายตัวต่ำ ขณะที่ประเทศอื่นมีทางเลือกให้มากกว่า นักลงทุนจึงเลือกไปลงทุนประเทศอื่นๆ” พิพัฒน์กล่าว
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 2567 “พิพัฒน์” มองว่าอย่างน้อยมีปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยว ที่เป็นเครื่องจักรสำคัญที่แบกทุกอย่างในขณะนี้ ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากเงินดิจิทัล คงต้องลุ้นจะใช้ทันปลายปี 2567 หรือไม่ โดยส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะทัน หากไม่ทันจะมีผลให้ภาวะเศรษฐกิจไทยแผ่วลงจากปัจจุบันอีก เพราะยังมีปัจจัยท้าทายและกดดันเพิ่ม ทั้งปัจจัยภายในยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง หนี้ครัวเรือนสูงกว่า 90% ของจีดีพี สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ความสามารถการแข่งขันลดลง รวมถึงปัจจัยภายนอกด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวที่จะส่งผลต่อการส่งออกของไทย ยังต้องจับตาผลเลือกตั้งสหรัฐ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและนโยบายใหม่การค้าและการลงทุน อย่างไรก็ตาม เคเคพีคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัว 2.6%
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่าผลคดีการเมืองเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจระยะสั้น จากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น 1.งบประมาณปี 2568 ล่าช้า 1-2 เดือน หากเปลี่ยนตัวนายกฯและปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ 2.ลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อตลาดหุ้น ตลาดทุน แต่ต้องดูความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเลือกตั้งสหรัฐ อัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวสูงลากยาว ภาคการผลิตที่หดตัวต่อเนื่องด้วย
แต่ไม่ว่าผลออกมาอย่างไร รัฐบาลก็ต้องเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไป อย่ามองเฉพาะเงินดิจิทัลอย่างเดียว ต้องมีมาตรการระยะสั้นและระยะยาวออกมาด้วย ซึ่งคาดการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2567 จะโตต่ำกว่า 2% และทั้งปีโต 2.6% เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงสูงยิ่งเศรษฐกิจสหรัฐชะลอ จีนฟื้นช้า จะส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกและการแข่งขัน ทั้งนี้ ท่ามกลางความท้าทาย มีแนวโน้มดอกเบี้ยจะเป็นช่วงขาลง คาดว่าคณะกรรมการนโนบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคมนี้ 0.25% ไปสู่ระดับ 2.25% และสู่ระดับ 1.5% ในปี 2568 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
⦁เอฟเฟ็กต์‘การเมือง’ไม่เท่าดอกแพง
อิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ผลทางการเมืองในวันที่ 14 สิงหาคมนี้ ถ้าออกมาในทิศทางที่ดี ก็ไม่ส่งผลอะไร แต่ถ้าเปลี่ยนตัวนายกฯแต่มาจากพรรคเดิมก็ไม่มีผลต่อเศรษฐกิจเช่นกัน ขึ้นอยู่กับนโยบายหลักเปลี่ยนหรือไม่ ขณะเดียวกันถ้าตำแหน่งนายกฯมาจากพรรคที่ 3 อาจมีแรงกระเพื่อมจากการเมือง ส่งผลต่อนโยบายเศรษฐกิจได้ แต่กรณีนี้คงเป็นไปได้ยาก
ซึ่งจากความไม่แน่นอนทางการเมือง คงไม่มีผลทำให้เอกชนชะลอการลงทุน เนื่องจากการชะลอลงทุน เกิดจากกำลังซื้อโดยรวมไม่ดี และอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมาก หากได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว แต่การลงทุนอาจจะต้องใช้เวลาบ้าง ดังนั้นจึงมองว่าปัจจัยการเมืองยังเป็นความเสี่ยงรอง เมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงนโยบายการเงินที่น่าจะส่งผลกระทบมากกว่า
หากเงินดิจิทัลมาไม่ทันปลายปี 2567 ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยแผ่วลงจากปัจจุบันอย่างแน่นอน เพราะถึงแม้จะมีงบประมาณมาเป็นปัจจัยสนับสนุน แต่ปัญหาเก่ายังคงอยู่ ยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าหนี้ครัวเรือนและดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งดอกเบี้ยถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อภาคธุรกิจ ผู้มีภาระหนี้ และเป็นนโยบายที่สามารถดำเนินการได้เร็ว ดังนั้นนโยบายการเงิน จึงเป็นปัจจัยสำคัญมากกว่าความเสี่ยงทางการเมือง แม้ว่าความไม่แน่นอนทางการเมือง จะทำให้เกิดความกังวลและความไม่เชื่อมั่นก็ตาม แต่เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น